โภชนาการเตรียมตั้งครรภ์ อาหารเตรียมตั้งครรภ์ อาหารก่อนตั้งครรภ์ (Pre pregnancy diet)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

อาหาร เป็นจุดเริ่มต้นของการเสริมสร้างชีวิต ในปัจจุบันแต่ละครอบครัวจะมีลูกก็เพียง 1 หรือ 2 คนเท่านั้น ลูกที่เกิดมาจึงควรมีความสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นเมื่อมีชีวิตใหม่อุบัติขึ้นในร่าง กาย ไม่ว่าคุณแม่จะทำอะไร ย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตเล็กๆนั้นด้วย การปฏิบัติตามคำ แนะนำในข้อควรปฏิบัติ ตาม แพทย์ พยาบาล โภชนากร กระทรวงสาะรณสุข เป็นวิธีที่จะทำให้ลูกที่เกิดมามีสุขภาพดี และสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ควรตระ หนักอยู่ตลอดเวลาคือ อาหารทุกคำที่กินนั้นหมายถึงสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์นั่นเอง

 

อะไรเป็นสารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย?

โภชนาการเตรียมตั้งครรภ์

สำหรับทุกเพศและทุกวัย ร่างกายต้องการสารอาหารที่เหมือนกัน จะแตกต่างกันออกไปก็คือ ปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งขึ้นกับปัจจัยหลายๆอย่าง ตามช่วงอายุ ภาวะการตั้งครรภ์ ภาวะเจ็บป่วย เป็นต้น สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย และร่างกายต้องการทุกวัน ได้แก่

1. คาร์โบไฮเดรต

2. โปรตีน

3. ไขมัน

4. วิตามิน และ เกลือแร่/แร่ธาตุ

 

กลุ่มอาหารที่ให้สารอาหารใกล้เคียงกัน:

เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและนำมาปฏิบัติได้ง่ายขึ้น จึงจัดแบ่งกลุ่มอาหารที่ให้สารอาหารจำเป็นคล้ายกันไว้ในหมวดเดียวกันดังนี้

1. กลุ่มข้าว-แป้ง ให้คาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก โปรตีนเล็กน้อย มีวิตามิน และเกลือแร่พอสมควร เช่น ข้าว ข้าวเหนียว ขนมปัง ก๋วยเตี๋ยว วุ้นเส้น เผือก มัน ข้าวโพดต้ม เกาลัด ฟักทอง มันแกว ฯลฯ

2. กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์ ให้สารอาหารทั้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามินและเกลือแร่

3. กลุ่มผัก ให้คาร์โบไฮเดรต แต่ปริมาณไม่มากเท่า ข้าว-แป้ง ให้วิตามินและเกลือแร่

4. กลุ่มผลไม้ ให้คาร์โบไฮเดรตเป็นหลัก ปริมาณใกล้เคียงกลุ่มข้าว-แป้ง ให้วิตามินและเกลือแร่

5. กลุ่มเนื้อสัตว์ ให้โปรตีน ไขมันเป็นหลัก ให้วิตามินและเกลือแร่เล็กน้อย

6. กลุ่มไขมัน ให้พลังงานเป็นหลัก

 

กินอะไรดีให้เหมาะสมกับคุณแม่และลูกในครรภ์?

อาหารเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญสำหรับคุณแม่ ซึ่งต้องเตรียมร่างกายให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้คุณแม่เรียนรู้การกินอาหารที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็น

1. อาหารช่วงก่อนการตั้งครรภ์

2. อาหารในช่วงตั้งครรภ์

3. อาหารหลังคลอด

4. อาหารในระยะให้นมบุตร

*โดยในตอนแรกในบทความนี้ จะเป็นเรื่องของ อาหารช่วงก่อนการตั้งครรภ์ก่อน

 

อาหารช่วงก่อนตั้งครรภ์ควรเป็นอย่างไร?

