โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตอน 6 สารอาหารที่สำคัญ (ตอนจบ)

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตอน-6

      

      หมวดที่ 5 ไขมัน

      ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรได้รับพลังงานจากไขมันร้อยละ 30-35 ของพลังงานทั้งหมดที่ร่างกายต้องการใน 1 วัน โดยเลือกชนิดของไขมันให้เหมาะสม คือเลือกรับประทานกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fatty acid หรือ MUFA เป็นหลัก กรดไขมันชนิดนี้ทำให้ HDL-c เพิ่มขึ้น และช่วยลด LDL-c อีกด้วย ไขมันกลุ่ม MUFA พบมากในน้ำมันรำข้าว น้ำมันงา น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันดอกคำฝอย ไขมันยังเป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงานสูงกว่าอาหารชนิดอื่น มีประโยชน์และความจำเป็นต่อร่างกาย เพราะวิตามินบางชนิดละลายและดูดซึมได้เฉพาะในไขมันเท่านั้น เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี วิตามินเค และยังเป็นแหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 โอเมก้า 6 และยังเป็นตัวช่วยทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น หากรับประทานไขมันมากเกินไปก็จะได้รับพลังงานเกินนำไปสู่ภาวะโรคอ้วนได้ หรือไขมันในเลือดสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ วิธีการประกอบอาหารก็เป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมปริมาณไขมันไม่ให้เกินความต้องการของร่างกาย โดยหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันในปริมาณที่มากๆในการทอด หรือการผัด สลับกับการประกอบอาหารโดยวิธี นึ่ง อบ ตุ๋น ต้ม ย่าง ยำ ก็จะช่วยในการจำกัดการบริโภคไขมันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมได้

      สำหรับกรดไขมันที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดและทำให้ไตถูกทำลายเพิ่มขึ้น ได้แก่ กรดไขมันอิ่มตัว และกรดไขมันทรานส์ กรดไขมันอิ่มตัวมีอยู่มากในน้ำมันจากสัตว์ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ เนย และอาหารทะเล ส่วนกรดไขมันทรานส์ พบมากในมาการีน (เนยเทียม) เนยขาว น้ำมันทอดซ้ำ กรดไขมันชนิดนี้ไม่เพียงเพิ่มระดับ LDL-c แต่ยังทำให้ HDL-c ลดลงอีกด้วย

อาหารหมวดไขมัน 1 ส่วนให้พลังงาน 45 กิโลแคลอรี
 อาหาร
 ปริมาณ/ปริมาตร
 ชนิดไขมัน
 น้ำมันจากพืช ไขมันสัตว์ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำมันไก่
 1 ช้อนชา
 ไขมันอิ่มตัว Saturated Fatty Acids,(SFAs)
 เบคอน
 1 ชิ้น
 กะทิ
 1 ช้อนโต๊ะ
 เนยสด Butter
 1 ช้อนชา
 เนยขาว Shortening
 1 ช้อนชา
 ครีมนมสด
 2 ช้อนโต๊ะ
 น้ำมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วลิสง
 1 ช้อนชา
 ไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว Monounsaturated fatty acid,(MUFAs)
 เนยถั่วลิสง
 1 ช้อนชา
 ถั่วลิสง
 10 เม็ด
 เม็ดมะม่วงหิมพานต์
 6 เม็ด
 น้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันดอกทานตะวัน
 1 ช้อนชา
 ไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง Polyunsaturated Fatty Acids, (PUFAs)
 มายองเนส
 1 ช้อนชา
 น้ำสลัด
 1 ช้อนโต๊ะ
 เมล็ดดอกทานตะวัน
 1 ช้อนโต๊ะ
 เมล็ดฟักทอง
 1 ช้อนโต๊ะ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์.โภชนาการสำหรับผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง. กรุงเทพฯ: บริษัท ไอดี ออล ดิจิตอล พริ้น จำกัด; 2560.
  2. ชนิดา ปโชติการ.พลังงานในอาหาร.จากพื้นฐานโภชนาการสู่ฉลากหวาน มัน เค็ม.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ; 2555.