โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ โรคฮิตของผู้หญิง (ตอนที่ 3)

ปัจจัยต่อไปนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ :

  • มีการสวน สายสวน เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
  • ท่อปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะอุดตัน
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • ต่อมลูกหมากโต ทำให้ท่อปัสสาวะตีบแคบลง หรือมีสิ่งอื่นที่ขวางการไหลของปัสสาวะ
  • ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ (Bowel incontinence)
  • อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์
  • ปัสสาวะไม่หมด ทำให้มีการคั่งค้างของน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ (Urinary retention)
  • ระบบทางเดินปัสสาวะได้รับการกระทบกระเทือน
  • ขาดการเคลื่อนไหวเป็นเวลานาน (Immobile) เช่น คนที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวเพราะกระดูกสะโพกหัก

เราสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้โดย :

  • อย่ากลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ จนกระเพาะปัสสาวะเต็ม และพยายามปัสสาวะออกให้หมดทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าคับๆ และถุงน่องไนล่อน ควรใช้ชุดชั้นในผ้าฝ้าย ซึ่งระบายอากาศได้ดีกว่า
  • รักษาความสะอาดอยู่เสมอ ในผู้หญิงหลังปัสสาวะแล้ว ให้ทำความสะอาดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ เพื่อขับเชื้อแบคทีเรียออกจากร่างกาย มีงานศึกษาบางฉบับที่ระบุว่า น้ำแครนเบอรี่ (Cranberry juice) อาจช่วยลดจำนวนแบคทีเรียในปัสสาวะลงได้
  • หลีกเลี่ยงสิ่งที่มีผลต่อกระเพาะปัสสาวะ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกาแฟ
  • อาบน้ำโดยใช้ฝักบัวแทนการใช้อ่างอาบน้ำ
  • ถ่ายปัสสาวะ หลังการมีเพศสัมพันธ์เสมอ
  • ถ้ามีการใช้แผ่นครอบปากมดลูก (Diaphragms) และการใช้สารฆ่าตัวอสุจิ (Spermicide) แล้วทำให้เกิดการติดเชื้อบ่อย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีคุมกำเนิดอื่นแทน

โดยทั่วไปมักมีการเก็บปัสสาวะเพื่อนำไปวิเคราะห์ดังนี้

  • การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เพื่อดูเซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์เม็ดเลือดแดง แบคทีเรีย และตรวจสาร Nitrate ที่มีอยู่ในปัสสาวะ วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้มากที่สุดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่
  • การเพาะเชื้อ (Urine culture - clean catch) เป็นวิธีที่ใช้เพื่อให้แน่ใจว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะตัวใดในการรักษา

การตรวจปัสสาวะมักจะแสดงได้ว่าท่านมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือไม่ แต่หากท่านมีการติดเชื้ออยู่บ่อยๆ หรือมีข้อบกพร่องทางกายวิภาค (Anatomical defect) ที่เป็นสาเหตุของปัญหา แพทย์อาจให้มีการส่องกล้องดูภายในกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก (Cystoscopy)

เพื่อให้แน่ใจว่าไตยังปกติดีอยู่ แพทย์อาจสั่งให้ทำซีทีสแกน/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan = Computed Tomography) ช่องท้องและกระดูกเชิงกราน หรือทำอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ระบบทางเดินปัสสาวะทั้งหมด

แหล่งข้อมูล:

  1. Cystitis – acute. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000526.htm [2012, December 27].
  2. Understanding Bladder Infections – Prevention. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-bladder-infections-prevention [2012, December 27].
  3. Understanding Bladder Infections -- Diagnosis and Treatment. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/understanding-bladder-infections-diagnosis_and_treatment [2012, December 27].