โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (ตอนที่ 2)

โรคติดเชื้ออุบัติใหม่

ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า โรคที่มีการพยากรณ์ว่าจะเกิดมากจะต้องกำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งดำเนินการ ป้องกันโดยจะต้องส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่เพื่อจะได้จัดเตรียมยา อุปกรณ์ และต้องสื่อสารถึงประชาชนให้รับทราบและให้ป้องกันโรคด้วยตัวเอง โดยจะต้องป้องกันโรคล่วงหน้า ซึ่งวิธีการสำคัญที่ใช้ในการป้องกันคือ การให้วัคซีน โดยจะนำวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ มาใช้ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ นพ.โอภาส ยังกล่าวอีกว่า จะต้องมีการปรับการใช้มาตรการทางกฎหมาย รวมทั้งต้องสื่อสารให้ประชาชนรับทราบเป็นระยะๆ ถึงโรคที่กำลังระบาดเพื่อให้ระมัดระวังและป้องกันด้วยตัวเอง และต้องเฝ้าระวังและตรวจจับเหตุการณ์ผิดปกติ เพิ่มการเฝ้าระวังให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นและต้องเฝ้าระวังการนำโรคเข้ามาจากต่างประเทศในช่องทางต่างๆ และต้องพัฒนาช่องทางเข้าออกประเทศให้สามารถตรวจจับโรคต่างๆ เพราะเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) จะทำให้มีการเข้าออกประเทศของแรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งต้องจัดการเรื่องการระบาดเฉพาะกลุ่ม เช่น เด็กเล็ก เป็นต้น และเมื่อระบาดแล้วก็ต้องตอบสนองมีการจัดการที่ดีต้องพัฒนาทีมสอบสวนควบคุมโรคสหวิชาชีพเคลื่อนที่เร็วให้ดีขึ้น นอกจากนี้ในส่วนของนักระบาดวิทยา ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังโรคนั้น ในประเทศไทยปัจจุบันมี 1 ต่อ 300,000 คน จากปกติต้องมีประมาณ 1 ต่อ 100,000 คน ทำให้ถือว่ามีความขาดแคลน

“โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ / โรคติดต่ออุบัติใหม่” (Emerging infectious disease = EID) เป็นโรคที่เกิดเป็นครั้งแรกหรืออาจจะเคยเกิดในอดีตแต่มีอุบัติการณ์ที่เพิ่มสูงอย่างรวดเร็วตามภูมิภาคต่างๆ เป็นโรคติดเชื้อที่มีอุบัติการณ์เพิ่มสูงในระหว่าง 35 ปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีกในอนาคต โรคติดเชื้ออุบัติใหม่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดโรคในมนุษย์ได้อย่างต่ำร้อยละ 12 ของจุลชีพก่อโรคทั้งหมด

The National Center for Biotechnology Information (NCBI) ของสหรัฐอเมริกาได้ให้คำจำกัดถึงโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ว่ามีลักษณะเด่นที่สำคัญ ได้แก่ 1) ไม่เคยเกิดในมนุษย์มาก่อน 2) เคยมีการเกิดแล้วแต่มีผลกระทบต่อกลุ่มคนจำนวนน้อยในภูมิภาคที่ห่างไกล 3) เคยเกิดในมนุษย์แต่เพิ่งจะเป็นที่รับรู้กันว่าเกิดจากเชื้อโรค (Pathogen / Infectious agent) เช่น เชื้อไวรัส (Viruses) เชื้อริกเกตเซีย (Rickettsias) เชื้อแบคทีเรีย (Bacterias) เชื้อโปรโตซัว (Protozoas) เชื้อรา (Fungi) ฯลฯ

ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ได้แก่ โรคเอดส์ (AIDS) โรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์ (Legionnaire disease) โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา (Hantavirus pulmonary syndrome = HPS)

โดยการเกิดโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ยังมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น โรคไลม์ (Lyme disease) โรคติดเชื้อไวรัสฮันตา และโรคไข้เลือดออกลาสสา (Lassa fever) ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มไปยุ่งกับสัตว์หรือแมลงที่เป็นพาหะของโรค (Insect vector)

หรือโรคปอดอักเสบลีเจียนแนร์ และกลุ่มอาการเม็ดเลือดแดงแตกอาการฮีโมไลติกยูรีมิก (Hemolytic uremic syndrome) ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี่ อย่างการมีระบบเครื่องปรับอากาศ และระบบการผลิตอาหารแบบปริมาณมาก (Mass food production) ตามลำดับ

แหล่งข้อมูล

  1. จับตาโรคติดต่อ - อุบัติใหม่ 5 โรค ปี 2558 - http://www.thaihealth.or.th/Content/26936-จับตาโรคติดต่อ - อุบัติใหม่ 5 โรค ปี 2558.html [2015, March 2].
  2. Emerging infectious disease. http://en.wikipedia.org/wiki/Emerging_infectious_disease [2015, March 2].
  3. Understanding Emerging and Re-emerging Infectious Diseases. http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK20370/ [2015, March 2].