โพรพอลิส/กาวชันผึ้ง (Propolis/Beeglue)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โพรพอลิส(Propolis) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘กาวชันผึ้ง’ มีลักษณะคล้ายกับสารจำพวกเรซิ่น(Resinous mixture) มีสีออกน้ำตาลไหม้ นักวิทยาศาสตร์พบว่า โพรพอลิส มีส่วนประกอบของ น้ำลายผึ้ง ขี้ผึ้ง และยางหรือชันของต้นพืชชนิดต่างๆ ส่งผลให้โพรพอลิส มีลักษณะเหนียวข้นที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียสขึ้นไป กรณีที่อุณหภูมิต่ำกว่านี้จะทำให้เกิดลักษณะแข็งและเปราะขึ้น แมลงจำพวกผึ้งจะใช้โพรพอลิสเป็นส่วนประกอบสำคัญในการสร้างรัง ด้วยความเหนียวจะทำให้โครงสร้างของรังผึ้งแข็งแรงและเป็นฉนวนกันความร้อนได้อย่างดี หรือแม้แต่การใช้โพรพอลิสในการซ่อมแซมผนังของรังที่ชำรุด

นอกเหนือจากประโยชน์ดังกล่าว ผึ้งยังใช้โพรพอลิสในการป้องกันโรคและปรสิตที่เป็นอันตรายต่อตัวอ่อนด้วยองค์ประกอบต่างๆของโพรพอลิสสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย เคยมีผู้ค้นพบว่า หากรังผึ้งมีซากของแมลงบุกรุกหรือสัตว์ตัวเล็กๆอย่างเช่น จิ้งจก เข้าไปตายในรังผึ้งและกลุ่มผึ้งงานไม่สามารถขนย้ายนำซากเหล่านั้นมาทิ้งนอกรังผึ้ง จะใช้โพรพอลิสเคลือบปิดทับซากแมลงและซากสัตว์เพื่อป้องกันการบูดเน่าจึงดูเหมือนกับการทำมัมมี่ของมนุษย์ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ซากดังกล่าวไม่สามารถก่อโรคหรือทำอันตรายต่อกลุ่มผึ้งได้อีกต่อไป

ส่วนประกอบสำคัญของโพรพอลิสมีอะไรบ้าง?

โพรพอลิส

อาจกล่าวได้ว่า โพรพอลิส หรือ กาวชันผึ้ง มีองค์ประกอบของชันหรือยางไม้ บางทีเราก็เรียกว่า ‘บาลซัมส์(Balsams)’ถึงประมาณ 50%, ไขหรือขี้ผึ้งอีกประมาณ 30%, น้ำมันหอมระเหยประมาณ 10%, และเกสรดอกไม้อีกประมาณ 5%

ฤดูกาลต่างๆในแต่ละช่วงเวลาของปีหนึ่งๆ จะทำให้ยางหรือชันไม้ที่ผึ้งเข้าไปเก็บมีส่วนประกอบที่แตกต่างกันออกไป ส่งผลให้สีสันและลักษณะของโพรพอลิสที่เก็บได้จากพื้นที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกันเลย เช่น สีน้ำตาลเข้ม สีเขียว สีแดง ดำ หรือแม้แต่สีนวลออกขาว ยางจากต้นไม้หลายชนิดมีสรรพคุณในการสมานแผลและช่วยต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย อาทิ ยางของต้นปอปลาร์(Poplar) และยางจากพืชจำพวกต้นสน(Conifers)

จากการค้นคว้าเพิ่มเติมพบว่า โพรพอลิสจากแหล่งต่างๆ มีส่วนประกอบของสารจำพวก Isoflavonoids, 3-hydroxy-8,9-dimethoxypterocarpan , Medicarpin, Galangin, Pinocembrin, Caffeic acid phenethyl ester และสารประกอบเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ มนุษย์นำเอาโพรพอลิส มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อไป

โพรพอลิสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ในอดีต มีการนำโพรพอลิสมาเข้าตำรับยาสมุนไพรเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บคอจากโรคหวัด, รักษาเริมที่ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ, ลดอาการปวดที่เกิดจากแผลผ่าตัดภายในช่องปาก

ยังมีงานวิจัยที่ นำโพรพอลิสมาควบคุมการเจริญเติบโตของเชื้อรา อย่างเช่น Candida albicans และใช้เป็นยาบำรุงและกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย

ประโยชน์ด้านอื่นๆ มนุษย์ได้ใช้โพรพอลิสในอุตสาหกรรมทำหมากฝรั่ง ใช้เป็นสารเคลือบสายของเครื่องดนตรีอย่างไวโอลิน วิโอลา เชลโลและสายเบส หรือใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำยาขัดเงารถยนต์ เป็นต้น

โพรพอลิสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ด้านเภสัชกรรมคลินิกของโพรพอลิสที่ดูจะโดดเด่นที่สุดเห็นจะได้แก่ ฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ตลอดจนฤทธิ์ต้านการอักเสบ และช่วยสมานแผล ซึ่งมาจากสารประกอบต่างๆในยางไม้ของโพรพอลิสนั่นเอง

โพรพอลิสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

โพรพอลิสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • อินโดนีเซีย: ผลิตโพรพอลิสออกมาเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 500 มิลลิกรัม/เม็ด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานโรคของร่างกาย
  • ฟิลิปปินส์: มีผลิตภัณฑ์โพรพอลิสในรูปแบบอาหารเสริมชนิดแคปซูลสำหรับรับประทาน โดยเพิ่มองค์ประกอบของ วิตามินอี, Astaxanthin, Flaxseed oil, และ Probiotics
  • มาเลเซีย: ผลิตยาทาแบบขี้ผึ้งบรรเทาอาการแผลไหม้ ผื่นคัน แผลเลือดออก ตลอดจนใช้ทารักษาริดสีดวงทวาร
  • ฮ่องกง: มีผลิตภัณฑ์ประเภทเจลที่ใช้ในคลินิกทันตกรรมสำหรับบำรุงฟัน
  • ไทย: เช่น
    • ผลิตภัณฑ์โพรพอลิสที่ขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย. มีชื่อว่า Propoliz plus extherb, เลขทะเบียนตำรับยา(ยาแผนโบราณ) G 15068/61 (H) [บรรณานุกรม ที่9] โดยประเภทยา เป็นยาใช้เฉพาที่ หมวดยาน้ำสำหรับพ่น
    • นอกจากนี้ ยังอาจพบเห็นผลิตภัณฑ์ในลักษณะอื่นๆอีก เช่น น้ำยาบ้วนปาก, เม้าท์สเปรย์(Mouth spay), และ ยาอม

โพรพอลิสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลข้างเคียง /ผลไม่พึงประสงค์ ที่อาจพบเห็นจากการใช้ผลิตภัณฑ์โพรพอลิส ได้แก่ ทำให้เกิด อาการแพ้ของร่างกายโดยเฉพาะผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์จากผึ้ง

มีข้อควรระวังการใช้โพรพอลิสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โพรพอลิส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ผลิตภัณฑ์ต่างๆจากผึ้ง
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์โพรพอลิสกับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ด้วยมีข้อมูล การใช้ผลิตภัณฑ์กับกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวน้อยมาก
  • การใช้ผลิตภัณฑ์โพรพอลิสกับเด็ก ควรเป็นคำแนะนำจากแพทย์เท่านั้น ด้วยยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดการใช้ในเด็กที่ชัดเจน
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วย โรคหอบหืด/โรคหืด/อาการหอบหืด เพราะมีรายงานว่าผลิตภัณฑ์โพรพอลิสอาจทำให้อาการหอบหืดแย่ลงกว่าเดิม
  • หลีกเลี่ยงการใช้โพรพอลิสกับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่าย ด้วยโพรพอลิสอาจทำให้ กระบวนการแข็งตัวของเลือดช้าลง
  • ศึกษาตัวผลิตภัณฑ์และทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ หรือสอบถามข้อมูลจาก ผู้เชี่ยวชาญหรือศึกษาจากเอกสารกำกับผลิตภัณฑ์โดยละเอียด ก่อนใช้โพรพอลิสเสมอ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมผลิตภัณฑ์โพรพอลิสด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โพรพอลิสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลการเกิดปฏิกิริยาระหว่างโพรพอลิสกับยาแผนปัจจุบันชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาโพรพอลิสอย่างไร?

การเก็บรักษาโพรพอลิส เช่น

  • สามารถเก็บผลิตภัณฑ์โพรพอลิสภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บผลิตภัณฑ์โพรพอลิสในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ไม่เก็บผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งผลิตภัณฑ์โพรพอลิสลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

โพรพอลิสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

โพรพอลิส มีชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Propoliz Mouth Spray (โพรพอลิส เม้าท์สเปรย์ )เฮเว่น เฮิร์บ
Propoliz Mouth Wash (โพรพอลิส เม้าท์วอช)เฮเว่น เฮิร์บ
Propoliz Lozenge (โพรพอลิส โลเซ้ง)เฮเว่น เฮิร์บ
Propoliz Plus Exherb (โพรพอลิส พลัส เอ็กซ์เฮิร์บ) เฮเว่น เฮิร์บ
Bee propolis (บีโพรพอลิส)HDI
Dologel (โดโลเจล)Gilbert Laboratoires
Lichensed Syrup (ไลเจนเซด ไซรับ)PromoPharma

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Propolis#Traditional_medicine_and_research [2019,March2]
  2. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-390/propolis [2019,March2]
  3. http://www.mims.com/indonesia/drug/info/hdi%20origins%20-%20bee%20propolis [2019,March2]
  4. https://www.mims.com/singapore/drug/info/lichensed%20syrup/?type=brief [2019,March2]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=PropoLIS [2019,March2]
  6. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/hemopropin/?type=brief [2019,March2]
  7. http://www.mims.com/philippines/drug/info/ohhira-s%20propolis [2019,March2]
  8. https://www.drugs.com/npc/propolis.html [2019,March2]
  9. http://pertento.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_DRUG/SEARCH_DRUG/pop-up_drug.aspx?Newcode_U=U1DRG1082611506811C [2019,March2]
  10. https://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx [2019,March2]