โรคจิตเภท "สคิซโซฟรีเนีย" (ตอนที่ 4)

อาการของสคิซโซฟรีเนียแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ 1) กลุ่มอาการด้านบวก (Positive symptoms) 2) กลุ่มอาการด้านลบ (Negative symptoms) และ 3) กลุ่มอาการ Cognitive symptoms

1) กลุ่มอาการด้านบวก (Positive symptoms)

กลุ่มอาการด้านบวก มักจะเป็นพวกที่ไม่อยู่ในโลกของความจริง ซึ่งมักจะเป็นๆ หายๆ บางครั้งก็รุนแรง แต่บางทีก็ไม่สามารถสังเกตได้ ขึ้นอยู่กับการได้รับการรักษา อาการเหล่านี้ได้แก่

อาการประสาทหลอน (Hallucinations) ที่ทำให้เกิดการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น หรือการรู้สึกว่ามีใครสัมผัสร่างกาย ทั้งๆ สิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง อาการประสาทหลอนที่เกิดมากที่สุดได้แก่ เสียง ซึ่งอาจเป็นลักษณะของการหูแว่วเสียงคนพูดเกี่ยวกับพฤติกรรมของตัวเอง เสียงสั่งให้ทำตาม หรือเสียงเตือนให้ระวังอันตราย บางครั้งก็เป็นเสียงที่พูดกันเอง คนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียอาจได้ยินเสียงเหล่านี้มานานกว่าที่ครอบครัวและเพื่อนฝูงจะสังเกตได้

อาการหลงผิด (Delusions) คนที่เป็นสคิซโซฟรีเนียอาจมีอาการหลงผิดอย่างประหลาดๆ เช่น เชื่อว่าเพื่อนบ้านสามารถควบคุมพฤติกรรมของเขาด้วยคลื่นแม่เหล็ก หรือเชื่อว่าคนในโทรทัศน์กำลังส่งข้อความบางอย่างให้เขา หรือสถานีวิทยุกำลังกระจายเสียงความคิดของเขาไปทั่ว บางทีก็เชื่อเขาเป็นคนอื่น เช่น เป็นคนที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ หรืออาจมีอาการหลงผิดหวาดระแวงและเชื่อว่ามีคนพยายามจะทำร้ายเขา เช่น หลอกลวง ข่มขู่ วางยา สอดแนม หรือวางแผนทำร้ายเขาหรือคนที่เขารัก ซึ่งอาการเหล่านี้เรียกว่า Delusions of persecution

ความคิดผิดปกติ (Thought disorders) เช่น มีการคิดที่ไม่เป็นระเบียบ (Disorganized thinking) เขาอาจจะพูดในลักษณะที่ทำให้สับสนเข้าใจยาก หรือมีอาการความคิดชะงัก (Thought blocking) ซึ่งเกิดเมื่อเขาหยุดพูดกลางคัน และเมื่อถามว่าทำไมเขาถึงหยุดพูด เขาอาจตอบว่ามีความรู้สึกว่ามีใครบางคนมาเอาความคิดเขาออกไปจากหัวของเขาแล้ว ซึ่งในที่สุดคนที่มีความคิดผิดปกติจะพูดคำที่ไม่ได้ความหมายหรือคำที่เป็นศัพท์ใหม่ (Neologisms)

การเคลื่อนไหวผิดปกติ (Movement disorder) คนที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติอาจจะทำท่าทางซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือสุดโต่งไปอีกด้าน กล่าวคือ แข็งทื่อไม่เคลื่อนไหวและไม่ตอบสนองต่อสิ่งใดๆ (Catatonia)

ทั้งนี้ กลุ่มอาการด้านบวกส่วนใหญ่จะตอบสนองได้ดีต่อการใช้ยา

2) กลุ่มอาการด้านลบ (Negative symptoms)

กลุ่มอาการนี้ค่อนข้างจะวิเคราะห์ได้ยาก เนื่องจากความผิดปกติเหล่านี้จะคล้ายกับภาวะซึมเศร้าหรือภาวะอื่นๆ อาการดังกล่าวได้แก่

  • อารมณ์เฉยเมย ทื่อๆ (Flat affect)
  • ขาดความยินดีในชีวิตประจำวัน
  • ขาดความสามารถในการที่จะเริ่มหรือทำตามแผนกิจกรรมที่วางไว้
  • พูดน้อย แม้ว่าจะถูกบังคับให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น

คนที่มีอาการด้านลบจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน เพราะเขาจะละเลยสุขอนามัยพื้นฐานส่วนตัว ทำให้ดูเหมือนว่าเขาขี้เกียจหรือไม่พอใจที่จะช่วยตัวเอง

  1. Schizophrenia - http://simple.wikipedia.org/wiki/Schizophrenia [2013, November 13].
  2. What Is Schizophrenia?. http://www.nimh.nih.gov/health/topics/schizophrenia/index.shtml [2013, November 13].