โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (ตอนที่ 2)

โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด-2

โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด ถือเป็นโรคที่เกิดกับร่างกายทุกส่วน (Systemic disease) ไม่เฉพาะแค่ข้อไขสันหลัง เพราะผู้ป่วยอาจจะมีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ตาอักเสบ และอื่นๆ

ประชากรผู้ใหญ่ร้อยละ 0.1-0.5 เป็นโรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด มักเกิดกับผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาการจะเริ่มปรากฏเมื่อเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้โดยตรง มีเพียงแค่การรักษาเพื่อให้อาการน้อยลงหรือทำให้พัฒนาการของโรคช้าลง

อาการเริ่มต้นของโรคนี้มักเริ่มต้นด้วย

  • อาการปวดเมื่อย (Pain and stiffness) ที่เอว บั้นทาย และสะโพก นานเกินกว่า 3 เดือน โดยเฉพาะในตอนเช้าและช่วงที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังมีอาการปวดคอและอ่อนเพลีย ยิ่งนานวันอาการอาจจะแย่ลงเรื่อยๆ
  • มีการเชื่อมติดกันของกระดูก (Bony fusion) เช่น การเชื่อมต่อของกระดูกคอ หลัง หรือ สะโพก ทำให้ผู้ป่วยมีท่าทางผิดไป ไม่สามารถทำกิจกรรมได้ตามปกติ เดินลำบาก หรือการเชื่อมต่อของกระดูกซี่โครงหรือกระดูกหน้าอกทำให้ปอดไม่สามารถขยายตัวได้เต็มที่ ทำให้หายใจไม่ได้ลึก
  • ปวดเส้นเอ็น

โดยส่วนใหญ่ บริเวณที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่

  • ข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังกับเชิงกราน (Sacroiliac)
  • กระดูกสันหลังส่วนเอว
  • จุดยึดเส้นเอ็นกับกระดูก (Entheses) โดยเฉพาะบริเวณไขสันหลัง และบางครั้งที่ส้นเท้าด้านหลัง
  • กระดูกอ่อนระหว่างกระดูกอกและซี่โครง
  • ข้อต่อสะโพกและไหล่

แม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยว แต่เราก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของโรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด บางงานวิจัยก็อ้างว่า อาจจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ ได้แก่

  • เพศ – ผู้ชายมีโอกาสในการเป็นมากกว่าผู้หญิง 2-3 เท่า
  • อายุ – มักเกิดในช่วงปลายของวัยรุ่นและช่วงต้นของผู้ใหญ่ (ประมาณ 17-35 ปี)
  • พันธุกรรม – เกือบร้อยละ 90 ของคนที่มียีนที่เรียกว่า HLA-B27 มักจะเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคนี้ อย่างไรก็ดีบางคนที่มียีนชนิดก็ไม่ได้เป็นโรคนี้เสมอไป

สำหรับอาการแทรกซ้อนในผู้ที่เป็นรุนแรง จะมีการเชื่อมติดระหว่างกระดูกสันหลังด้วยกัน ทำให้กระดูกสันหลังแข็งและไม่ยืดหยุ่น ซึ่งการติดนี้อาจทำให้กระดูกซี่โครงดึงรั้งปอด ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ ส่วนอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้แก่

  • ม่านตาอักเสบ หรือที่เรียกว่า โรคยูเวียอักเสบ (Uveitis) – ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดตา ตาไวต่อแสง และมองภาพไม่ชัด
  • กระดูกยุบตัว (Compression Fracture) – ทำให้หลังโค้งลง หรือกระทบต่อไขสันหลังและเส้นประสาทที่ไขสันหลัง
  • ปัญหาเรื่องหัวใจ เพราะหลอดเลือดแดงเอออร์ตา (Aorta) ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายอักเสบทำให้ลิ้นหัวใจมีรูปร่างผิดไปส่งผลให้ทำหน้าที่บกพร่อง

แหล่งข้อมูล:

  1. Ankylosing spondylitis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ankylosing-spondylitis/home/ovc-20261048 [2017, August 3].
  2. Arthritis and Ankylosing Spondylitis. http://www.webmd.com/back-pain/guide/ankylosing-spondylitis#1 [2017, August 3].
  3. Ankylosing Spondylitis. http://www.medicinenet.com/ankylosing_spondylitis/article.htm [2017, August 3].
  4. Ankylosing Spondylitis. http://www.arthritis.org/about-arthritis/types/ankylosing-spondylitis/ [2017, August 3].