โฟลิก โฟเลต เพื่อลูกรัก (ตอนที่ 1)

โฟลิกโฟเลตเพื่อลูกรัก

มีสถิติจากองค์การอนามัยโลก ระบุให้ทราบว่า ทุกๆ ปีบนโลกใบนี้ จะมีเด็กที่เกิดมาพิการประมาณ 30,000 คน และมีแนวโน้มว่าจะเป็นตัวเลขที่สะสมต่อไปเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชากรบนโลกใบนี้ต้องตระหนักและให้ความสำคัญในการหาทางป้องกันแก้ไข

ทั้งนี้ เมื่อวันแห่งความรักที่เพิ่งจะผ่านไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ร่วมกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิดประเทศไทย กรุงเทพมหานคร และ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดกิจกรรมเปิดเผยให้หนุ่มสาวที่จะมีบุตร ได้รับทราบถึงวิธีการป้องกันมิให้ลูกที่เกิดมาต้องกลายเป็นเด็กพิการแต่กำเนิด

ภายในงาน ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ หัวหน้าโครงการระดับชาติพัฒนาต้นแบบจังหวัดและอำเภอเพื่อป้องกันและดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิดในประเทศไทย สสส.และนายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด กล่าวว่า การป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิดสามารถทำได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ปรับนิสัยการกินอาหารโดยกินผักใบเขียวที่มีโฟเลตสูงให้ได้อย่างน้อย 0.4 มิลลิกรัมต่อวัน หรือกินวิตามินโฟลิกในรูปแบบเม็ด

โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์ควรกินสัปดาห์ละ 1 เม็ด ส่วนหญิงที่ต้องการจะมีลูกต้องกินก่อนตั้งท้อง 3 เดือน ต่อเนื่องจนถึง 3 เดือนแรกของการตั้งท้อง ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากความพิการ ได้แก่ หลอดประสาทไม่ปิด ปากแหว่งเพดานโหว่ ความผิดปกติของแขนขา หัวใจพิการแต่กำเนิด ระบบทางเดินปัสสาวะผิดปกติ ไม่มีรูทวารหนัก และกลุ่มอาการดาวน์

ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ ย้ำว่า ยังมีความเข้าใจที่ผิดว่า เมื่อตั้งครรภ์ถึงจะกินวิตามินโฟลิก แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องกินก่อนท้อง เพราะวิตามินโฟลิกจะช่วยการสร้างและแบ่งเซลล์ในตัวอ่อนให้สมบูรณ์ตั้งแต่หลังปฏิสนธิภายใน 28 วัน จึงต้องกินก่อนท้อง

ซึ่งวิตามินนี้ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ราคาเม็ดละไม่เกิน 1 บาท ขนาด 5 มิลลิกรัม และขณะนี้มี 85 ประเทศทั่วโลกที่เห็นความสำคัญของการป้องกันเด็กพิการแต่กำเนิดจึงผสมโฟลิกในอาหารและออกเป็นกฎหมายแล้ว

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันอายุของคู่สมรสที่มาจดทะเบียนมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเจนวายที่เกิดระหว่างปี พ.ศ.2525-2548 ที่ผู้ชายแต่งงานอายุเฉลี่ย 29 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ที่อายุ 28 ปี ซึ่งการแต่งงานที่ช้าลงและการมีบุตรในอายุมากขึ้น ทำให้เพิ่มโอกาสความเสี่ยงทางสุขภาพ โดยเฉพาะหากมีลูกอายุ 35 ปีขึ้นไป จะเสี่ยงต่ออาการดาวน์ 2-3 เท่า

นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มของคู่ที่มาจดทะเบียนสมรสมีอายุมากขึ้นและอัตราการมีลูกลดลง โดยเฉลี่ยไม่ถึง 2 คน โจทย์สำคัญที่ตามมาคือ ทำอย่างไรจะได้ประชากรที่เกิดน้อยมีคุณภาพ โดยเฉพาะการลดความเสี่ยงจากความพิการแต่กำเนิดจะช่วยประหยัดรายจ่ายของประเทศถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี

บรรณานุกรม

1. สร้างทายาทคุณภาพ ด้วย ‘โฟลิก’. http://www.thaihealth.or.th/Content/35413-สร้างทายาทคุณภาพ ด้วย ‘โฟลิก’.html [2017, March 6].