อาหารกับการตั้งครรภ์ ต้องเริ่มตั้งแต่วันที่ยังไม่ท้อง/ตั้งครรภ์ ปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญต่างลงความเห็นว่า การตั้งครรภ์และการเตรียมตัวตั้งครรภ์ไม่ใช่เพียงแค่ไปพบแพทย์ก็พอ การเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนตั้งครรภ์ มีความสำคัญมากเป็นอันดับแรก ดังนั้นสามีภรรยาคู่ใดที่ กำลังวางแผนว่าจะมีบุตร จึงควรใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองกันตั้งแต่วันนี้ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ตั้งครรภ์ก่อนถึงจะเริ่มดูแลเอาใจใส่เรื่องอาหารการกินเพื่อสุขภาพ โดยในการดูแลสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์นั้น ควรดูเรื่องต่างๆ ต่อไปนี้

  • มีน้ำหนักตัวน้อยไป หรือมากไปหรือไม่
  • โรคประจำตัว: มีประวัติ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือเบาหวานแอบแฝงหรือไม่
  • มีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆอยู่หรือไม่

ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ และเพื่อสุขภาพที่ดีที่สุดของทารก เพราะในช่วง 1-2 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทารกจะมีการเจริญเติบโตเร็วมาก การขาดสารอาหารบางอย่างในช่วงนี้ จะทำให้ตัวอ่อน/ทารกเจริญเติบโตผิดปกติได้ นี่จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ต้องมีการดูแลรักษาสุขภาพกันตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะผู้หญิงหลายคนอาจจะไม่ทราบเลยด้วยซ้ำว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 1-2 เดือนแรก

 

ก. น้ำหนักตัวคุณแม่น้อยหรือมากไป จะทำให้ตั้งครรภ์ได้ยากขึ้น:

ผู้หญิงที่อ้วนมากเกินไป จะมีทำผลให้ระบบประจำเดือนและการตกไข่ของผู้หญิงผิด ปกติ ลดโอกาสการตั้งท้อง/ตั้งครรภ์ วิธีแก้ไขก็คือ ลดน้ำหนักลงมา แม้เพียงเล็กน้อยก็จะปรับระบบการตกไข่ให้เข้าสู่ภาวะปกติ และมีโอกาสท้องได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่อ้วนอาจส่งผลต่อความผิดปกติของทารก มีความเสี่ยงของโรค เบาหวานขณะตั้งครรภ์ โรคความดันโลหิตสูง ครรภ์เป็นพิษ คลอดก่อนกำหนด และทารกในครรภ์ตัวโต (หนักมากกว่า 4 กิโลกรัม) ซึ่งล้วนแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของแม่และทารกทั้งสิ้น

ฉะนั้น แนะนำให้ผู้ที่อ้วนลดน้ำหนักลงบ้าง ด้วยการหันมาใส่ใจเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่พอเหมาะ และมีการออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอและสุขภาพแข็งแรง

ผู้หญิงที่ผอมเกินไป จะทำให้เสียโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากพอๆกันกับการที่มีน้ำ หนักตัวมากเกินไป เพราะจะทำให้ตกไข่ยาก รอบเดือน/ประจำเดือนไม่เป็นปกติ ฉะนั้นผู้หญิงที่ผอมก็ต้องเพิ่มน้ำหนักก่อน เพื่อให้สภาพร่างกายมีความพร้อมมากขึ้น ก็จะตั้งครรภ์ง่ายขึ้น และจะได้ไม่มีปัญหาทั้งแม่และลูกระหว่างตั้งครรภ์

ดังนั้นไม่ว่าอ้วนหรือผอมมากเกินไป ต่างก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการตั้งครรภ์ทั้ง สิ้น ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อเตรียมร่างกายให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะตั้งครรภ์ได้

 

น้ำหนักตัวน้อยหรือมากเกินไปคำนวณจาก

1. จากส่วนสูง – 100 – (10 % ของค่าที่ได้จากส่วนสูง – 100 ) จะได้ค่าของน้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับความสูงที่มีอยู่ คือ

*ค่าน้ำหนักตัวที่เหมาะสม = ส่วนสูง – 100 – [10 % (ส่วนสูง – 100)]

ตัวอย่าง: ถ้ามีส่วนสูง 160 เซนติเมตร น้ำหนัก 65 กิโลกรัม น้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิงที่มีส่วนสูง 160 เซนติเมตร คือ

ดังนั้น ขณะนี้คุณมีน้ำหนักตัวเกินจากน้ำหนักที่เหมาะสมกับส่วนสูงอยู่ (65 - 54) 11 กิโลกรัม ควรควบคุมน้ำหนักตัว

2. หาค่าดัชนีมวลกาย (BMI ) หาได้จาก น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลัง 2

ซึ่งค่าดัชนีมวลกายที่ปกติของคนไทยควรอยู่ในช่วง = 18.5 – 22.9 กิโลกรัม / เมตร2

ตารางแสดงความหมายของค่าดัชนีมวลกาย

ที่มา : เครือข่ายคนไทยไร้พุง ปฏิบัติการฝ่าวิกฤตพิชิตอ้วน พิชิตพุง 2550 หน้า 6)

