โพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone-iodine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone-iodine) เป็นสารประกอบที่มีธาตุไอโอดีนเป็นองค์ประกอบประมาณ 9 - 12% สูตรตำรับนี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 (พ.ศ. 2498) และได้ผ่านการใช้กับสัตว์ทดลองจนพิสูจน์ว่าเป็นสูตรตำรับของไอโอดีนที่ก่อให้เกิดพิษต่อสิ่งมีชีวิตน้อยกว่าทิงเจอร์ไอโอดีน (Tincture of iodine) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยายับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในบริเวณบาดแผล รวมถึงใช้เป็นยาสำหรับปฐมพยาบาลในผู้ป่วยที่ได้รับบาดแผลจากของมีคม แผลถลอกและแผลไหม้ ตัวยาโพวิโดน-ไอโอดีนยังสามารถฆ่าเชื้อชนิดอื่นๆที่นอกเหนือจากแบคทีเรียได้เช่น เชื้อรา โปรโตซัว/เชื้อสัตว์เซลล์เดียว และเชิ้อไวรัส

อย่างไรก็ตามยังมีข้อควรระวังบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบก่อนการใช้ยาโพวิโดน-ไอโอดีน เช่น

  • ผู้บริโภคต้องไม่มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาโพวิโดน-ไอโอดีนมาก่อน
  • ต้องไม่ใช้ยาโพวิโดน-ไอโอดีนกับแผลไหม้ระดับที่รุนแรงหรือกับบาดแผลฉีกขาดในระดับลึกของผิวหนัง
  • ขณะใช้ยานี้แล้วมีอาการผด/ผื่นคันขึ้นตามผิวหนัง ส่อให้เห็นถึงอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้น ผู้บริโภคจะต้องหยุดใช้ยานี้ทันทีแล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรหากมีความประสงค์จะใช้ยาโพวิโดน-ไอโอดีน ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนจะเป็นการดีที่สุด
  • การใช้ยาโพวิโดน-ไอโอดีนไม่ควรใช้เป็นบริเวณกว้างเกินความจำเป็น และไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันนานเกิน 7 วันนอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์

ยาโพวิโดน-ไอโอดีนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบเห็นบ่อยคือ ระคายเคืองต่อผิวหนังที่สัมผัสกับตัวยา

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้สูตรตำรับของยาโพวิโดน-ไอโอดีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลต่างๆควรต้องมีสำรองไว้ให้บริการต่อผู้ป่วยที่มาขอรับบริการ ประเทศไทยมีการใช้ยานี้เป็นยาประจำบ้านอย่างแพร่หลาย

หากผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับยาโพวิโดน-ไอโอดีนเพิ่มเติม สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้กับแพทย์หรือกับเภสัชกรได้

โพวิโดน-ไอโอดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โพวิโดน-ไอโอดีน

ยาโพวิโดน-ไอโอดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ป้องกันและยับยั้งการติดเชื้อบริเวณบาดแผลเช่น แผลจากของมีคม แผลไหม้ แผลถลอก
  • ใช้ป้องกันการติดเชื้อของบาดแผลจากการผ่าตัด

โพวิโดน-ไอโอดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโพวิโดน-ไอโอดีนคือ ตัวยาจะปลดปล่อยสารไอโอดีนเข้าสู่ตัวเชื้อโรคโดยการแทรกซึมผ่านผนังเซลล์ จากนั้นจะเกิดการรบกวนการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้สร้างโปรตีนเพื่อการแบ่งตัวของเซลล์ของเชื้อโรค ส่งผลทำให้เชื้อโรคหยุดการแบ่งเซลล์ไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้และตายลงในที่สุด จากกลไกเหล่านี้ทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โพวิโดน-ไอโอดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโพวิโดน-ไอโอดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • เป็นสารละลายขนาดความเข้มข้น 10% สำหรับเช็ดแผล/ทำแผล
  • เป็นสารละลายขนาดความเข้มข้น 7.5% สำหรับใช้ในห้องผ่าตัด
  • เป็นขี้ผึ้งทาแผลขนาดความเข้มข้น 10%

