โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตอน 4 สารอาหารที่สำคัญ (ต่อ)

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตอน-4

      

      หมวดที่ 3 ผัก

      ผักเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ อุดมไปด้วยเส้นใยที่ช่วยในระบบการขับถ่าย การรับประทานผักสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกชนิดให้เหมาะสมกับระยะของโรคไต และรับประทานในปริมาณที่ไม่มากเกินควร จึงจะสามารถรักษาความสมดุลของเกลือแร่ในเลือดให้ปกติได้ ไตมีหน้าที่ในการขับของเสียออกจากร่างกายแล้วยังมีหน้าที่ในการขับวิตามินและเกลือแร่ที่เกินจากความต้องการออกจากร่างกายด้วยเช่นกันผู้ที่เป็นโรคไตระยะ 1-3 ระดับโพแทสเซียมในเลือดไม่เกิน 5.0 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร สามารถรับประทานผักได้ตามต้องการ หากอยู่ในระยะ 4-5 มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงกว่า 5.0 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ควรหลีกเลี่ยงผักที่มีโพแทสเซียมสูง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับโพแทสเซียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้เหมือนคนปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงได้ ปกติผู้ที่เป็นโรคไตเรื้อรังควรได้รับโพแทสเซียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม/วันหรือ 39 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว (กก.) แหล่งอาหารที่มีโพแทสเซียมส่วนใหญ่จะมาจากผักและผลไม้ จึงเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยเลือกรับประทานผักที่มีโพแทสเซียมให้เหมาะสมกับสภาวะร่างกายของตนเอง

      วิธีลดโพแทสเซียมในผัก กรณีที่ผู้ป่วยต้องจำกัดโพแทสเซียมแต่จำเป็นต้องรับประทานผักกลุ่มที่มีโพแทสเซียมสูง สามารถทำได้ดังนี้

  • ปอกเปลือก หรือเด็ดผักให้เรียบร้อย
  • หั่นผักเป็นชิ้นเล็กๆ
  • ล้างผักเพื่อลดสารตกค้าง
  • แช่ผักในน้ำเปล่า 2 ชั่วโมง โดยเตรียมน้ำในอัตราส่วน 10 เท่าของผัก กรณีแช่นานกว่า 2 ชั่วโมงควรเปลี่ยนน้ำทุก 4 ชั่วโมง
  • นำผักไปประกอบอาหารได้ตามต้องการ

      แม้จะทำการลดโพแทสเซียมในผักไปแล้ว สำหรับผู้ป่วยที่มีโพแทสเซียมในเลือดสูงต้องจำกัดการรับประทานผักไม่เกิน 1 ทัพพีต่อมื้อ หากรับประทานมากเกินไปส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนอาจหยุดเต้นได้

      

ปริมาณโพแทสเซียมในผักชนิดต่างๆ
 ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม
 ปานกลาง 101-200 มิลลิกรัม
 มากกว่า 201 มิลลิกรัม
 กะหล่ำปลี แตงกวา บวบ ฟักเขียว ถั่วงอก ผักกาดแก้ว                               
 ถั่วลันเตา ถั่วพู ถั่วฝักยาว มะเขือยาว หน่อไม้ มะระ ผักคะน้า หัวผักกาดขาว มะละกอดิบ ถั่วงอก ต้นหอม พริกหวาน เห็ดนางฟ้า เห็ดเผาะ พริกฝรั่ง มะระจีน ตำลึง
 บร็อคโคลี มันฝรั่ง มันเทศ แครอท มะเขือเทศ ฟักทอง หัวปลี ผักชี ผักโขม ใบขี้เหล็ก ใบชะพลู ผักกระถิน เห็ดเปาฮื้อ ชะอม ต้นกระเทียม แครอท ยอดฟักทอง

      

      

แหล่งข้อมูล:

  1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์.โภชนาการสำหรับผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง. กรุงเทพฯ: บริษัท ไอดี ออล ดิจิตอล พริ้น จำกัด; 2560.
  2. ชนิดา ปโชติการ,สุนาฎ เตชางาม.จัดอาหารให้เหมาะสมเมื่อเบาหวานลงไต. ว.สมาคมนักกำหนดอาหาร 2551;28:7.
  3. สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย.แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคไตเรื้อรังก่อนการบำบัดทดแทนไต.กรุงเทพฯ: เบอริงเกอร์ อินเกลไฮม์ (ไทย);2552.
  4. ยุพา ชาญวิกรัย.โภชบำบัดสำหรับโรคไตเรื้องรังก่อนล้างไต. เวชสารแพทย์ทหารบก [อินเตอร์เน็ต]. 2555 [เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2561];65:51. เข้าถึงได้จาก: https://tci-thaijo.org/index.php/rtamedj/article/view/5377