โปรเคนเพนิซิลลิน (Procaine penicillin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ : คือยาอะไร?

โปรเคนเพนิซิลลิน (Procaine penicillin) คือ ยาปฏิชีวนะ เบนซิลเพนิซิลลิน (Benzyl penicillin)ที่มีองค์ประกอบของยาชาเฉพาะที่ คือ ยาโปรเคน (Procaine) ผสมอยู่ในสูตรตำรับร่วมด้วยเพื่อวัตถุประสงค์ลดอาการปวดบริเวณที่ฉีดยา ยานี้อาจเรียกอีกชื่อคือ ‘โปรเคนเบนซิลเพนิซิลลิน (Procaine benzylpenicillin)’

องค์การอนามัยโลกจัดให้ยาโปรเคนเพนนิซิลลินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับชุมชน ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ เราสามารถพบเห็นการใช้ยาโปรเคนเพนิซิลลินในสถานพยาบาลเท่านั้น เพราะด้วยรูปแบบที่เป็นยาฉีดชนิดเข้ากล้ามเนื้อและต้องใช้หัตถการทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามมาตรฐานเท่านั้น

โปรเคนเพนิซิลลินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?

โปรเคนเพนิซิลลิน

โปรเคนเพนิซิลลินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • โรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
  • ต่อมทอนซิลอักเสบ
  • เจ็บคอ/_คออักเสบ/ คอหอยอักเสบ
  • ไฟลามทุ่ง (Erysipelas)
  • ปอดบวม (Pneumonia)
  • สำหรับป้องกันโรคแอนแทรก/โรคติดเชื้อจากแบคทีเรียขื่อ Bacillus anthracis (Anthrax prophylaxis)
  • โรคซิฟิลิส

โปรเคนเพนิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโปรเคนเพนิซิลลินมีกลไกการออกฤทธิ์เป็น 2 ลักษณะตามส่วนประกอบกล่าวคือ

ก. ลักษณะแรก: ยาที่เป็นส่วนเบนซิลเพนิซิลลินจะเข้าไปยับยั้งการสร้างสารเปบทิโดไกลแคน (Peptidoglycan) ซึ่งเป็นตัวประกอบสำคัญของผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ในแบคทีเรีย จากการรบกวนนี้ทำให้การสร้างผนังเซลล์ในแบคทีเรียหยุดชะงัก ไม่สามารถเจริญเติบโตหรือแพร่พันธุ์ได้ จนทำให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด

ข. ลักษณะที่สอง: ยาที่เป็นส่วนของโปรเคนจะออกฤทธิ์กดความรู้สึกเจ็บปวดของกล้ามเนื้อทำให้บรรเทาอาการปวดในบริเวณที่ฉีดยา

โปรเคนเพนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโปรเคนเพนิซิลลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีด ขนาด 1.2 ล้านยูนิตสากล/2 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 0.6 ล้านยูนิตสากล/มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 3 แสนยูนิตสากล/10 มิลลิลิตร

โปรเคนเพนิซิลลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโปรเคนเพนิซิลลินมีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาในโรคต่างๆ เช่น

ก. สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง:

  • ผู้ใหญ่: กรณีติดเชื้อสเตรปโตค็อกไคกลุ่มเอ (Group A streptococci) ในระดับกลาง - ขั้นรุนแรง ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 - 1,000,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 10 วันอย่างต่ำ
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยาและขนาดยาจะขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวเด็ก และความรุนแรงของโรค ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์แล้วแต่กรณีไป

ข. สำหรับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน:

  • ผู้ใหญ่: กรณีติดเชื้อสเตรปโตค็อกไคกลุ่มเอ (Group A streptococci) ในระดับกลาง - ขั้นรุนแรง ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 - 1,000,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 10 วันอย่างต่ำ
  • เด็ก: การใช้ยาและขนาดยาจะขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวเด็ก และความรุนแรงของโรค ดัง นั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์แล้วแต่กรณีไป

ค. สำหรับรักษา ต่อมทอนซิลอักเสบ, เจ็บคอ คออักเสบ/คอหอยอักเสบ:

