โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน อลวนสองฝั่งโขง (ตอนที่ 1)

เมื่อเร็วๆนี้ นายอภิรักษ์ สำราญวงค์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร นำบุคลากรด้านสาธารณสุขและพยาบาล เข้าร่วมประชุมอบรม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานระหว่างกันกับเจ้าหน้าที่แผนกการสาธารณสุขแขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาชนลาว

การประชุมระหว่างสองประเทศริมฝั่งแม่น้ำโขง มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่สำคัญๆ อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคพิษสุนัขบ้า และโรคฉี่หนู เตรียมความพร้อมในการสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนทั้งสองฝั่งได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง

โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) เป็นโรคติดเชื้อที่สามารถส่งผ่าน (Transmit) จากสัตว์ถึงคน ในบางกรณีผ่านพาหะนำโรค (Vector) หรือติดต่อจากคนถึงสัตว์ ซึ่งในกรณีหลังเรียกว่า Reverse zoonosis หรือ Anthroponosis

ในการศึกษาจุลชีพก่อโรค (Pathogen) จำนวน 1,415 ชนิดเท่าที่มีทราบกันว่ามีผลกระทบต่อคน พบว่า 61% เป็นเชื้อที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน การเกิดใหม่ของจุลชีพก่อโรคที่ฝังตัวในสายพันธุ์ที่ให้อาศัย (Host species) เรียกว่าเป็นการบุกรุกของเชื้อโรค (Disease invasion)

การเกิดใหม่ของสหวิชาชีพ (Interdisciplinary field) ของการแพทย์อนุรักษ์ (Conservation medicine) ซึ่งบูรณาการ มนุษยแพทย์ (Human medicine) และสัตวแพทย์ (Veterinary medicine) เข้ากับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environmental sciences) นั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเรื่องของการติดต่อจากสัตว์สู่คน

ประวัติศาสตร์ของการวิวัฒนาการโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนนั้น เริ่มต้นด้วยคนในสมัยโบราณรวมตัวกันเป็นกลุ่มในการล่าสัตว์ กลุ่มนี้มักมีจำนวนไม่เกิน 150 คน และมักไม่ติดต่อกับคนกลุ่มอื่นๆ

โรคระะบาดระดับท้องถิ่น (Epidemic) หรือระดับภูมิภาค (Pandemic) ซึ่งต้องอาศัยกลุ่มคนที่ยังมิได้พัฒนาระบบสนองภูมิคุ้มกัน (Immune response) แต่มีการอพยพตลอดเวลา ในการก่อให้เกิดการแพร่กระจาย มักจะสลายไปเองหลังการติดเชื้อในกลุ่มแรก ดังนั้น วิวัฒนการของคนมักสัมพันธ์กับโรคติดต่อจากคนสู่สัตว์มากกว่าโรคระบาด

เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด จุลชีพก่อโรคต้องเป็นการติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic infection) มีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพาหะ (Host) เป็นเวลายาวนาน หรือมีแหล่งพัก หรือรังโรค (Reservoir) ที่มิใช่คน ระหว่างรอพาหะใหม่ที่จะผ่านมาให้อาศัย

อันที่จริง โรคหลายชนิดที่เกิดกับคนนั้น คนตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุและเป็นพาหนะสุดท้าย โดยเฉพาะในกรณีของ โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคติดต่อร้ายแรงในวัวควาย (Anthrax) โรคเชื้อแบคทีเรียในกระต่าย (Tularemia) โรคไวรัสเว็สไนล์ (West Nile) เป็นต้น

โรคหลายชนิดในปัจจุบัน รวมทั้งโรคระบาด มักเริ่มต้นจากโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน แม้จะไม่สามารถกล่าวด้วยความมั่นใจว่าเชื้อโรคสามารถกระโดดจากสัตว์หนึ่งไปยังอีกสัตว์หนึ่ง แต่ก็มีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่า โรคหัด (Measles) ไข้ทรพิษ (Smallpox) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เชื้อเอชไอวี (HIV = Human immunodeficiency) และโรคคอตีบ (Diphtheria) ก็ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน ส่วนไข้หวัดธรรมดา (Common cold) และวัณโรค (Tuberculosis) ก็อาจเริ่มต้นวิวัฒนามาจากสายพันธุ์สัตว์ เช่นกัน

แหล่งข้อมูล:

  1. มุกดาหาร-สะหวันนะเขต ร่วมหาแนวทางป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9550000014926 [2012, February 3].
  2. Zoonosis. http://en.wikipedia.org/wiki/Zoonosis [2012, February 3].