โรคดึงผมตนเอง (ตอนที่ 1)

โรคดึงผมตนเอง-1

พญ.กิติกานต์ ธนะอุดม ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวถึง พฤติกรรมการดึงผมตนเอง จนทำให้ผมบางหรือล้านเป็นหย่อมๆ ว่า

โรคดึงผมตนเอง หรือ Hair-pulling disorder มีอีกชื่อหนึ่งคือ Trichotillomania จัดเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางจิตเวชในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ โดยอาการหลักของผู้ป่วย คือ พฤติกรรมดึงผม หรือขนตามบริเวณต่างๆ เช่น คิ้ว ขนตาของตนเองเป็นประจำ

ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มผู้ป่วย เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่รู้ตัวขณะดึงผม เนื่องจากการดึงผมทำให้ผ่อนคลาย หรือทำให้ความเครียด ความกังวลลดลง และกลุ่มที่ดึงผมโดยไม่รู้ตัว ขณะกำลังทำกิจกรรมอื่น

พญ.กิติกานต์ อธิบายว่า การดึงผมตนเองทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพผมโดยตรง เช่น ผมหลุดร่วงเป็นหย่อมๆ อาจเกิดการขาดของเส้นผม ผมงอกใหม่แตกปลาย ไม่แข็งแรงบริเวณที่ผม หรือขนถูกดึง อาจพบอาการคันได้ แต่ไม่ควรมีอาการปวด และผลกระทบที่สำคัญ คือ ทำให้เสียบุคลิกภาพ และรบกวนการทำกิจวัตรประจำวันอื่น

ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยไปพบแพทย์ผิวหนังก่อนมาพบจิตแพทย์ เนื่องจากโรคนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก และผู้ป่วยมักพบแพทย์เมื่ออาการของโรคดำเนินมาเป็นระยะเวลานาน ส่วนใหญ่อาการของโรคเริ่มเกิดใน 2 ช่วงอายุ คือ วัยเด็ก และวัยรุ่น โดยอายุที่เริ่มเป็นโรคยิ่งน้อย ยิ่งสัมพันธ์กับการพยากรณ์โรคที่ดี

พญ.กิติกานต์ ชี้แจงถึงสาเหตุของโรคนี้ว่า ยังสรุปไม่ได้แน่ชัด แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่าโรคนี้สัมพันธ์กับความผิดปกติของการทำงานของสมองบางส่วน และสารสื่อประสาทไม่สมดุล นอกจากนี้ ยังพบว่าโรคดึงผมมีความสัมพันธ์กับโรควิตกกังวล โรคเครียด โรคที่มีพฤติกรรมการกินผิดปกติ เช่น อะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia nervosa) บูลิเมีย เนอร์โวซา (Bulimia nervosa) เป็นต้น

ส่วนการวินิจฉัยโรคดึงผม อาศัยการซักประวัติและตรวจร่างกายเป็นหลัก ในรายที่มีอาการแยกยากจากโรคผิวหนังอื่น อาจต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมโดยแพทย์ผิวหนังก่อน

พญ.กิติกานต์ กล่าวว่า การรักษาของโรคดึงผมให้ได้ผลดีที่สุด คือ การปรับพฤติกรรม ไม่ว่าจะเป็น Biofeedback การผ่อนคลาย หรือ การทำจิตบำบัดรูปแบบต่างๆ ร่วมกับ การรักษาด้วยยาที่เพิ่ม Serotonin เช่น ยากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitor (SSRI) อีกทั้งหากมีโรคร่วมอื่น เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ก็ควรรักษาร่วมกัน เพื่อให้หายจากโรคดึงผม และไม่กลับมารบกวนชีวิตประจำวันอีก

โรคดึงผมตนเอง (Trichotillomania / Hair-pulling disorder) เป็นปัญหาพฤติกรรมที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Impulse control disorder) นับเป็นโรคที่มีความผิดปกติทางจิตเวชที่เกิดขึ้นซ้ำๆ แม้ว่าจะตั้งใจไม่ทำแต่ก็ไม่อาจหยุดยั้งได้

การดึงเป็นได้ตั้งแต่เส้นผมบนศีรษะ ขนคิ้ว ขนตา หรือขนส่วนอื่นของร่างกาย เช่น ขนที่อวัยวะเพศ ที่รักแร้ ที่แขน ที่ขา ที่หน้าอก ที่หน้าท้อง หนวด หรือ เครา โดยเฉพาะการดึงผมจากศีรษะจนทำให้ศีรษะล้านเป็นหย่อมๆ อาจมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในที่ทำงานหรือสังคม

โรคดึงผมตนเองถือเป็นการจงใจทำร้ายตัวเอง (Self-harm) ชนิดหนึ่ง ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นทำให้สมองหลั่งสารที่ให้ความสุขที่เรียกว่า เอ็นโดฟิน (Endorphins)

แหล่งข้อมูล:

  1. “ไขข้อข้องใจโรคดึงผม”. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9600000069048 [2017, August 18].
  2. Trichotillomania (hair-pulling disorder). http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/trichotillomania/home/ovc-20268509 [2017, August 18].
  3. Trichotillomania. http://www.webmd.com/anxiety-panic/guide/trichotillomania#1 [2017, August 18].
  4. Trichotillomania. http://www.nhs.uk/conditions/trichotillomania/Pages/introduction.aspx [2017, August 18].