โรคจิตเภท "สคิซโซฟรีเนีย" (ตอนที่ 7 และตอนจบ)

ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดรักษาทางจิตสังคมและกินยาไปด้วยมักจะมีอาการกำเริบที่น้อย นักบำบัด (Therapist) สามารถช่วยผู้ป่วยให้เข้าใจและปรับตัวให้อยู่กับสคิซโซฟรีเนียได้ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับความผิดปกติ อาการและปัญหาที่ผู้ป่วยเคยเป็น และความจำเป็นในการใช้ยา และหากผู้ป่วยรู้ถึงอาการเตือนของการเป็นและวางแผนที่จะควบคุมอาการ ผู้ป่วยก็จะสามารถป้องกันการกำเริบของโรคได้

เมื่อผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลกลับไปอยู่บ้าน ครอบครัวก็เป็นส่วนสำคัญในการช่วยรักษาโรคให้ผู้ป่วย ดังนั้นคนในครอบครัวจึงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโรคนี้ให้มากที่สุด เพื่อหาทางแก้ปัญหา และคอยดูแลให้ผู้ป่วยกินยาและไปพบแพทย์ตามกำหนด

การรักษาด้วยการบำบัดพฤติกรรมความคิด (Cognitive behavioral therapy = CBT) เป็นวิธีจิตบำบัดประเภทหนึ่งที่เน้นในเรื่องของการคิดและพฤติกรรม ช่วยในกรณีที่ผู้ป่วยใช้ยาไม่ค่อยได้ผล นักบำบัดจะสอนผู้ป่วยให้รู้จักวิธีทดสอบระหว่างความจริงและการรับรู้ การไม่สนใจฟังเสียงแว่ว และการดูแลอาการของตัวเอง การบำบัดประเภทนี้สามารถช่วยลดความรุนแรงของอาการและลดความเสี่ยงในการกำเริบของโรค

การรักษาแบบกลุ่มช่วยเหลือตนเอง (Self-help groups) เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในกลุ่มคนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียและครอบครัว เป็นการรักษาโดยไม่มีนักบำบัด แต่ให้สมาชิกในกลุ่มช่วยเหลือกันเอง คนที่อยู่ในกลุ่มจะรู้ถึงปัญหาเดียวกันซึ่งจะสามารถช่วยกันได้โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย โดยเครือข่ายของกลุ่มอาจจะเป็นกลุ่มครอบครัวของผู้ป่วย

ครอบครัวและเพื่อนฝูงสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกได้ ในแต่ละครั้งควรบอกถึงขั้นตอนการทำทีละขั้นๆ เพราะเมื่อผู้ป่วยโรคจิตมีความรู้สึกว่าถูกกดดันหรือถูกว่า เขาจะรู้สึกไม่ดีและบ่อยครั้งอาการจะแย่ลง

ควรระลึกไว้เสมอว่าคนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียนั้นจะเชื่อว่าสิ่งที่เขาเห็น ได้ยิน หรือสัมผัส ที่เกิดขึ้นจากอาการประสาทหลอนนั้นเป็นความจริง เราไม่ควรกล่าวแย้งว่า นั่นเป็นของไม่จริง เป็นสิ่งลวง แต่ควรกล่าวว่าเราเห็นในสิ่งที่ต่างกัน

ปกติแล้วคนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียไม่ได้สร้างความรุนแรง นอกเสียจากว่ามีอาการหลงผิดว่ามีการไล่ทำร้ายและพยายามฆ่า (Delusions of persecution) ในทางกลับกันผู้ป่วยสคิซโซฟรีเนียมักมีความพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่าคนอื่น โดยร้อยละประมาณ 10 (มักเกิดในเด็กวัยรุ่นผู้ชาย) จะเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

การเสพสารเสพติดทำให้การรักษาสคิซโซฟรีเนียยากขึ้น ยาบางชนิด เช่น กัญชา และสิ่งกระตุ้นอย่างแอมเฟตามีน (Amphetamines) หรือโคเคน (Cocaine) ทำให้อาการแย่ลง งานวิจัยได้พบหลักฐานของความสัมพันธ์ระหว่างกัญชาและอาการสคิซโซฟรีเนียที่มีมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น คนที่เสพยามักจะไม่ปฏิบัติตามแผนการรักษา

นอกจากนี้การติดนิโคตินก็เป็นรูปแบบของสารเสพติดที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยสคิซโซฟรีเนีย ซึ่งมีอัตราส่วนการติดเป็น 3 เท่าเมื่อเทียบกับคนธรรมดา (ร้อยละ 75-90 เทียบกับร้อยละ 25-30) จากการศึกษาหลายฉบับพบว่าการสูบบุหรี่ทำให้ยาระงับอาการทางจิตไม่ค่อยได้ผล

  1. What Is Schizophrenia?. http://www.nimh.nih.gov/health/topics/schizophrenia/index.shtml [2013, November 16].