โพรไบโอติก จุลินทรีย์มหัศจรรย์ (ตอนที่ 2)

โพรไบโอติกจุลินทรีย์มหัศจรรย์

โพรไบโอติก (Probiotics) เป็นจุลินทรีย์มีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพหรือจุลินทรีย์ชนิดที่ดี มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกของคำว่า “Pro” ที่แปลว่า “ส่งเสริม” และ “Biotic” ซึ่งหมายถึง “ชีวิต” โดยมี Elie Metchnikoff ที่ถือว่าเป็น “บิดาของโพรไบโอติก (Father of probiotics) เป็นผู้เริ่มศึกษาถึงความมีอายุยืนของชาวบัลแกเรีย และค้นพบโพรไบโอติก

ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงความแตกต่างของคำว่า “พรีไบโอติก” (Prebiotics) ว่าไม่เหมือนกับ “โพรไบโอติก” (Probiotics) และซินไบโอติก (Synbiotics) กล่าวคือ พรีไบโอติก เป็นสารอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ดีให้มีมากกว่าว่าแบคทีเรียที่ไม่ดี ส่วนซินไบโอติกนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่รวมเอาโพรไบโอติกและพรีไบโอติกเข้าด้วยกัน

เพราะโพรไบโอติกที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจะต้องเป็นจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้นขั้นตอนการดูแล การเก็บรักษา จึงสำคัญต่อการมีชีวิตของโพรไบโอติก มิฉะนั้นจุลินทรีย์อาจตายและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น อุณหภูมิที่เหมาะสมของโยเกิร์ต เป็นต้น

เราสามารถพบโพรไบโอติกได้ในร่างกายตามธรรมชาติ ในอาหาร และในผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือแม้แต่ครีมผิวหนัง โพรไบโอติกสามารถช่วยรักษาสมดุลในระบบทางเดินอาหาร และเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง ลดภาวะภูมิแพ้ อีกทั้งยังช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น

มีจุลินทรีย์ที่เป็นแบคทีเรียหลายชนิดถูกจัดว่าเป็นโพรไบโอติกและให้ประโยชน์ที่แตกต่างกันไป โดยโพรไบโอติกมีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่โดดเด่นมากที่สุดและนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหาร ได้แก่

สายพันธุ์ Bifidobacterium lactis หรือที่หลายคนคุ้นหูกันในชื่อ B. lactis ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่ามีความปลอยภัยต่อร่างกายสูง สามารถทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร และอยู่ในลำไส้ได้นานกว่า ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีกว่าจุลินทรีย์ชนิดอื่นๆ

รวมถึงสายพันธุ์ Lactobacillus rhamnosus GG (LGG) ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่สามารถเกาะติดกับเยื่อบุลำไส้ได้เหนือกว่าจุลินทรีย์ตัวอื่นๆ คอยเป็นเกราะป้องกันชั้นดีเพื่อไม่ให้จุลินทรีย์ก่อโรคเข้าสู่ร่างกาย และยังมีนักวิจัยนำไปศึกษามากที่สุดในโลกกว่า 700 ฉบับ รวมถึงมีการค้นพบว่า LGG มีคุณสมบัติในเรื่องการเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันอีกด้วย

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทำการศึกษาและพบว่า โพรไบโอติกสามารถช่วยป้องกันและรักษาสุขภาพของระบบย่อยอาหารได้ ดังนี้

  • โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable bowel syndrome = IBS)
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease = IBD)
  • ท้องเสียที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ (Infectious diarrhea) เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือปรสิต
  • โรคท้องเสียที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic-related diarrhea)

แหล่งข้อมูล

1. เตือนภัย! ไลฟ์สไตล์สาวยุคใหม่ อาจทำร้ายถึงระบบภูมิคุ้มกัน. http://www.thairath.co.th/content/654602 [2016, August 23].

2. What Are Probiotics?. http://www.webmd.com/digestive-disorders/features/what-are-probiotics [2016, August 23].

3. Probiotics: In Depth. https://nccih.nih.gov/health/probiotics/introduction.htm [2016, August 23].

4. Probiotics. http://www.medicinenet.com/probiotics/article.htm [2016, August 23].