โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน อลวนสองฝั่งโขง (ตอนที่ 2)

อนุสนธิข่าวจากเมื่อวานนี้ ดร. บงสุวัน พันทะวงสา รองหัวหน้าแผนกการสาธารณสุข กล่าวว่า ในการควบคุม เฝ้าระวังโรคติดต่อชายแดนที่ผ่านมา แขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว จังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทย และจังหวัดกวางตรี ประเทศเวียดนาม ได้มีการประสานความร่วมมือในการสอบสวนโรคระหว่างกันมาตลอด

เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี พ.ศ.2558 โรคติดต่อชายแดน หรือโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ก็อาจจะแพร่กระจายมากขึ้น ดังนั้น แขวงสะหวันนะเขต พร้อมที่จะพัฒนาบุคลากรและให้ความร่วมมือ ในการสกัดกั้นโรคติดต่อดังกล่าว

ในปัจจุบัน โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) เป็นที่สนใจกันทั่ว เพราะก่อนหน้านี้โรคเหล่านี้มักไม่เป็นที่รับรู้กันว่าสามารถเพิ่มการก่อให้เกิดโรครุนแรง (Virulence) ในกลุ่มคนที่ปราศจากภูมิคุ้มกัน (Immunity) อาทิ เชื้อไวรัสเว็สไนล์ (West Nile) ปรากฏขึ้นในนครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ใน ปี พ.ศ. 2542 แล้วระบาดไปทั่วประเทศในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2545 เป็นสาเหตุของความทุกข์ทรมานในประชากรจำนวนมาก

จุลชีพก่อโรค (Pathogen) ที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน มักเป็นสาเหตุของโรคที่เกี่ยวข้องกับอาหารการกิน (Foodborne) อาทิ เชื้ออีโคไล (Escherichia coli) และเชื้อซาลโมเน็ลลา (Salmonella) ตัวอย่างอื่นของโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ กาฬโรคที่มีอาการต่อมน้ำเหลืองบวมและอักเสบ (Bubonic plague) ไข้ภูเขาร็อกกี้ (Rocky Mountain) และ โรคไลม์ (Lyme)

ปัจจัยสำคัญของการเกิดจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนในปริมาณมาก คือการเพิ่มขึ้นของการสัมผัสระหว่างคนกับสัตว์ป่า โดยมีสาเหตุจากกิจกรรมของคนบุกรุกเข้าไปในป่า หรือโดยการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าเข้าไปในกิจกรรมของการสร้างความไม่สมดุลตามหลักมานุษยวิทยาหรือสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือการระบาดของไวรัส Nipah ในคาบสมุทรมาเลเชีย ในปี พ.ศ. 2542 เมื่อฟาร์มหมูบุกรุกเข้าไปในป่าอันเป็นที่อยู่ตามธรรมชาติของค้างคาว ที่ติดเชื้อไวรัส ครั้งแล้วครั้งเล่า จนเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในฝูงหมู ซึ่งเป็นพาหะที่ขยายผล (Amplifier host) และในที่สุดสามารถแพร่ไวรัสนี้ไปยังชาวนา และยังผลให้มีคนตาย 105 คน

ในทำนองเดียวกัน ไข้หวัดนก (Avian influenza) และเชื้อไวรัสเว็สไนล์ ก็ได้ลุกลามเข้าไปในกลุ่มประชากรซึ่งอาจมีสาเหตุจากปฏิกิริยาตอบสนองระหว่างพาหะที่ให้อาศัย (Carrier host) กับสัตว์เลี้ยงในบ้าน สัตว์ที่เคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว อาทิ ค้างคาวและนก อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้มากกว่าสัตว์ชนิดอื่นเนื่องจากการเคลื่อนย้ายของสัตว์ไปยังที่อยู่อาศัยของคนย่อมทำได้ง่ายกว่า

โรคที่มิได้ติดต่อจากสัตว์สู่คน ได้แก่ โรคมาเลเรีย พยาธิชนิดหนึ่งในร่างกายที่ชื่อ Schistosomiasis เชื้อตาบอดชนิดที่เรียกว่า River blindness และโรคเท้าช้าง (Elephantiasis) แม้ว่าโรคดังกล่าวอาจส่งผ่านโดยแมลง หรือพาหะนำโรค (Vector) เนื่องจากเชื้อเหล่านี้ต้องอาศัยพาหะที่เป็นคน สำหรับการสร้างส่วนหนึ่งของวงจรชีวิต (Life-cycle)

ในปี พ.ศ. 2549 มีการประชุมในเมือง Berlin ประเทศเยอรมนี มุ่งเน้นประเด็นของผลกระทบของจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ต่อความปลอดภัยในอาหาร (Food safety) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศเข้าแทรกแซงปัญหาดังกล่าว และเรียกร้องให้สาธารณชนเฝ้าระวังการติดเชื้อ โดยศึกษาความเสี่ยงของเส้นทางเดินอาหาร “จากฟาร์มสู่โต๊ะอาหาร”

แหล่งข้อมูล:

  1. มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ร่วมหาแนวทางป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000014926 [2012, February 4].
  2. Zoonosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Zoonosis [2012, February 4].