โรคจาก (และโลกของ) แบคทีเรีย

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีที่พบซากสัตว์ตายในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมว่าจะก่อเกิดเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ที่ก่อให้เกิดโรคได้ อาทิ เชื้อซาโมเนลลา (Salmonella) เชื้อ อีโคไล (E.coli) และเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส (Staphylococcus) ซึ่งจะเพาะตัวในซากสัตว์ที่ตาย แล้วค่อยๆ กระจายไปตามกระแสน้ำ ซาโมเนลลาและอีโคไลนั้น จะสามารถแพร่ผ่านบาดแผลได้ ดังนั้นหากใครมีแผลทางผิวหนัง นับว่าเสี่ยงกว่าบุคคลอื่น จึงควรสวมรองเท้าบูทเวลาลุยน้ำ สำหรับเชื้อสแตปฟิโลคอคคัส จะแพร่กระจายผ่านอาหาร กล่าวคือสามารถก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารได้ อาทิ โรคบิด และโรคท้องร่วง รวมทั้งก่อให้เกิดอาหารเป็นพิษด้วย

ความจริง แบคทีเรีย เป็นรูปแบบแรกๆ ของสิ่งมีชีวิตที่กำเนิดขึ้นมาในโลกนี้ เมื่อประมาณ 4,000 ล้านปีมาแล้ว ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์สามารถจัดลำดับของยีน (Gene Sequence) เพื่อฟื้นฟูวิวัฒนาการของชนิดแบคทีเรีย (Bacterial Phylogeny) หลังจากการศึกษาวิจัยเรื่องแบคทีเรียในปี พ.ศ. 2520 ของ Carl Woese แต่ผู้ที่สังเกตเห็นแบคทีเรียเป็นคนแรกคือ Antonie van Leeuwenhoek ในปี พ.ศ. 2160 กล่าวคือ เกือบ 400 ปีที่แล้ว โดยผ่านกล้องจุลทรรศน์เลนส์เดียวที่เขาออกแบบ แล้วตีพิมพ์ข้อสังเกตของเขาในรูปจดหมายเหตุของราชบัณฑิตในประเทศอังกฤษ เขาได้รับการยกย่องว่า เป็นนักจุลชีววิทยา (Microbiologist) คนแรกของโลก

แต่ผู้ที่ตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตนี้ว่า Bacterium คือ Christian Gottfried Ehrenberg ในปี พ.ศ. 2355 กล่าวคือ อีกเกือบ200 ปีต่อมา และในปี พ.ศ. 2402 Louis Pasteur ได้สาธิตให้เห็นว่า กระบวนการหมัก (Fermentation) นั้นเกิดจากการเติบโตของจุลชีพ (Microorganism) ที่เป็น Fungi อันได้แก่ เชื้อรา (Yeast and Mold) ไม่ใช่แบคทีเรีย และเขาเป็นผู้พัฒนาทฤษฎีโรคเกิดจากเชื้อโรค (Germ Theory of Diseases) ในช่วงสมัยไล่เลี่ยกัน Robert Koch เป็นผู้บุกเบิกพัฒนาจุลชีววิทยาทางการแพทย์ (Medical Microbiology) โดยสร้างผลงานวิจัยด้านอหิวาตกโรค (Cholera) โรคระบาดสัตว์โดยเฉพาะวัวควาย (Anthrax) และวัณโรค (Tuberculosis) ในเรื่องวัณโรคนั้น เขาค้นพบเชื้อที่ทำให้เกิดโรคนี้ และได้พิสูจน์ความเป็นจริงของทฤษฎีโรคเกิดจากเชื้อโรค จนได้รับรางวัลโนเบลในปี พ.ศ. 2448

แม้จะเป็นที่ทราบกันในศตวรรษที่ 19 ว่า แบคทีเรีย คือ สาเหตุของโรคหลายชนิด แต่ก็ยังไม่มีวิธีรักษาที่ได้ประสิทธิผล จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2453 Paul Ehrlich ได้พัฒนายาปฏิชีวนะสำเร็จเป็นขนานแรก ที่สามารถฆ่าเชื้อที่ทำให้เกิดโรคบางตัว [รวมทั้งแบคทีเรียด้วย] อันที่จริง 2 ปีก่อนหน้านี้ เขาได้รับรางวัลโนเบลสำหรับผลงานวิจัยเรื่องภูมิคุ้มกันต้านทานโรค (Immunology) และการย้อมสีแบคทีเรีย เพื่อค้นหาชนิดของเชื้อแบคทีเรีย

ปัจจุบัน ยาปฏิชีวนะที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เรียกว่า Bacteriacidal และที่ขัดขวางการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เรียกว่า Bacteriostatic

การติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถป้องกันได้โดยมาตรการฆ่าเชื้อ (Antiseptic) อาทิ การทำให้ปลอดเชื้อ (Sterilization) ในบริเวณผิวหนังก่อนการฉีดยา ในการสวนใส่ท่อต่างๆเข้าในร่างกาย (Catheter) ในเครื่องมือทางศัลยกรรมและทางทันตกรรมเพื่อปลอดการปนเปื้อน (Contamination) เชื้อแบคทีเรีย และการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ (Disinfectant) ทำความสะอาดอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค เป็นต้น

แหล่งข้อมูล:

  1. เตือนประชาชนระวังซากสัตว์เน่าแช่น้ำก่อโรคทางเดินอาหาร http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000125795
  2. Bacteria. http://en.wikipedia.org/wiki/Bacteria