โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคฮิตของผู้หญิง (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

การรักษาโดยทั่วไปมักให้กินยาปฏิชีวนะเพื่อไม่ให้เชื้อกระจายไปสู่ไต โดย

  • กรณีที่ติดเชื้อปกติ จะให้กินยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 3 วัน ในผู้หญิง หรือ 7 – 14 วัน ในผู้ชาย แต่หากเป็นกรณีที่การติดเชื้อมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือเป็นโรคเบาหวาน หรือมีการติดเชื้อที่ไตอย่างอ่อนๆ มักให้กินยาปฏิชีวนะเป็นเวลา 7 – 14 วัน
  • ควรกินยาปฎิชีวนะให้ครบจำนวน แม้ว่าจะไม่มีอาการแล้ว เพื่อให้การฆ่าเชื้อได้ผลและไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำอีก
    • การกินยาปฏิชีวนะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง (Side effects) เช่น มีอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน ท้องเสีย หรืออาการอื่นๆ หากมีอาการดังกล่าวให้หยุดยาและปรึกษาแพทย์ (นำยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย) อย่างไรก็ดีควรแจ้งแพทย์ว่ากำลังตั้งครรภ์หรือไม่ ก่อนการเริ่มกินยาปฏิชีวนะ

      แพทย์อาจสั่งยาลดอาการการปวดแสบปวดร้อนอย่าง Phenazopyridine hydrochloride (Pyridium) ซึ่งมีผลทำให้ปัสสาวะมีสีส้มหรือสีแดงได้ ยานี้เป็นยาลดอาการปวดแต่ไม่ได้รักษาอาการติดเชื้อ อย่างไรก็ดียานี้สามารถช่วยได้มากในระหว่างการรอให้ยาปฏิชีวนะออกฤทธิ์

      ภายหลังการรักษา อาจต้องมีการติดตาม (Follow-up) โดยการตรวจปัสสาวะอีก เพื่อให้แน่ใจว่ากระเพาะปัสสาวะปราศจากการติดเชื้อแล้ว ผู้ที่กลับมาเป็นโรคซ้ำอีกอาจต้องให้กินยาปฏิชีวนะในปริมาณที่น้อยทุกวันติดต่อกันไปอีก 6 เดือน หรือมากกว่า

      ผู้หญิงที่มีติดเชื้อเพราะการมีเพศสัมพันธ์อาจให้กินยาปฏิชีวนะในปริมาณที่น้อยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ดีการกลับมาเป็นโรคซ้ำอีกอาจเกิดจากสาเหตุอื่นซึ่งไม่ใช่การติดเชื้อก็ได้ เช่น การเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบเรื้อรังชนิด Interstitial cystitis

      แพทย์บางท่านอาจสั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนในรูปของครีมทาเฉพาะที่ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นโรคซ้ำในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และหากเป็นการติดเชื้อเพราะมีสิ่งอุดขวาง เช่น มีนิ่วในไต หรือ ต่อมลูกหมากโต อาจต้องทำการผ่าตัด

      ในเรื่องของอาหาร แนะนำให้

      • ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ เพื่อไล่แบคทีเรียให้ออกจากกระเพาะปัสสาวะ
      • อาจดื่มน้ำแครนเบอรี่ (แต่ห้ามดื่ม หากครอบครัวมีประวัติเรื่องนิ่วในไต)
      • อย่าดื่มน้ำที่มีผลต่อกระเพาะปัสสาวะ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ กาแฟ

      หากท่านมีอาการดังต่อไปนี้ (ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อในไต) ให้รีบพบแพทย์ทันที

      • ปวดหลังหรือปวดสีข้าง
      • หนาวสั่น
      • เป็นไข้
      • อาเจียน

      แหล่งข้อมูล:

      1. Cystitis – acute. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000526.htm [2012, December 28].
      2. Urinary tract infection in women - self-care. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/patientinstructions/000391.htm [2012, December 28].
      3. Understanding Bladder Infections -- Diagnosis and Treatment. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-bladder-infections-diagnosis_and_treatment [2012, December 28].