  • ผู้ใหญ่: กรณีติดเชื้อสเตรปโตค็อกไคกลุ่มเอ (Group A streptococci) ในระดับกลาง - ขั้นรุนแรง ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 - 1,000,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 10 วันอย่างต่ำ
  • เด็ก: การใช้ยาและขนาดยาจะขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวเด็ก และความรุนแรงของโรค ดัง นั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์แล้วแต่กรณีไป

ง. สำหรับโรคไฟลามทุ่ง (Erysipelas):

  • ผู้ใหญ่: กรณีติดเชื้อสเตรปโตค็อกไคกลุ่มเอ (Group A streptococci) ในระดับกลาง - ขั้นรุนแรง ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 - 1,000,000 ยูนิต/วันเป็นเวลา 10 วันอย่างต่ำ
  • เด็ก: การใช้ยาและขนาดยาจะขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวเด็ก และความรุนแรงของโรค ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์แล้วแต่กรณีไป

จ. สำหรับรักษาอาการปอดบวม (Pneumonia):

  • ผู้ใหญ่: กรณีติดเชื้อ Pneumococci ที่มีความรุนแรงระดับกลาง ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 - 1,000,000 ยูนิต/วัน
  • เด็ก: การใช้ยาและขนาดยาจะขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวเด็ก และความรุนแรงของโรค ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์แล้วแต่กรณีไป

ฉ. สำหรับป้องกันโรคแอนแทรก (Anthrax prophylaxis):

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 1.2 ล้านยูนิตทุกๆ 12 ชั่วโมง ไม่ควรใช้ยานานเกิน 2 สัปดาห์
  • เด็ก: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 25,000 ยูนิตทุกๆ 12 ชั่วโมง ไม่ควรใช้ยานานเกิน 2 สัปดาห์

ช. สำหรับรักษาซิฟิลิสระบบประสาท (Neurosyphilis):

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 ยูนิต/วันเป็นระยะเวลา 10 -15 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: การใช้ยาและขนาดยาจะขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวเด็ก และความรุน แรงของโรค ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์แล้วแต่กรณีไป

ซ. สำหรับการติดเชื้อซิฟิลิสในระยะแรก (Syphilis-early):

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 ยูนิต/วันเป็นระยะเวลา 8 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า12 ปี: การใช้ยาและขนาดยาจะขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวเด็ก และความรุนแรง ของโรค ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์แล้วแต่กรณีไป

ฌ. สำหรับการติดเชื้อซิฟิลิสในระยะแฝง (Syphilis-latent):

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 600,000 ยูนิต/วันเป็นระยะเวลา 8 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: การใช้ยาและขนาดยาจะขึ้นกับอายุ น้ำหนักตัวเด็ก และความรุนแรงของโรค ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์แล้วแต่กรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโปรเคนเพนิซิลลิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรเคนเพนิซิลลินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โปรเคนเพนิซิลลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโปรเคนเพนิซิลลินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น อาจพบอาการ

  • ผื่นคัน
  • หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • บวมตามใบหน้า – คอ – ลิ้น และริมฝีปาก
  • ผิวซีด
  • วิงเวียน
  • ท้องเสีย
  • ปวดข้อ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • หูอื้อ
  • แขนหรือขามีอาการบวม
  • เจ็บหน้าอก
  • พูดไม่ชัด
  • มีไข้
  • หนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย
  • เลือดออกง่าย
  • เจ็บคอ
  • มีอาการคล้ายโรคหวัด
  • ปัสสาวะน้อย
  • หัวใจเต้นช้า
  • เป็นลม
  • หาย ใจช้าลง
  • คันบริเวณช่องคลอด
  • ปวดหัว
  • แผลในช่องปาก
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ตาพร่า
  • ปวดบริเวณที่ฉีดยา

