โพรไบโอติก จุลินทรีย์มหัศจรรย์ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

โพรไบโอติกจุลินทรีย์มหัศจรรย์

และยังมีผลงานวิจัยบางฉบับที่พบว่าโพรไบโอติกสามารถช่วยแก้ปัญหาในส่วนอื่นของร่างกายด้วย ตัวอย่างเช่น

  • อาการผื่นแพ้ที่เกิดจากกรรมพันธุ์ (Atopic dermatitis / eczema) และโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis / hay fever)
  • ปัญหาสุขภาพของทางเดินปัสสาวะและช่องคลอด (Urinary and vaginal health)
  • ปัญหาสุขภาพของช่องปาก เช่น ฟันผุ โรคปริทันต์ (Periodontal disease)
  • โรคปวดท้องในเด็กทารก หรือที่เรียกว่า อาการโคลิคในเด็กทารก (Colic in infants)
  • โรคตับ (Liver disease)
  • ป้องกันอาการแพ้ (Allergies) และไข้หวัดธรรมดา (Common cold)
  • ป้องกันภาวะลำไส้เน่า (Necrotizing enterocolitis) ในทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักตัวน้อย

อย่างไรก็ดี นักวิจัยก็ยังคงต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไปว่า โพรไบโอติกใดที่มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ และเราต้องการโพรไบโอติกเท่าไรจึงจะเกิดประโยชน์

นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้พูดถึงเรื่องความปลอดภัยและผลข้างเคียงของโพรไบโอติกด้วยว่า ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละคนด้วย กล่าวคือ

  • ในคนทั่วไปที่มีสุขภาพดี โพรไบโอติกมักจะให้ผลที่ปลอดภัย แม้จะมีผลข้างเคียงก็เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
  • ส่วนในคนที่มีสุขภาพไม่ดี โพรไบโอติกอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น ผู้ป่วยที่มีปัญหาในการรักษา ผู้ที่มีการติดเชื้ออันตราย ผู้ที่ได้รับการผ่าตัด ทารกที่ป่วยมาก และผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานที่อ่อนแอ หรือแม้แต่เด็ก หญิงมีครรภ์ และผู้สูงอายุ

และเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการศึกษาวิจัยจากโพรไบโอติกที่เป็น Lactobacillus และ Bifidobacterium เท่านั้น ดังนั้นจึงไม่สามารถกล่าวได้ว่าโพรไบโอติกทุกตัวจะให้ผลได้เช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ได้จัดให้โพรไบโอติกเป็นอาหาร ไม่ใช่ยา เพราะมีความปลอดภัยในคนส่วนใหญ่ แม้จะมีบางคนที่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น อาการปวดท้อง ท้องเสีย มีแก็ส

อย่างไรก็ดี FDA ก็ยังไม่ได้รับรองอย่างเป็นทางการว่า โพรไบโอติกสามารถใช้ในการป้องกันหรือรักษาปัญหาสุขภาพได้ ดังนั้น การโฆษณาทางการตลาดในการใช้โพรไบโอติกก็อาจจะมีมากเกินกว่าผลงานวิจัยที่รองรับ

อนึ่ง เราสามารถพบโพรไบโอติกได้จากอาหารหมัก (Fermented product) อย่าง

  • นมเปรี้ยวคีเฟอร์ (Kefir) – เป็นผลิตภัณฑ์นมที่ประกอบด้วยแบคทีเรียและยีสต์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย
  • กิมจิ – ซึ่งมีแบคทีเรียหลายตัวที่ช่วยในการป้องกันโรคมะเร็ง โรคอ้วน ท้องผูก ลำไส้มีปัญหา ช่วยลดระดับคลอเลสเตอรอล ช่วยบำรุงสมอง ระบบภูมิต้านต้าน และสุขภาพผิว
  • โยเกิร์ต - ช่วยลดโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ และอาการแพ้ ทั้งยังช่วยในเรื่องฟันและกระดูก
  • นอกจากนี้ยังมีอาหารอื่นๆ อีก เช่น มิโซะ (Miso) เทมเป้ (Tempeh) หรือถั่วหมัก ซาวเคราท์ (Sauerkraut) หรือกะหล่ำปลีหมัก ขนมปังแป้งเปรี้ยว ( (Sourdough bread) แตงกวาดอง เป็นต้น
  • แหล่งข้อมูล

    1. What Are Probiotics?. http://www.webmd.com/digestive-disorders/features/what-are-probiotics [2016, August 24].

    2. Probiotics: In Depth. https://nccih.nih.gov/health/probiotics/introduction.htm [2016, August 24].

    3. Probiotics. http://www.medicinenet.com/probiotics/article.htm [2016, August 24].