โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Potassium channel blocker)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโปแตสเซียม/โพแทสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Potassium channel blocker)เป็นกลุ่มยาที่มีการออกฤทธิ์ยับยั้งการนำส่งประจุของเกลือโปแตสเซียมผ่านเข้าเซลล์ของสิ่งมีชีวิต เราจะพบโปแตสเซียมแชนแนล(Potassium channel,ช่องทางเข้าเซลล์ของโปแตสเซียม)ได้ในบริเวณเซลล์ประสาทและเซลล์กล้ามเนื้อต่างๆ ปริมาณการนำส่งเกลือที่มีประจุอย่างโปแตสเซียมมากจนผิดปกติ สามารถสร้างความต่างศักย์ของไฟฟ้าภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และส่งผลต่อการเต้นของหัวใจได้ เช่น ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นเร็ว กลุ่มยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์จึงเข้ามามีบทบาทรักษาอาการของหัวใจดังกล่าว

อาจจำแนกยาในกลุ่มโปแตสเซียม/โพแทสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ออกเป็นรายการย่อยดังนี้

  • ยา Amiodarone: ใช้รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ และถูกใช้อย่างกว้างขวางในการรักษาอาการหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ รูปแบบของเภสัชภัณฑ์เป็นทั้งยารับประทานและยาฉีด องค์การอนามัยโลกรับรองให้เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย
  • ยา Dronedarone: ใช้รักษาอาการหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ เต้นถี่ ยานี้มีโครงสร้างทางเคมีใกล้เคียงกับยา Amiodarone แต่มีระยะเวลากำจัดออกจากร่างกายสั้นกว่ายา Amiodarone รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยารับประทาน ในประเทศไทยจัดให้ยานี้เป็นประเภทยาควบคุมพิเศษ ซึ่งมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
  • ยา Bretylium: ใช้รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว เต้นผิดจังหวะ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยาฉีดเท่านั้น ผลข้างเคียงของยานี้คือทำให้เกิดความดันโลหิตสูงและตามมาด้วยภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจเป็นเหตุผลจากอาการข้างเคียงดังกล่าว เราจึงไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยานี้ ประเทศไทยก็ยังไม่มีการจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใด
  • ยา Sotalol: ใช้รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว รวมถึงบำบัดอาการหัวใจห้องบนเต้นถี่หรือเต้นผิดจังหวะ มีการออกฤทธิ์ทั้งแบบ เบต้าบล็อกเกอร์(Beta blocker) และเป็นโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ยา Sotalol ที่มีจำหน่ายเป็นยาชนิดรับประทานและพบเห็นการจัดจำหน่ายแต่ในต่างประเทศ
  • ยา Ibutilide: ใช้บำบัดอาการหัวใจห้องบนเต้นถี่ เต้นผิดจังหวะ เภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยาฉีด นอกจาก Ibutilide มีฤทธิ์เป็นโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์แล้ว ยังแสดงฤทธิ์ของการนำส่งประจุเกลือโซเดียมเข้าสู่เซลล์ได้อีกด้วย ยานี้อาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะได้ และยังไม่พบเห็นการจำหน่ายในประเทศไทย
  • Dofetilide: ใช้บำบัดอาการหัวใจห้องบนเต้นถี่ เต้นผิดจังหวะ เภสัชภัณฑ์ของยานี้เป็นยาแบบรับประทาน อาจมีผลข้างเคียงของการใช้ยาโดยทำให้มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ และไม่พบเห็นการจำหน่ายยานี้ภายในประเทศไทย
  • Nifekalant: ใช้รักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะรวมถึงภาวะหัวใจห้องล่างเต้นเร็ว มีใช้แต่ในประเทศญี่ปุ่น โดยจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า “Shinbit”

นอกจากนี้ ยังมียาอีกหลายรายการของยากลุ่มโปแตสเซียม/โพแทสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ที่รอการพัฒนาให้มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์อย่างเหมาะสมต่อการใช้กับผู้ป่วย เช่น Azimilide, Sematilide, Clofilium, Tedisamil, การที่จะเลือกใช้ ยาตัวใดในกลุ่มโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างเหมาะสมมาบำบัดอาการของผู้ป่วย ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจแพทย์เท่านั้น และห้ามมิให้ผู้บริโภคซื้อหายาประเภทนี้มารับประทานเองโดยเด็ดขาด

โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์

ยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ บำบัดรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเต้นเร็ว-ถี่ โดยตัวยาจะทำให้กล้ามเนื้อของหัวใจกลับมาทำงานอย่างเป็นปกติมากขึ้น

โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์คือ ตัวยาจะยับยั้งและชะลอการนำประจุโปแตสเซียมเข้าสู่เนื้อเยื่อในระดับเซลล์ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต่างศักย์ไฟฟ้าของเซลล์ ผลดังกล่าว ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวและเต้นช้าลง และเป็นผลให้อาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะ และเต้นเร็วถี่ ทุเลาและดีขึ้น

โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีทั้งรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็น

  • ยารับประทาน ทั้งชนิดเม็ด และแคปซูล รวมถึง
  • แบบยาฉีด

โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้/การบริหารขนาดยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ได้อย่างเหมาะสม แพทย์จะต้องนำอาการป่วย ความรุนแรง โรคประจำตัวต่างๆ ของผู้ป่วย มาประกอบในการพิจารณาใช้ยากลุ่มนี้ การใช้ยากลุ่มนี้จึงต้องขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคไทรอยด์/โรคต่อมไทรอยด์ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ สามารถรับประทาน ทันทีที่เมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ไม่จำเป็น ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่การหยุดรับประทานยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์กะทันหัน อาจส่งผลให้อาการโรคกำเริบขึ้นมาได้ ด้วยการใช้ยากลุ่มนี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด

โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่เกิดจากยาแต่ละตัวในกลุ่มโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ มีความคล้ายและแตกต่างกันออกไปตามสรรพคุณของแต่ละตัวยาย่อย อาการข้างเคียงที่เขียนในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ผู้ป่วยที่ใช้ยากลุ่มนี้อาจได้รับหรือไม่เกิดอาการข้างเคียงก็ได้ โดยอาจสรุปอาการข้างเคียงที่มีโอกาสส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกล็ดเลือดผิดปกติ มีภาวะโลหิตจาง การกดไขกระดูก ส่งผลให้เกิดมีภาวะ Pancytopenia(เม็ดเลือดต่ำทุกชนิด) เช่น Neutropenia เม็ดเลือดขาวชนิดNeutrophilต่ำ หรือเม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ(Leukopenia)
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องผูก ปวดท้อง น้ำลายมาก อาเจียน ตับอ่อนอักเสบ ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ตัวสั่น เดินเซ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน ปวดศีรษะ
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า หัวใจวาย หัวใจห้องล่างเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ หน้าแดง หลอดเลือดดำอักเสบ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตัวเหลือง ตับทำงานผิดปกติ ตับวาย ตับอักเสบ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวเพิ่ม
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย/ผื่นแพ้แสงแดด เกิดผื่นคัน ลมพิษ ผมร่วง เหงื่อออกมาก Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ ไตวาย
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำหรือไม่ก็สูง
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหลัง กล้ามเนื้อลายสลาย กล้ามเนื้อหดเกร็งตัว/เป็นตะคริว
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า ประสาทตาอักเสบ คันตา แสบตา
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ฝันร้าย ความรู้สึกทางเพศลดลง นอนไม่หลับ ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ปอดอักเสบ /ปอดบวม หายใจขัด/หายใจลำบาก เลือดออกในปอด/ไอเป็นเลือด หลอดลมอักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาชื้น แตกหัก หรือสียาเปลี่ยนไป
  • ห้ามรับประทานยากลุ่มนี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้สูงขึ้นจนอาจเกิดอันตรายได้
  • หากพบอาการข้างเคียงมากจนเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้งโดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ด้วยยากลุ่มนี้อาจทำให้อาการโรคประจำตัวบางประเภทกำเริบรุนแรงขึ้นได้ ผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาลทราบทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง เช่น โรคหืด โรคตับ โรคปอด โรคไทรอยด์ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ เป็นต้น
  • รับประทานยานี้ต่อเนื่องตรงตามขนาดและเวลาในแต่ละวันตามแพทย์สั่ง
  • กรณีที่พบอาการแพ้ยากลุ่มนี้ อาจสังเกตจากอาการเช่น มีผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ให้หยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจร่างกายและดูความก้าวหน้าของการรักษาจากแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยา Amiodarone ร่วมกับยาฆ่าเชื้อวัณโรค เช่น Rifampin จะทำให้ระดับยาAmiodarone ในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการรักษาวัณโรค หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
  • ห้ามใช้ยาDronedarone ร่วมกับยา Amprenavir, Atazanavir, Ritonavir, Darunavir, Nelfinavir ด้วยยาเหล่านี้จะทำให้ระดับยาDronedaroneในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
  • ห้ามใช้ยาSotalol ร่วมกับยา Clonidine ด้วยจะก่อให้เกิดความดันโลหิตสูงตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาSotalol ต้องหยุดการใช้ยา Clonidine ก่อนนานประมาณ 1-2 สัปดาห์
  • การใช้ยา Ibutilide ร่วมกับยาหลายตัวสามารถก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ จนทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยในระดับรุนแรง ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Idarubicin, Ketoconazole, Lopinavir, Lithium, Lomefloxacin, Probucol, Metaproterenol, ฯลฯ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Ibutilide ร่วมกับยาดังกล่าว

ควรเก็บรักษาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ภายใต้คำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

โปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโปแตสเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aldarone (อัลดาโรน) Cadila
Amidarone 200 (อะมิดาโรน 200)T. O. Chemicals
Amidarone Aguettant (อะมิดาโรน อะกีแทน)Aguettant
Cardilor (คาร์ดิลอร์)Remedica
Cordarone (คอร์ดาโรน)sanofi-aventis
Multaq (มัลแท็ก)sanofi-aventis
Betapace (เบตาเพส)Bayer
Sorine (โซรีน)UPSHER-SMITH LABORATORIES, INC
Sotacor (โซตาคอร์)FARMEA
Corvert (คอร์เวอร์ท)Pfizer
Tikosyn (ไทโคซิน)Pfizer

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Potassium_channel_blocker[2017,March4]
  2. http://www.cvpharmacology.com/antiarrhy/potassium-blockers[2017,March4]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Amiodarone[2017,March4]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Bretylium[2017,March4]
  5. https://www.drugs.com/cdi/sotalol.html[2017,March4]
  6. https://www.drugs.com/sfx/amiodarone-side-effects.html[2017,March4]
  7. https://www.drugs.com/pregnancy/ibutilide.html[2017,March4]