โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน อลวนสองฝั่งโขง (ตอนที่ 3 และตอนสุดท้าย)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวานซืน การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณและวิทยากรจากมูลนิธิคีนัน (Kenan) แห่งเอเชีย และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (USAID) ตลอดจนนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศไทย

เดิมคำนิยามของคำว่า Zoonosis หมายถึงโรคติดต่อจากสัตว์เลี้ยงมาสู่คนเท่านั้น แต่ต่อมาภายหลังผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ให้คำจำกัดความใหม่ ว่าหมายถึงโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ทั้งสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า การติดต่ออาจติดต่อจากสัตว์มายังคน หรือจากคนไปยังสัตว์ก็ได้ แต่การติดต่อนั้นต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ

การติดเชื้อโรคจากสัตว์มาสู่คนนั้นเกิดขึ้นได้หลายทาง โดยการสัมผัสกับสัตว์ป่วย อาทิ โรคฉี่หนู (Leptospirosis) ที่เกิดจากเชื้อ Leptospira เชื้อนี้จะไชเข้าสู่ร่างกายคนจากบาดแผลทางผิวหนังได้ หรือโดยการกิน อาทิ กินเนื้อสัตว์ที่เป็นโรค หรือดื่มนมจากแม่วัวที่ป่วยเป็นวัณโรค เป็นต้น

นอกจากนี้โรคยังอาจติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรค อาทิ โรคติดเชื้อร้ายแรงในวัวควาย (Anthrax) ติดต่อโดยการถูกแมลงที่เป็นพาหะของโรคกัด อาทิ ยุงที่นำเชื้อสมองอักเสบ (Japanese encephalitis) หมัดหนูที่นำเชื้อกาฬโรคไปสู่คน หรือติดต่อโดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด อาทิ โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ซึ่งเชื้อจะอยู่ในน้ำลายของสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า และเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัดนั้น

การจำแนกกลุ่มของโรคทำได้หลายแบบ อาทิ การจำแนกตามแบบแผนของวงจรชีวิตของเชื้อโรค จำแนกตามธรรมชาติของพาหะที่ให้อาศัย (Host) และเป็นที่พักหรือรังโรค (Reservoir ) หรือจำแนกตามชนิดของเชื้อที่ทำให้เกิดโรค อันได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และพยาธิ

ส่วนโรคที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ โรคแอนแทรกซ์ วัณโรค (Tuberculosis) โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) โรคบาดทะยัก (Tetanus) โรคฉี่หนู และ โรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas)

การควบคุมโรค ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยหรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่วย กำจัดหรือทำลายซากสัตว์ป่วย อาทิ การฝังดินลึกๆ หรือเผาทำลาย ควบคุมกำจัดพาหะของโรค ฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เพื่อป้องกันการระบาดของโรค และฉีดวัคซีนให้กับคนที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคสูง

นอกจากนี้ยังต้องทำลายเชื้อที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ อาทิ นมที่ดื่มต้องผ่านการฆ่าเชื้อ (Pasteurization) หรือถ้าเป็นเนื้อสัตว์ เครื่องใน ก็ควรทำให้สุขก่อน เมื่อมีการระบาดของโรคต้องรีบรายงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน จะเกิดขึ้นตราบใดที่คนยังมีการคลุกคลีกับสัตว์เลี้ยง อาทิ แมว หมา ปลา นก และสัตว์ทดลองต่างๆ หรือพวกสัตว์เศรษฐกิจ อาทิ วัว ควาย ม้า หมู เป็ด ไก่ โอกาสติดต่อจนเกิดเป็นโรคระบาด จะมีอยู่ตลอดเวลา และโรคบางชนิดจะแพร่กระจายในหมู่สัตว์ด้วยกัน

แต่เชื้อบางชนิดก็แพร่กระจายมาสู่คนได้ไม่ว่าจะเป็นทางผิวหนัง บาดแผล การกินอาหาร และการหายใจ โรคต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นปัญหาต่อวงการสาธารณสุข โดยเฉพาะโรคแอนแทรกซ์ และโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) ซึ่งจัดอยู่ใน 19 โรคติดต่อทางสาธารณสุข ส่วนในสัตว์ก็จัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อในพระราชบัญญัติสัตว์ด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ร่วมหาแนวทางป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000014926 [2012, February 5].
  2. สัตวแพทย์หญิงทัศนีย์ ไหลมา - เอกสารประกอบการสอน กระบวนวิชา Clin. Microb. 401 หน่วยสัตว์ทดลอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ [2012, February 5].