โยโย่เอฟเฟ็กซ์ อาจน่ากลัวกว่าที่คิด

โยโยเอฟเฟค-1

      

      มีผลการศึกษาหลายฉบับที่กล่าวถึง ความเสี่ยงของการลดน้ำหนักแบบโยโย่ (Yo-Yo Dieting / yo-yo effect / weight cycling) ซึ่งเป็นการลดน้ำหนักแบบที่น้ำหนักมักจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่คงที่อยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง เป็นระยะเวลานานนัก ว่ามีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหัวใจ

      ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีชาวอเมริกันที่เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่า 370,000 คน โดยโรคหลอดเลือดหัวใจมีลักษณะของหลอดเลือดแดงที่แข็งตีบ (Atherosclerosis) เพราะมีคราบ (Plaque) ที่อาจอุดตันการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ และทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก (Angina) หรือภาวะหัวใจวาย

      โดยงานวิจัยล่าสุดของ Dr. Sripal Bangalore และทีมงาน จากศูนย์วิจัยคลีนิคหัวใจและหลอดเลือด ที่ NYU Langone Medical Center ในเมืองนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยในวารสาร New England Journal of Medicine ว่า

      คนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary heart disease = CHD) ที่มีน้ำหนักขึ้นๆ ลงๆ ในระยะเวลาเฉลี่ย 4.7 ปี จะมีความเสี่ยงมากในการเกิดภาวะหัวใจวาย (Heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และเสียชีวิต มากกว่าผู้ที่น้ำหนักตัวมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

      นอกจากนี้ยังพบถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักและความเสี่ยงในการเริ่มเป็นโรคเบาหวานด้วย

      โดย Dr. Bangalore และทีมงาน ได้ทำการวิจัยข้อมูลของชายและหญิงจำนวน 9,509 ราย ที่อายุระหว่าง 35-75 ปี ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ มีระดับคลอเรสเตอรอลสูง และมีปัญหาด้านหัวใจอื่นๆ โดยครึ่งหนึ่งอยู่ระหว่างการรักษาเพื่อให้ระดับคลอเรสเตอรอลต่ำลง และระหว่างการติดตาม (Follow-up) คนเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักที่ขึ้นลงตั้งแต่ 0.9-3.9 กิโลกรัม

      Dr. Bangalore และทีมงาน กล่าวว่า นี้เป็นเพียงข้อมูลที่ได้จากการสังเกต (Observational) เท่านั้น จึงยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงเหตุและผลของการลดน้ำหนักแบบโยโย่และคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจที่จะมีความเสี่ยงที่สูงขึ้นในการเกิดภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และเสียชีวิต

      นอกจากนี้ Dr. Bangalore และทีมงาน ยังกล่าวถึงข้อจำกัด (Limitations) บางประการ เช่น การไม่สามารถชี้ได้ตรงจุดว่า ทำไมน้ำหนักจึงขึ้นๆ ลงๆ หรือเป็นไปได้ว่าปัญหาเกี่ยวกับหัวใจที่มีอยู่เป็นสาเหตุให้น้ำหนักตัวเปลี่ยนแปลงได้

แหล่งข้อมูล:

  1. Yo-yo dieting may raise death risk for people with heart disease. https://www.medicalnewstoday.com/articles/316778.php [2018, May 3].