โรคจากเครื่องปรับอากาศ (ตอนที่ 2)

โรคจากเครื่องปรับอากาศ

คนส่วนใหญ่ติดเชื้อได้จากการหายใจเอาละอองน้ำขนาดเล็ก (Microscopic water droplets) ที่มีเชื้อลีจิโอเนลลา ทั้งนี้การแพร่กระจายของโรคอาจมาจากแหล่งดังต่อไปนี้

  • ฝักบัว ก๊อกน้ำ ท่อน้ำร้อนและอ่างน้ำวน (Whirlpool)
  • หอหล่อเย็น (Cooling towers) ของระบบปรับอากาศ
  • น้ำพุที่ใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม (Decorative fountains)
  • สระว่ายน้ำ
  • ระบบน้ำในโรงแรม โรงพยาบาล และสถานดูแลผู้ป่วย
  • ระบบระบายอากาศ (Ventilation system) ในอาคารใหญ่
  • การสูดสำลักเข้าปอด (Aspiration) ซึ่งมักเกิดตอนที่กำลังดื่มแล้วมีอาการไอหรือสำลักเอาน้ำที่มีเชื้อเข้าไป

ไม่ใช่ทุกคนที่ได้รับเชื้อลีจิโอเนลลาจะต้องป่วย อาการป่วยโดยมากมักเกิดกับผู้สูงอายุหรือวัยกลางคน แต่ไม่ค่อยพบในเด็ก ทั้งนี้ โดยมีปัจจัยเสี่ยง ได้แก่

  • การดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol abuse)
  • การสูบบุหรี่
  • ป่วยเรื้อรัง เช่น โรคไตวาย หรือ โรคเบาหวาน
  • มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น อยู่ระหว่างรับการรักษาโรคมะเร็ง กินยาสเตียรอยด์ หรือเป็นโรคเอดส์
  • เป็นโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคซีโอพีดี (Chronic obstructive pulmonary disease = COPD)
  • มีการใช้เครื่องช่วยหายใจ (Ventilator) เป็นระยะเวลานาน
  • มีการใช้ยาที่กดภูมิคุ้มกัน เช่น เคมีบำบัด และ สเตียรอยด์
  • ผู้สูงอายุ

ระยะการฟักตัวของโรคอยู่ระหว่าง 2-10 วัน นับจากได้รับเชื้อ อาการจะแย่ลงระหว่าง 4 – 6 วันแรก และส่วนใหญ่จะค่อยๆ ดีขึ้นในอีก 4 – 5 วันถัดมา อาการที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • เจ็บหน้าอก
  • ไอแห้ง
  • ไอเป็นเลือด (Coughing up blood)
  • ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง
  • เป็นไข้
  • รู้สึกไม่สบาย (Malaise)
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดข้อ
  • ไม่มีแรง
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • มีปัญหาเรื่องการทรงตัว
  • หนาวสั่น
  • หายใจลำบาก (Shortness of breath)

แหล่งข้อมูล

1. Legionnaires' disease. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/legionnaires-disease/basics/definition/con-20028867 [2014, August 1].

2. Legionnaire disease. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000616.htm [2014, August 1].