โรคจุดภาพชัดเสื่อม (ตอนที่ 2)

โรคจุดภาพชัดเสื่อม

นายแพทย์ไพศาล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากผู้สูงอายุจะเป็นโรคจุดภาพชัดเสื่อมนี้แล้ว ยังอาจเป็นต้อกระจก ต้อหิน ได้อีกด้วย ผู้ใกล้ชิดจึงควรรีบพาท่านมาตรวจกับจักษุแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคที่แน่นอนต่อไป

นายแพทย์ไพศาล กล่าวแนะนำว่า ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี นับเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคตาต่างๆ ได้ง่าย จึงควรรับการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยก็ไม่ควรละเลยการดูแลสุขภาพตาเช่นกัน โดยไม่ควรใช้สายตาอ่านหนังสือ อ่านจอคอมพิวเตอร์ หรือเพ่งหน้าโทรศัพท์มือถือ ติดต่อกันนานๆ ควรพักสายตาทุก 45-60 นาที แล้วจึงค่อยใช้สายตาต่อ

นอกจากนี้ การงดสูบบุหรี่ ลดอาหารที่มีไขมันสูง สวมแว่นกันแดดเมื่ออยู่กลางแจ้งเพื่อลดความจ้าของแสงและป้องกันรังสียูวี ก็ยังช่วยถนอมสายตาให้อยู่กับเราได้นานอีกด้วย

โรคจุดภาพชัดเสื่อม หรือ โรคจุดภาพชัดที่จอตาเสื่อม (Macular degeneration) เป็นสาเหตุสำคัญของการทำให้มองเห็นได้ไม่ชัดในคนที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของจุดกลางจอตา (Retina) ที่เรียกว่า จุดภาพชัด (Macula) เนื่องจากโรคนี้มักเกิดในคนสูงอายุจึงอาจเรียกว่า โรคจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age-related macular degeneration = AMD)

โรคจุดภาพชัดเสื่อม แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

  • ชนิดแห้ง (Dry form) เป็นชนิดที่พบได้มาก เป็นภาวะที่มีการสะสมของสารสีเหลืองที่เรียกว่า Drusen ในจุดภาพชัด หากมีปริมาณน้อยจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเห็น แต่ถ้ามีการสะสมมากขึ้นก็อาจจะทำให้การเห็นมัวลงหรือการเห็นผิดไป ซึ่งสังเกตุเห็นได้ขณะอ่านหนังสือ

ในระยะที่เป็นมาก จะมีเนื้อเยื่อตายที่จุดภาพชัด ทำให้เห็นจุดดับกลางภาพที่เห็น และสูญเสียการมองเห็นส่วนกลาง (Central vision) ทั้งนี้คนที่เป็นชนิดแห้งมีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นชนิดเปียกได้

โรคจุดภาพชัดเสื่อมชนิดแห้ง แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ซึ่งอาจเกิดกับตาข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง (กรณีเกิดกับตาข้างเดียวอาจไม่สังเกตุเห็น) ได้แก่

  • Early AMD – ระยะแรก จะมี Drusen ขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก หรือมี Drusen ขนาดกลางจำนวนเล็กน้อย ในระยะนี้ยังไม่ปรากฏอาการอะไร
  • Intermediate AMD – ระยะกลาง จะมี Drusen ขนาดกลางเป็นจำนวนมาก หรือมี Drusen ขนาดใหญ่ 1 จุดหรือมากกว่า บางคนจะเกิดอาการตาพร่ามัวในส่วนกลางของการมองเห็น ต้องการแสงสว่างมากในการอ่านหนังสือหรือทำงาน
  • Advanced dry AMD – ระยะเป็นมาก มีการเสียหายของเซลล์ที่จุดภาพชัด เป็นสาเหตุให้เกิดจุดมัวในส่วนกลางของการมองเห็น ยิ่งนานวันจุดนี้จะใหญ่ขึ้นและเข้มขึ้น ทำให้มีปัญหาในการอ่านหนังสือหรือจำหน้าคนได้ จนกว่าจะวัตถุหรือหน้าคนจะเคลื่อนเข้ามาอยู่ในระยะที่ใกล้มาก

แหล่งข้อมูล

1. จักษุแพทย์ฯ แนะลูกหลาน ชวนผู้สูงวัยตรวจโรคจุดภาพชัดเสื่อม. http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1444126823[2015, October 27].

2. Age-Related Macular Degeneration Overview. http://www.webmd.com/eye-health/macular-degeneration/age-related-macular-degeneration-overview[2015, October 27].

3. Age-related Macular Degeneration. http://nihseniorhealth.gov/agerelatedmaculardegeneration/agerelatedmaculardegenerationdefined/01.html[2015, October 27].

4. Macular degeneration facts. http://www.medicinenet.com/macular_degeneration/article.htm[2015, October 27].