โมยาโมยา (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

โมยาโมยา

เด็กที่เป็นโรคโมยาโมยาบางคนอาจมีภาวะดังต่อไปนี้ด้วย

  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (Sickle cell disease)
  • กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome)
  • โรคท้าวแสนปม (Neurofibromatosis = NF)
  • มีประวัติเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart disease)

โอกาสที่จะทำให้อาการแย่ลง ได้แก่ การหายใจถี่เร็ว (Hyperventilation / over-breathing) ความดันโลหิตตก หรือ มีภาวะขาดน้ำ (Dehydration) ดังนั้นเพื่อป้องกันความเสี่ยง จึงควรจำกัดการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬา

เนื่องจากโรคโมยาโมยาเป็นโรคที่ค่อยๆ เป็น หลอดเลือดในสมองจะค่อยๆ แคบลง ทำให้มีโอกาสที่จะมีการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง (Stroke) มากขึ้น

การวินิจฉัยโรคโมยาโมยาสามารถทำได้โดย

  • การตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging = MRI) ที่ใช้คลื่นแม่เหล็กในการสร้างภาพรายละเอียดของอวัยวะ กระดูก และเนื้อเยื่อ
  • การตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์เอ (Magnetic Resonance Angiogram = MRA) ที่เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคของหลอดเลือดโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวินิจฉัยโรคของหลอดเลือด แทนการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในหลอดเลือด (Angiogram)

ข้อได้เปรียบของการตรวจ MRA คือมีความปลอดภัยสูง มีข้อจำกัดในการตรวจน้อยและให้ความถูกต้องแม่นยำในการตรวจมาก

การตรวจหลอดเลือดโดยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเกิดจากการส่งสัญญาณคลื่นวิทยุจากเครื่อง MRI

แล้วแปลงสัญญาณภาพออกมา หลังจากนั้นเครื่องจะทำการประมวลสัญญาณภาพที่ได้ โดยจับเฉพาะสัญญาณภาพที่มีการเคลื่อนไหวของเม็ดเลือดแดงแล้วสร้างภาพของหลอดเลือดขึ้นมา

  • การตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกน (Computed Tomography = CT) ที่ใช้รังสีเอ็กซเรย์สร้างภาพ 3 มิติของกระดูก เนื้อเยื่อ และหลอดเลือด

การรักษาทำได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพราะทำให้เกิดหลอดเลือดใหม่ที่เป็นทางให้เลือดเดินทางไปเลี้ยงสมองได้ โดยแพทย์อาจให้กินยาเพื่อควบคุมอาการ เช่น

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anti-clotting drugs) อย่างแอสไพริน
  • ยาลดความดันในกลุ่ม Calcium channel blockers เพื่อปิดกั้นแคลเซียมไม่ให้เข้าไปในเซลล์ของหัวใจและผนังหลอดเลือด ช่วยลดความดันโลหิตที่เป็นสาเหตุของการปวดหัวอย่างรุนแรง

หลังการผ่าตัด ควรระวังเรื่องการออกกำลังกายเพื่อให้หลอดเลือดใหม่ในสมองได้เจริญเติบโต โดยห้ามออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาที่ต้องใช้กำลังมากเป็นเวลา 3 เดือน

แหล่งข้อมูล

  1. Moyamoya disease in children. http://www.childrenshospital.org/conditions-and-treatments/conditions/moyamoya-disease [2015, August 23].