โรคกระดูกเปราะกรรมพันธุ์ (ตอนที่ 6 และตอนจบ)

โรคกระดูกเปราะกรรมพันธุ์

ถึงแม้ว่าจะทำการรักษาแล้วก็ตาม การแตกหักก็ยังเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ แต่ส่วนใหญ่มักจะมีการประสานตัวที่เร็ว ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการเข้าเฝือกด้วย เพราะหากมีระยะเวลาการเข้าเฝือกที่นานเกิน อาจทำให้มีการสูญเสียมวลกระดูกไปได้ในกรณีที่ไม่ได้ใช้อวัยวะส่วนนั้นๆ ของร่างกายเป็นเวลานาน

นอกจากนี้ยังมีการรักษาที่เกี่ยวกับอาการสัมพันธ์กับโรค OI ด้วย เช่น

  • การใช้เครื่องช่วยฟัง (Hearing aids)
  • การครอบฟัน (Crowns for brittle teeth)
  • การให้ออกซิเจนสำหรับผู้ที่ปัญหาเรื่องการหายใจ
  • การใช้อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนไหว เช่น วอคเกอร์ (Walkers) ไม้เท้า และรถเข็น

และเนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ที่เป็นโรคนี้อาจมีปัญหาเรื่องรูปร่างเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ในกรณีนี้อาจต้องอาศัยนักสังคมสงเคราะห์หรือจิตแพทย์ให้ช่วยปรับการใช้ชีวิตด้วย

นอกจากนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ควร

  • รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม เพราะน้ำหนักตัวที่มาก จะไปเพิ่มแรงกดที่กระดูก
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงวิตามินดีและแคลเซียม
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน การกินยาสเตียรอยด์ ซึ่งล้วนแต่จะทำให้มวลกระดูกลดน้อยลง
  • การพยากรณ์โรค (Prognosis) ของคนที่เป็นโรค OI จะแตกต่างกันไปขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยความล้มเหลวของระบบทางเดินหายใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของคนที่เป็นโรคนี้มากที่สุด ตามด้วยการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ทั้งนี้

    • คนที่เป็นโรค OI ชนิดที่ 1 หรือชนิดที่อ่อน ซึ่งเป็นกันมากที่สุด จะสามารถมีชีวิตได้นานเหมือนคนปกติ
    • คนที่เป็นโรค OI ชนิดที่ 2 หรือชนิดที่รุนแรง มักจะเสียชีวิตในขวบปีแรก
    • คนที่เป็นโรค OI ชนิดที่ 3 มักมีกระดูกหักตั้งแต่แรกเกิดและสามารถมีกระดูกผิดรูปอย่างรุนแรง หลายคนจำเป็นต้องนั่งรถเข็นและมักจะมีอายุสั้น
    • คนที่เป็นโรค OI ชนิดที่ 4 มักจะต้องใช้เครื่องช่วยพยุงหรือไม้เท้าช่วยเดิน อายุจะเหมือนคนปกติหรือใกล้เคียงกับคนปกติ

    อนึ่ง สำหรับผู้ที่เป็นโรคนี้และต้องการมีลูก ควรปรึกษาและรับคำแนะนำทางพันธุศาสตร์ (Genetic counselling) ก่อน

    บรรณานุกรม

    1. Osteogenesis Imperfecta Overview. http://www.niams.nih.gov/health_info/bone/osteogenesis_imperfecta/overview.asp [2016, October 19].

    2. Osteogenesis imperfecta. https://medlineplus.gov/ency/article/001573.htm [2016, October 19].

    3. Facts about Osteogenesis Imperfecta. http://www.oif.org/site/PageServer?pagename=AOI_Facts [2016, October 19].