*****อนึ่ง การได้รับยาโปรเคนเพนิซิลลินเกินขนาดอาจทำให้เกิดอาการ ปวดกล้ามเนื้อ, และมีอาการชักติดตามมา, หากพบเห็นอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้โปรเคนเพนิซิลลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรเคนเพนิซิลลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยานี้, แพ้ยาในกลุ่มยาเพนิซิลลิน (Penicillin) หรือผู้ที่แพ้ยาในตระกูล เบต้า-แลคแตม (Beta lactam) เช่นยา เซฟาโลสปอริน (Cephalosporin), ก่อนการใช้ยาโปรเคนเพนิซิลลิน จึงควรทราบประวัติใช้ยาโดยละเอียดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเอง
  • หากพบอาการเหล่านี้หลังใช้ยานี้ให้หยุดการใช้ยาทันที แล้วรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เช่น มีลมพิษ, ผื่นคันขึ้นเต็มตัว, หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, ปวดท้องมาก, ท้องเสียอย่างมาก, หรือคลื่นไส้-อาเจียนอย่างรุนแรง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ถึงแม้ว่ายาเพนิซิลลินจะจัดว่าปลอดภัยในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่ก็ต้องระวังในเรื่องผลข้างเคียงที่อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วย เช่น มีอาการท้องเสีย หรือ ผื่นคันขึ้นหลังการใช้
  • ยากลุ่มเพนิซิลลินที่รวมถึงยานี้ อาจรบกวนผลการตรวจน้ำตาลในปัสสาวะของผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้ผลการวิเคราะห์/วินิจฉัยโรคคลาดเคลื่อน ดังนั้นระหว่างมีการใช้ยานี้ควรพิจารณาวิเคราะห์ผลการตรวจปัสสาวะด้วยความระมัดระวัง
  • ระวังการเกิดโรคเชื้อราช่องปาก และ โรคเชื้อราที่อวัยวะเพศขณะที่ได้รับยานี้
  • หลังการใช้ยาโปรเคนเพนิซิลลินครบระยะเวลาของการรักษา แพทย์อาจต้องตรวจร่างกายผู้ป่วยซ้ำว่าหายจากอาการโรคดีแล้ว ไม่มีเชื้อโรคเดิมแอบแฝงอยู่อีก ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโปรเคนเพนิซิลลินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โปรเคนเพนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

โปรเคนเพนิซิลลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน ร่วมกับ ยาต้านเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น เช่นยา Erythromycin, Tetracycline อาจทำให้ประสิทธิภาพในการต้านเชื้อแบคทีเรียของเพนิซิลลินน้อยลง จึงควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน ร่วมกับ ยา Methotrexate สามารถทำให้ระดับยา Methotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน หรือแพทย์ปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน ร่วมกับ ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของ Ethinyl Estradiol อาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้อยลงไป ดังนั้นขณะใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ร่วมกันควรใช้วิธีอื่นในการป้องกันการตั้งครรภ์ด้วย เช่น การใช้ถุงยางอนามัยชาย
  • การใช้ยากลุ่มเพนิซิลลิน ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Warfarin อาจก่อให้เกิดภาวะตกเลือดได้ง่ายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยโรคไต, โรคตับ, การใช้ยาร่วมกันจะต้องคอยเฝ้าระวังและควบคุมกลไกการแข็งตัวของเลือดให้อยู่ในระดับปกติอยู่เสมอ

ควรเก็บรักษาโปรเคนเพนิซิลลินอย่างไร?

ควรเก็บยาโปรเคนเพนิซิลลิน:

  • เก็บยาที่อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็ก และสัตว์เลี้ยง

โปรเคนเพนิซิลลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโปรเคนเพนิซิลลิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Penicillin G Procain (เพนิซิลลิน จี โปรเคน)Monarch Pharmaceuticals lnc
Procaine Penicillin G in Oil (โปรเคนเพนิซิลลิน จี อิน ออยล์)M&H Manufacturing
Procaine Penicillin KAPL (โปรเคนเพนิซิลลิน เคเอพีแอล)KAPL

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Penicillin#Medical_uses [2021,March6]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Procaine_benzylpenicillin [2021,March6]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Procaine [2021,March6]
  4. https://www.drugs.com/mtm/procaine-penicillin.html [2021,March6]
  5. https://www.drugs.com/sfx/procaine-penicillin-side-effects.html [2021,March6]
  6. https://www.rxlist.com/bicillin-c-r-tubex-drug.htm [2021,March6]
  7. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Procaine%20Penicillin%20G%20in%20Oil/ [2021,March6]
  8. https://www.medindia.net/drug-price/procaine-penicillin-combination.htm [2021,March6]
  9. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/procaine%20benzylpenicillin?mtype=generic [2021,March6]