โฟลิก โฟเลต เพื่อลูกรัก (ตอนที่ 3)

โฟลิกโฟเลตเพื่อลูกรัก

สำหรับแหล่งอาหารที่มีโฟเลต เช่น

  • ผักใบเขียว เช่น ผักปวยเล้ง (Spinach) บร็อคโคลี (Broccoli) และ ผักกาดหอม (Lettuce)
  • ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วลันเตา (Peas) ถั่วเลนทิล (Lentils)
  • ผลไม้ เช่น มะนาว กล้วย เมล่อน
  • ผลิตภัณฑ์ที่มีการเติมสารอาหาร เช่น ขนมปัง น้ำผลไม้ ซีเรียล (Cereals)

เนื่องจากการได้รับโฟเลตตามธรรมชาติอาจไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีการใช้กรดโฟลิคเป็นอาหารเสริมมาตราฐานสำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่มีแผนจะมีบุตร เพราะกรดโฟลิคช่วยลดความเสี่ยงของเด็กพิการแต่กำเนิดได้ถึงร้อยละ 50-70

และเนื่องจากความพิการแต่กำเนิดมีโอกาสเกิดขึ้นในอาทิตย์ที่ 3-4 ของการตั้งครรภ์ ดังนั้น หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control = CDC) จึงแนะนำให้ผู้หญิงได้รับกรดโฟลิคทุกวันอย่างน้อย 1 เดือนก่อนการตั้งครรภ์และตลอดการตั้งครรภ์

โดยกรดโฟลิคสามารถช่วยป้องกันทารกจาก

  • ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina bifida)
  • ภาวะที่ไม่มีสมองและกระโหลกศีรษะ (Anencephaly)
  • ภาวะหรือโรคปากแหว่งเพดานโหว่ (Cleft lip and palate)
  • การคลอดก่อนกำหนด (Premature birth)
  • น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย (Low birth weight)
  • การเจริญเติบโตในมดลูกไม่เต็มที่ (Poor growth in the womb)

นอกจากนี้กรดโฟลิคยังช่วยลดความเสี่ยงของ

  • การแท้งบุตร (Miscarriage )
  • อาการแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)
  • ภาวะโลหิตจาง (Anemia)
  • โรคหัวใจ (Heart disease)
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
  • โรคมะเร็งบางชนิด
  • โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
  • ลดความเป็นพิษของยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) และรักษาภาวะอื่นๆ (อยู่ระหว่างการศึกษา)

อย่างไรก็ดี แม้กรดโฟลิคจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งบางชนิด แต่ก็ได้มีงานวิจัยบางฉบับที่ระบุว่า การได้รับอาหารเสริมกรดโฟลิคที่ในปริมาณที่มาก อาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งบางชนิดได้ เพราะทำให้ก้อนเนื้อโตขึ้น เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer) มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) เป็นต้น ทั้งนี้ ก็ยังคงต้องรอผลการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป

บรรณานุกรม

1. Folate (Folic Acid). http://www.webmd.com/diet/supplement-guide-folic-acid#1 [2017, March 8].

2. Folic Acid and Pregnancy. http://www.webmd.com/baby/folic-acid-and-pregnancy#1 [2017, March 8].