 

ข. โรคประจำตัว: ความดันโลหิตสูง เบาหวาน

ผู้มีประวัติ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือ เบาหวานชนิดแอบแฝงอยู่ก่อน

1 ผู้ที่มีประวัติเป็นความดันโลหิตสูง สามารถที่จะตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้อย่างปกติ แต่อาจมีความดันโลหิตสูงมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ง่ายกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะคอยเฝ้าระวังเรื่องความดันโลหิตเป็นพิเศษ เพราะความดันโลหิตสูงสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะใน 3 เดือนก่อนคลอด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะเกิดเป็นอันตรายทั้งแม่และลูกได้

เพื่อช่วยในการควบคุมความดันโลหิตให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรควบคุมอาหารดังนี้

  • ลดอาหารรสเค็ม ไม่ควรปรุงรสเค็มเพิ่มในขณะกินอาหาร
  • กินผัก ผลไม้เป็นประจำทุกมื้ออาหาร และทุกวัน ควรเน้นผักมากกว่าผลไม้
  • ดื่มนมไขมันต่ำ กินอาหารไขมันต่ำ
  • กินให้หลากหลายครบถ้วนในแต่ละมื้อ ในทุกกลุ่มอาหารต่างๆดังได้กล่าวในตอนต้น หัวข้อ ‘สารอาหารจำเป็นฯ’ เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน ตามที่ร่างกายต้องการ

ตัวอย่าง: การกินอาหารใน 1 วัน

  • อาหารเช้า ข้าวต้มปลายังไม่ปรุงรส ไม่ควรเติมตังฉ่าย (ใช้ซีอิ๊วปรุงได้ 2 ช้อนชา) นม 1 กล่อง (180 ซี.ซี)
  • อาหารกลางวัน ราดหน้าหมู + คะน้ามากๆ มะละกอ
  • อาหารว่าง โยเกิตที่ไม่ใส่ผลไม้หรือน้ำหวาน ส้ม
  • อาหารเย็น ข้าวสวย (ข้าวกล้อง) 2 ทัพพีเล็ก แกงส้มผัก 2 กำมือ - ปลาช่อน และไข่เจียวใช้น้ำมันน้อยๆ

2 ผู้ที่มีประวัติเป็นเบาหวานหรือเบาหวานแอบแฝง ก็สามารถตั้งท้องได้เหมือนคนปกติทั่วไป ‘แต่ต้องเตรียมตัวมากกว่าคนอื่นๆ’ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน จะได้รับคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาล โภชนากร ให้ควบคุมอาหารเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้มีค่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ถ้าคุมอาหารได้ไม่ดี ก็ต้องฉีดอินซูลินช่วย

และในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ต้องคอยตรวจระดับน้ำตาลแม่อย่างสม่ำเสมอ จนกว่าจะคลอด ดังนั้น ผู้เป็นเบาหวานที่ต้องการจะตั้งครรภ์ ควรมีการวางแผนล่วงหน้า เพื่อให้มีการควบคุมดูแลอย่างดีที่สุด ซึ่งต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากหลายฝ่าย ทั้งตัวผู้ป่วยเอง ญาติ และบุคลากรทางการแพทย์จากหลายสาขา เพื่อให้ลูกน้อยในครรภ์และมารดามีสุขภาพที่แข็งแรงและสมบูรณ์

ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่จำเป็นต้องอดอาหารเพื่อคุมระดับน้ำตาลให้ได้ดี แต่ต้องเรียนรู้ว่าอาหารชนิดใดกินได้มาก ชนิดใดกินได้น้อย และชนิดใดไม่ควรกิน ซึ่งผู้ที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีจะสามารถกินได้ทุกอย่าง แต่ต้องมั่นใจว่า ควรกินได้ในปริมาณที่ถูกจำกัด

ตัวอย่าง การกินอาหารใน 1 วันในมารดาเบาหวานฯ

  • อาหารเช้า โจ๊ก (ถ้าข้าวกล้องจะดีมาก) หมูใส่ไข่ นม 1 กล่อง (180 ซี.ซี)
  • อาหารเที่ยง ก๋วยเตี๋ยวน้ำลูกชิ้นปลา (ไม่เติมน้ำตาล) ฝรั่ง 1 ผล
  • อาหารว่าง แซนวิชไก่ 1 คู่ [ใช้ขนมปังสีน้ำตาล (Whole wheat) 1 แผ่น]
  • อาหารเย็น ข้าวสวย (ข้าวกล้อง) 1-2 ทัพพีเล็ก แกงส้มไม่หวานปลาช่อน หมูกระเทียมพริก ไทย