โพวิโดน-ไอโอดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขอยกตัวอย่างการใช้ยาโพวิโดน-ไอโอดีนในกรณีสำหรับใช้เป็นยาใส่แผล/ทำแผลดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: ทายาในบริเวณบาดแผลโดยใช้ปริมาณและความถี่ของการทายาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยาหรือตามคำสั่งแพทย์/พยาบาล

*อนึ่งหลังการใช้ยานี้ตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดหรือประมาณ 2 - 3 วันแล้วบาดแผลยังไม่ดีขึ้นหรือบาดแผลเลวลง ควรต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล และมีความเป็นไปได้ว่า แพทย์อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะเข้ามาร่วมรักษาด้วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโพวิโดน-ไอโอดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโพวิโดน-ไอโอดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาโพวิโดน-ไอโอดีนสามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายา ในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โพวิโดน-ไอโอดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโพวิโดน-ไอโอดีนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ระคายเคืองต่อผิวหนังที่สัมผัสยา อาจมีผื่นคันได้บ้างในผิวหนังที่สัมผัสยานี้

กรณีทายานี้แล้วมีอาการแพ้ยานี้เช่น รู้สึกอึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ให้หยุดการใช้ยานี้ทันทีและรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้โพวิโดน-ไอโอดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโพวิโดน-ไอโอดีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยาโพวิโดน-ไอโอดีน
  • ห้ามรับประทานรวมถึงห้ามมิให้ยานี้เข้าตา
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 1.5 กิโลกรัม ด้วยไอโอดีนในตัวยาอาจซึมเข้าร่างกายเด็กจนก่ออันตรายต่อเด็กได้เช่น มีไข้ ขึ้นผื่น ชัก
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กเล็ก ควรต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับแผลฉีกขาดระดับลึกถึงชั้นเนื้อเยิ่อใต้ผิวหนังรวมถึงแผลไหม้ในระดับรุนแรง
  • หากใช้ยานี้ไปสักระยะหนึ่ง (ประมาณ 2 - 3 วัน) แล้วบาดแผลไม่ดีขึ้นหรือบาดแผลเลวลง ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์จะได้ประเมินการรักษาเพิ่มเติม
  • มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอเพื่อแพทย์ติดตามการหายของบาดแผล
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

**** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโพวิโดน-ไอโอดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โพวิโดน-ไอโอดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโพวิโดน-ไอโอดีนเป็นยาทาภายนอก/ยาใช้ภายนอกและใช้เฉพาะที่ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) จึงยังไม่มีรายงานพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับ ประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาโพวิโดน-ไอโอดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาโพวิโดน-ไอโอดีนในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยา ในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

โพวิโดน-ไอโอดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโพวิโดน-ไอโอดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Bactedene (แบคทีดีน)MacroPhar
Betadine (เบตาดีน)Mundipharma
Betamed (เบตาเมด) Medicpharma
Eprodine (อีโพรดีน)Sinopharm
Ipodine (ไอโพดีน) GPO
Isodine/Isodine Spray (ไอโซดีน/ไอโซดีน สเปรย์) Meiji
Pactadine (แพคตาดีน)Inpac Pharma
Povidine-T Man (โพวิดีน-ทีแมน)T.Man Pharma
Povidone-Iodine Scrub B L Hua (โพวิโดน-ไอโอดีน สครับ บี เอ็ล ฮั้ว)B L Hua
Povidone-Iodine T.O. (โพวิโดน-ไอโอดีน ที.โอ.) T. O. Chemicals
Septidine (เซพทิดีน)Osoth Interlab

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Povidone-iodine [2016,April30]
  2. http://www.drugs.com/cdi/operand-douche.html [2016,April30]
  3. http://www.healio.com/optometry/therapeutics/news/print/primary-care-optometry-news/%7B30c8c986-33f4- 4561-9d29-1314684fa7e7%7D/povidone-iodine-useful-for-more-than-preoperative-antisepsis [2016,April30]
  4. http://www.woundsinternational.com/media/issues/417/files/content_9860.pdf [2016,April30]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/betadine/ [2016,April30]
  6. https://www.cloroxprofessional.com/assets/pdf/Aplicare/NI-18629-AFH-BC-AplicareBro.pdf [2016,April30]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=povidone%20iodine&page=1 [2016,April30]