โยเกิร์ต กินกันโรค (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

โยเกิร์ตเป็นอาหารที่มีประโยชน์ทั้งในเด็กและผู้สูงอายุ สำหรับเด็กโยเกิร์ตเป็นแหล่งของโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรท และแร่ธาตุต่างๆ ส่วนผู้สูงอายุที่ลำไส้มีปัญหาการขาดแลคเตส (Lactase เป็นเอนไซม์ที่ลำไส้เล็กสร้างขึ้นสำหรับย่อยน้ำตาลแลกโทสให้เป็นกาแลกโทสและกลูโคส) และผู้สูงอายุที่มีระดับของบีฟีดัสแบคทีเรีย (Bifidus bacteria) ต่ำลงซึ่งอาจมีผลให้มีท็อกซินหรือพิษในร่างกายมากขึ้นจนเกิดมะเร็ง โยเกิร์ตก็สามารถช่วยได้

โยเกิร์ตอาจจะช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เพราะในโยเกิร์ตมีแคลเซียม และมีการเติมวิตามินดีเพิ่มลงไปด้วย

โยเกิร์ตมีส่วนสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูง โดยงานวิจัยเมื่อไม่นานนี้ที่ได้จากการติดตามผลบัณฑิต 5,000 คน จากมหาวิทยาลัยในสเปนเป็นระยะเวลา 2 ปี พบว่าการกินโยเกิร์ตทุกวันมีผลในการลดความเสี่ยงของการเป็นโรคความดันโลหิตสูง

โยเกิร์ตช่วยลำไส้ในเรื่องการแพ้แลคโตส (Lactose intolerance) อาการท้องผูก (Constipation) อาการท้องร่วง (Diarrhea) มะเร็งลำไส้ (Colon cancer) ลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease = IBD) โรคติดเชื้อเอชไพโลไร (H. pylori infection เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งการติดต่อเกิดขึ้นระหว่างคนสู่คน เชื้อที่เข้าสู่ร่างกายแล้ว จะไปอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร และในลำไส้เล็กส่วนต้น ทำให้เกิดการอักเสบเป็นแผล รวมถึงการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย) ทั้งนี้เพราะโยเกิร์ตช่วยเปลี่ยนจุลินทรีย์ (Microflora) ในลำไส้ และช่วยเสริมระบบภูมิต้านทาน (Immune system)

นอกจากนี้การกินโยเกิร์ตยังช่วยลดการติดเชื้อในช่องคลอด และทำให้รู้สึกอิ่มได้ สำหรับการเลือกซื้อโยเกิร์ต ควรดูฉลากว่าเราต้องการโยเกิร์ตชนิดไหน เช่น โยเกิร์ตไขมันปกติ ไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน ระดับของความหวาน เชื้อแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตหรือไม่มี (Live and active cultures)

แม้ว่าโยเกิร์ตจะมีประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย แต่ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาได้ เพราะโยเกิร์ตบางชนิดมีการเติมน้ำตาลมาก ซึ่งโยเกิร์ตธรรมชาติโดยทั่วไปจะมีการใส่น้ำตาลประมาณ 11 กรัมต่อโยเกิร์ต 1 ถ้วย แต่ส่วนใหญ่โยเกิร์ตที่ขายกันในท้องตลาดมักจะใส่น้ำตาลเป็น 2 เท่า รวมถึงโยเกิร์ตรสผลไม้ที่ไม่ใช่หวานธรรมชาติ แต่เป็นหวานแบบเข้มข้น (Sugar-laden syrups / Concentrates) ซึ่งไม่เพียงจะเป็นเหตุให้ระดับแคลอรี่เพิ่ม แต่ยังทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เพิ่มสูงด้วย ดังนั้นจึงควรกินโยเกิร์ตรสธรรมชาติ (Plain yogurt) แล้วเพิ่มความหวานด้วยผลไม้สด น้ำผึ้ง หรือน้ำตาลเพียงเล็กน้อย จะดีกว่า

ในส่วนของไขมันอิ่มตัว (Saturated fat) นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นต้นเหตุให้ระดับคลอเรสเตอรอลสูง มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ดังนั้นหากกินโยเกิร์ตที่ทำจากนมครบส่วน (Whole milk) แม้ว่าจะเป็นโยเกิร์ตรสธรรมชาติก็ยังคงมีไขมันอิ่มตัวประมาณ 5 กรัมต่อ 1 ถ้วย ในขณะที่โยเกิร์ตที่ทำจากนมขาดมันเนย (Skim milk)จะไม่มีไขมันอิ่มตัว แต่ยังคงมีสารอาหารเหมือนนมครบส่วน ส่วนโยเกิร์ตที่ทำจากนมพร่องมันเนย (Low-fat yogurt) จะมีไขมันอิ่มตัวในระดับกลาง

และเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกายให้มากที่สุด นอกจากการเลือกชนิดของโยเกิร์ตแล้ว สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือการเก็บรักษา เพราะแม้ว่าโยเกิร์ตจะมีเชื้อแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่แต่ความร้อนก็สามารถฆ่าเชื้อให้ตายได้ ดังนั้นจึงควรระวังด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Yogurt. http://en.wikipedia.org/wiki/Yogurt [2014, March 9].
  2. The Benefits of Yogurt. http://www.webmd.com/diet/features/benefits-of-yogurt [2014, March 9].
  3. Disadvantages of Yogurt. http://livewell.jillianmichaels.com/disadvantages-yogurt-5453.html [2014, March 9].