โรคคอตีบ ต้องรีบสยบ (ตอนที่ 2)

กรมควบคุมโรค ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ร่วมกับทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว และหน่วยงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกรมควบคุมโรคได้จัดการประชุมเพื่อพัฒนาศักยภาพทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว สำหรับการป้องกันควบคุมโรคคอตีบในพื้นที่ที่เกิดโรคและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีการทบทวนแผนการดำเนินงานและมาตรการต่างๆ รวมถึงการคาดการณ์และประเมินความเสี่ยงของโรคคอตีบในพื้นที่

ผู้ติดเชื้ออาจพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทา (Pseudomembrane) ติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิลและบริเวณช่องจมูก (Nasopharynx) ผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงอาจมีคอบวมและต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย แผ่นเยื่อนี้อาจแผ่คลุมไปยังกล่องเสียงและหลอดลมซึ่งจะไปอุดตันบริเวณทางเดินลมหายใจและทำให้เสียชีวิตได้

การแพร่กระจายของพิษอาจทำให้เกิดโรคทั่วร่างกายที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ (Myocarditis) และปัญหาเกี่ยวกบระบบประสาท เช่น เพดานปากขยับไม่ได้ ปัญหาในการมองเห็น และกล้ามเนื้ออ่อนแรง การติดเชื้อที่ผิวหนังจะแสดงออกโดยอาการ ผิวหนังเกิดแผลเปื่อยผุพองที่คลุมด้วยแผ่นเยื่อสีน้ำตาลปนเทา แต่อาการนี้มักเป็นการติดเชื้อเฉพาะที่ ไม่ค่อยเกิดร่วมกับโรคแทรกอื่นๆทั่วร่างกาย

การวินิจฉัยว่าเป็นโรคคอตีบหรือไม่นั้น สามารถทำได้โดยการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Corynebacterium diphtheriae ด้วยการเพาะเชื้อที่ได้จากจมูกและคอ นำไปทดสอบในห้องห้องปฏิบัติการ (Laboratory) และตรวจดูระดับภูมิต้านทานของร่างกายผู้ป่วย เพื่อประเมินความเป็นไปได้และความรุนแรงของโรค

นอกจากนี้อาจใช้วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจที่เรียกว่า ECG หรือ EKG (Electrocardiography / Elektrokardiogramm) และดูการทำงานของเลือด ถ้าสงสัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคคอตีบ ควรรีบทำการรักษาทันทีแม้ว่าจะยังไม่ทราบผลจากห้องปฏิบัติการก็ตาม

ยาต้านพิษโรคคอตีบ (Diphtheria antitoxin) เป็นยาหลักที่ในการรักษาโรค ยาจะให้ประสิทธิผลสูงสุดถ้าใช้ในระยะแรกเริ่มของการเป็นโรค อย่างไรก็ดีเนื่องจากยานี้ใช้ไม่ได้ผลในผู้ที่เป็นพาหะของโรคและผู้ที่เป็นโรคคอตีบที่ผิวหนัง (Cutaneous diphtheria) ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ยากับผู้ป่วยดังกล่าว

ควรใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ทันทีที่สงสัยว่าเป็นโรคคอตีบ ยาปฏิชีวนะช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรีย หยุดความเป็นพิษ และช่วยป้องกันการติดต่อ ยาปฏิชีวนะที่ควรใช้ คือ เพนนิซิลิน (Penicillin) และ อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ทั้งนี้ผู้ที่เป็นพาหะและผู้ที่มีความเสี่ยงหรือใกล้ชิดกับการติดต่อของโรคควรใช้ยาปฏิชีวนะด้วย

ในรายที่มีอาการรุนแรง ต่อมน้ำเหลืองที่คออาจบวม ทำให้หายใจหรือกลืนลำบาก ซึ่งการรักษาอาจต้องใช้ท่อช่วยหายใจ (Intubation) หรือ การผ่าตัดใส่ท่อช่วยหายใจในหลอดลม (Tracheotomy) การเต้นผิดจังหวะของหัวใจอาจเกิดขึ้นได้ในระยะแรกของการเจ็บป่วยหรืออีกหลายอาทิตย์ถัดมา ซึ่งสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure)

ในกรณีที่เชื้อได้กระจายเข้าสู่กระแสเลือด อาจมีผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆได้ เช่น หัวใจ และไต เชื้ออาจทำลายหัวใจโดยมีผลต่อการสูบฉีดเลือด มีผลต่อการการกำจัดของเสียที่ไต นอกจากนี้ยังอาจทำลายระบบประสาท และในที่สุดทำให้เป็นอัมพาตได้ ประมาณร้อยละ 40 - 50 ของผู้ที่ไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตได้

แหล่งข้อมูล:

  1. สาธารณสุขหวั่นโรคคอตีบระบาด เร่งส่ง 17 ทีม เคลื่อนที่เร็ว ให้ความรู้ประชาชน 8 จังหวัด http://www.naewna.com/local/25422 [2012, October 23].
  2. Diphtheria. http://www.medicinenet.com/diphtheria/article.htm [2012, October 23].
  3. Diphtheria. http://en.wikipedia.org/wiki/Diphtheria [2012, October 23].