 

ค. ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ:

ผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคเลือด โรคธาลัสซีเมีย โรคไทรอยด์ เป็นต้น ในปัจจุ บันก็สามารถที่จะตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้อย่างปกติเช่นเดียวกัน แต่ต้องตรวจเช็คสุขภาพและปรึกษาแพทย์ก่อน ว่าสมควรจะตั้งครรภ์ได้หรือยัง และถ้าตั้งครรภ์ได้ต้องเตรียมตัวหรือระมัดระ วังอะไรบ้าง เพื่อให้ผู้เตรียมเป็นแม่ได้รู้ และเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดตามมาได้

 

ง. สรุป:

การบริโภคอาหารที่หลากหลายมีประโยชน์ทั้ง ข้าว ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ ในแต่และมื้ออาหารที่เหมาะสม ควรให้เป็นนิสัยตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ จะช่วยให้เกิดความเคยชินที่จะเลือกกินอาหารที่มีคุณค่า และควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสมได้ในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นทั้งกับแม่และลูก ยังช่วยให้ลูกน้อยได้รับอาหารที่เหมาะสม และมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์สมกับที่พ่อแม่ตั้งตารอคอย โดยข้อปฏิบัตินี้จริงๆแล้ว ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต เพื่อให้แน่ใจว่าร่างกายจะได้รับสารอาหารที่จำเป็นครบถ้วน และเหมาะสมตลอด

 

เลือกกินอย่างไรช่วงก่อนตั้งครรภ์?

เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการตั้งครรภ์ ควรเลือกกินอาหารที่มีคุณค่า ถูกต้องตามหลักโภชนาการ ครบหมวดหมู่ตามที่ร่างกายต้องการ มีปริมาณพอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารหลายชนิดที่มีความจำเป็นต่อการตั้งครรภ์ที่ปกติ ดังนั้นควรเลือกกินอาหารให้หลากหลายในแต่ละมื้อ โดยดูได้จากในแต่ละมื้อควรมีครบทุกกลุ่มอาหารดังนี้

1. กลุ่มข้าว – แป้ง: เช่น

  • ข้าวสวย ก๋วยเตี๋ยว ธัญพืช ควรกินไม่เกิน 2 ทัพพีต่อมื้อ,
  • ขนมปัง ควรกินไม่เกิน 2 แผ่นต่อมื้อ

เนื่องจากอาหารกลุ่มนี้ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและพลังงาน การจำกัดปริมาณจะช่วยให้ร่าง กายได้รับน้ำตาลไม่มากเกินไป และช่วยควบคุมน้ำหนักตัวได้ดี

2. กลุ่มผัก: แบ่งเป็น

  • ผักใบ: ควรกินให้ได้ 1-2 กำมือต่อมื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับ วิตามิน เกลือแร่ และเส้นใยอาหารเพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยไม่ให้ท้องผูก ผักกลุ่มนี้ เช่น คะน้า ผักกาด ขาว กวางตุ้ง ผักบุ้ง ตำลึง เป็นต้น
  • ผักอีกกลุ่มคือ ผักหัว: ซึ่งต้องจำกัดในการกิน เนื่องจากกลุ่มนี้ถ้ากินในปริมาณมากเกินไป จะมีผลทำให้ได้พลังงานมากเกิน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน และอ้วนขึ้นได้ ผักกลุ่มนี้ เช่น ฟักทอง มันเทศ มันฝรั่ง เป็นต้น

3. กลุ่มผลไม้: ควรกินทุกวัน แต่ต้องระมัดระวังปริมาณที่กิน เพราะร่างกายจะเปลี่ยนผลไม้เป็นน้ำตาลและเป็นพลังงานเหมือนกลุ่มข้าว-แป้ง ถ้ากินมากก็อาจทำให้น้ำตาลสูงเกิน น้ำหนักตัวเพิ่ม ขึ้นได้เช่นกัน

  • แต่ละมื้ออาหาร ผลไม้ที่กินไม่ควรกินเกิน 10 คำเพื่อเป็นการจำกัดปริมาณให้ได้
  • และถ้าชอบดื่มเป็นน้ำผลไม้ ยิ่งต้องระวังมากขึ้น เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลและพลังงานในปริมาณที่มากเกินความจำเป็นได้ง่ายยิ่งขึ้น

