โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด-3

ในการวินิจฉัยโรค แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย เช่น ให้ก้มไปในทิศทางต่างๆ เพื่อตรวจการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง หรือ การกด หรือยกขาในท่าต่างๆ นอกจากจะมีการเอ็กซเรย์เพื่อดูข้อต่อและกระดูก หรือให้ทำ MRI และการตรวจเลือดเพื่อหายีน HLA-B27

โดยเป้าหมายในการรักษาโรคนี้ ก็คือ การลดอาการปวดและติด ทั้งยังต้องป้องกันหรือชะลอการผิดรูปของกระดูกสันหลัง ซึ่งจะได้รับผลดีหากรักษาก่อนที่โรคนี้จะทำลายข้อต่อมากเกินไป

ทั้งนี้ การรักษาโดยส่วนใหญ่จะให้ยาเอ็นเสด (Nonsteroidal anti-inflammatory drugs = NSAIDs) เช่น ยา Naproxen และยา Indomethacin เพื่อลดอาการปวด เมื่อย อักเสบ อย่างไรก็ดี ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารได้

หากกรณีที่ยาเอ็นเสดไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาชีวภาพ (Biologic medication) เช่น

  • Tumor necrosis factor (TNF) blocker - ด้วยการฉีดให้ยาทางหลอดเลือด ซึ่งยาจะมุ่งไปจัดการกับเซลล์โปรตีนที่เป็นสาเหตุของการอักเสบในร่างกาย ช่วยลดอาการปวดเมื่อย ข้อบวม โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้อนุมัติยา 5 ตัวต่อไปนี้ในการรักษาโรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด

.

  1. Adalimumab
  2. Certolizumab pegol
  3. Etanercept
  4. Golimumab
  5. Infliximab

.

  • Interleukin 17 (IL-17) inhibitor - ซึ่งช่วยในเรื่องการติดเชื้อและลดอักเสบ โดย FDA ได้อนุมัติยาตัวแรกคือ ยา Secukinumab ให้ใช้ในการรักษา

กายภาพบำบัดเป็นสิ่งสำคัญในการรักษา เพื่อลดอาการปวด เพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่น ส่วนการผ่าตัดนั้นไม่จำเป็น ยกเว้นกรณีที่มีอาการปวดรุนแรงและข้อถูกทำลาย หรือต้องทำการเปลี่ยนข้อ

นอกจากการไปพบแพทย์เป็นประจำและการกินยาตามแพทย์สั่งแล้ว ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ดังนี้

  • พยายามเคลื่อนไหว – การออกกำลังกายจะช่วยลดอาการปวดเมื่อย ทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อแข็งแรง ยืดหยุ่น และมีท่าทางที่ดูดี รวมถึงการฝึกหายใจลึกๆ จะช่วยให้ช่องอกเคลื่อนไหวได้ ทั้งนี้ การว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับคนที่เป็นโรคนี้
  • ประคบร้อนและเย็น – เพื่อลดอาการปวดเมื่อยและบวมที่ข้อ
  • นอนบนที่นอนที่ทำให้หลังตรง อย่าหนุนศีรษะสูงเพราะจะทำให้คอติด และอย่าเอาหมอนรองใต้ขาเพราะจะทำให้สะโพกและเข่าติด
  • เลือกโต๊ะเก้าอี้ที่ไม่ทำให้ตัวงอ ควรใช้เก้าอี้ที่มีที่วางแขน (Armchair)
  • ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ใช้เบาะรองและพยุงหลัง
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • ฝึกให้อยู่ในท่าทางที่ดี (Practice good posture) – เช่น การยืนตัวตรงหน้ากระจก
  • ห้ามสูบบุหรี่ เพราะจะทำให้แย่ลง

แหล่งข้อมูล:

  1. Ankylosing spondylitis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ankylosing-spondylitis/home/ovc-20261048 [2017, August 3].
  2. Arthritis and Ankylosing Spondylitis. http://www.webmd.com/back-pain/guide/ankylosing-spondylitis#1 [2017, August 3].