โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ตอน 2 สารอาหารที่สำคัญ

โภชนบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังตอน-2

      

      ผู้ป่วยโรคไตยังคงต้องการสารอาหารทั้ง 6 หมวด ( Food exchange list) เช่นเดียวกับคนปกติ หรืออาหารหลัก 5 หมู่นั่นเอง (อาหาร 6 หมวดของ Food exchange จะแยก นมเป็นอาหารหมวดที่ 6 แยกออกจากหมวดโปรตีน) แต่ปริมาณความต้องการสารอาหารแต่ละชนิดอาจแตกต่างกันไปการให้คำแนะนำ คำปรึกษาด้านการบริโภคอาหารสำหรับโรคไตเรื้อรังมีความแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานของไต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดี ได้รับอาหารที่มีโปรตีนและพลังงานที่เหมาะสม ลดภาวะแทรกซ้อนจากความผิดปกติของสมดุลโซเดียม โปแตสเซียม แคลเซียม และฟอสฟอรัส ป้องกันการเกิดภาวะบวมน้ำ และช่วยชะลอการดำเนินของโรค

      ความต้องการพลังงาน

      ผู้ป่วยโรคไตเรื้องรังควรได้รับพลังงาน 30-35 กิโลแคลอรี่/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน แหล่งอาหารให้พลังงานได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน โดยมีสัดส่วนคาร์โบไฮเดรตร้อยละ 55 ของพลังงานทั้งหมด

      

สารอาหารที่แนะนำสำหรับผู้เป็นโรคไตเรื้อรังก่อนล้างไต
 โรคไตเรื้อรัง
 ระยะ 1-2
 ระยะ 3-5
 พลังงาน
 30-35 กิโลแคลอรี่/น้ำหนักตัว/วัน
 โปรตีน (กรัม / น้ำหนักตัว/วัน)
 0.8-1
 0.6-0.8
 คาร์โบไฮเดรต
 50-60 % ของพลังงานทั้งหมด ใยอาหาร 20-30 กรัม
 ไขมัน
 25-35% ของพลังงานทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว น้อยกว่า 7% โคเลสเตอรอล น้อยกว่า 200 มก./วัน
 โซเดียม
 2,000 – 2,400 มก./วัน
 โปแตสเซียม
 ไม่จำกัด
 2,000-3,000 มก./วัน (ปรับตามผลเลือด)
 ฟอสฟอรัส
 800 – 1,000 มก./วัน (ปรับตามผลเลือด)
 แคลเซียม
 1,000 – 1,500 มก./วัน ถ้ามี binder ควรจำกัดแคลเซียม น้อยกว่า 2,000 มก./วัน
 น้ำ
 ไม่จำกัด
 ปริมาณปัสสาวะ +500 มล.

      

      หมวด 1 โปรตีน

      ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรได้รับโปรตีน 0.6-0.8 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กก. /วัน ควรเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง (hight biological value, HBV) ร้อยละ 50 ของโปรตีนทั้งหมด โปรตีนคุณภาพสูง คือโปรตีนที่มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วน พบในเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่ เป็ด กุ้ง ปู ปลา หอย ไข่ นม และผลิตภัณฑ์จากนม โปรตีนคุณภาพต่ำคือ โปรตีนที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนจำเป็นที่ไม่ครบถ้วน อาหารในกลุ่มนี้ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง ธัญพืชต่าง เช่น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวโพด พืช ผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ประเภทเอ็น หนัง กระดูกอ่อน ผู้ป่วยโรคไตเมื่อไตเสื่อมมากขึ้น (ระยะ 3-5 ) ความสามารถในการขับของเสียจากโปรตีนจะลดลงตาม จึงต้องลดปริมาณการบริโภคโปรตีนลง โดยจำกัดการรับประทานเนื้อสัตว์ 1.5 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม/วัน การลดโปรตีนจากเนื้อสัตว์เป็นการลดฟอสฟอรัสไปในตัว เนื่องจากเนื้อสัตว์เป็นอาหารที่มีฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง

แหล่งข้อมูล:

  1. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์.โภชนาการสำหรับผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง. กรุงเทพฯ: บริษัท ไอดี ออล ดิจิตอล พริ้น จำกัด; 2560.
  2. ชนิดา ปโชติการ,สุนาฎ เตชางาม.จัดอาหารให้เหมาะสมเมื่อเบาหวานลงไต. ว.สมาคมนักกำหนดอาหาร2551;28:7.https://thedistrictweb.com/body/treat-chronic-kidney-disease/
  3. ยุพา ชาญวิกรัย.โภชบำบัดสำหรับโรคไตเรื้องรังก่อนล้างไต. เวชสารแพทย์ทหารบก [อินเตอร์เน็ต]. 2555 [เข้าถึงเมื่อ 1 มิถุนายน 2561];65:49. เข้าถึงได้จากhttps://tci-thaijo.org/index.php/rtamedj/article/view/5377