4. กลุ่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม: ทุกช่วงอายุควรดื่มนมอย่างน้อย 2 กล่องต่อวัน (240 ซี.ซี/กล่อง) เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ถ้าดื่มนมไม่ได้ อาจดื่มเป็นน้ำเต้าหู้แทนก็ได้ แต่ไม่ควรหวานมากเกินไป

5. กลุ่มเนื้อสัตว์: สามารถเลือกกินเป็น ไข่ ปลา กุ้ง หมู ไก่ เนื้อ เต้าหู้ ฯลฯ ได้ทุกชนิด โดยให้มีในทุกมื้ออาหาร ควรเลือกกินปลาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 วัน

6. กลุ่มไขมัน: อาหารกลุ่มนี้ร่างกายได้รับโดยไม่ค่อยขาด เนื่องจากส่วนมากมักมีการใช้น้ำมันประกอบอาหาร อาจมากเกินไปด้วยซ้ำ ซึ่งจะทำให้อ้วนได้ง่าย ควรระวังไม่กินอาหารที่ใช้น้ำมันมากเกินไป เพื่อรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนขึ้น เช่น ดูว่าในแต่ละวัน เช้ากินอาหารทอด เที่ยงกินอาหารทอด เย็นก็กินอาหารทอด ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ต้องคิดให้มากขึ้นสักนิดก่อนจะกินอาหารในแต่ละมื้อ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับไขมันมากเกิน

 

สรุป:

อาหารทั้ง 6 กลุ่มดังกล่าว มีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่เตรียมจะตั้งครรภ์ ยิ่งไม่ควรขาดอาหารกลุ่มใดในทุกๆวัน การดูแลเอาใจใส่เรื่องอาหารการกินเพื่อสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ จึงเน้นให้กินให้หลากหลายครบถ้วนทุกกลุ่มอาหารให้ได้ในทุกมื้อ และทุกวัน

ตัวอย่าง การกินอาหารก่อนตั้งครรภ์ แต่ละภูมิภาค/มื้อใน 1 วัน:

 

สรุปในภาพรวมทั้งหมด: เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีคุณภาพตั้งแต่วันนี้

หากคุณวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ก็ควรที่จะเริ่มต้นรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตั้งแต่วันนี้ โดย

  • หลีกเลี่ยงกินอาหาร ไขมัน และน้ำตาลมากๆ
  • ผู้ที่อ้วนต้องลดน้ำหนักตัวก่อนตั้งครรภ์
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ควรเพิ่มน้ำหนักตัว
  • ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคหืด โรคไต เป็นต้น นอกจากต้องมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล อย่างเคร่งครัดแล้ว ก็ต้องเรียนรู้การกินอาหารที่เหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่ เพื่อให้มีผลกระทบกับแม่และลูกให้น้อยที่สุดด้วย

 

บรรณานุกรม

  1. “กินดีได้สุขภาพดี” กฤษฏี โพธิทัต , สถาพรบุ๊คส์ สนพ. 2554.
  2. “อาหารหญิงตั้งครรภ์ 4 ภาค” กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, สำนักพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กรุงเทพฯ . พิมพ์ครั้งที่ 1/ 2548.
  3. “ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ 2546” ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 , กอง โภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
  4. การเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์ http://hpc6.anamai.moph.go.th/hpc/mom_child/7/doc1.pdf [2018,Nov3]
  5. อาหารหญิงท้อง เตรียมพร้อมก่อนตั้งครรภ์จนคลอด https://www.anamai.moph.go.th/ewt_news.php?nid=8485 [2018,Nov3]
  6. “โฉมหน้าโรคแทรกซ้อน แม่ท้องต้องระวัง ตอน1“ รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=510 [2018,Nov3]
  7. โฉมหน้าโรคแทรกซ้อน แม่ท้องต้องระวัง ตอน 2 “ รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา ถิฐาพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/admin/article_files/511_1.pdf [2018,Nov3]
  8. Nutrition in pregnancy นพ. เศรษฐวัฒก์ เศรษฐเสถียร ร.ศ. พ.ญ. สายพิณ พงษธา http://www.med.cmu.ac.th/dept/obgyn/2011/index.php?option=com_content&view=article&id=787:nutrition-in-pregnancy&catid=45&Itemid=561 [2018,Nov3]