โบลแนนซีริน (Blonanserin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโบลแนนซีริน (Blonanserin)เป็นยาในกลุ่มทั้ง Serotonin antagonist และDopamine antagonist ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการโรคจิตเภท(Schizophrema) อาการคลุ้มคลั่ง โรคไบโพลา/โรคอารมณืสองขั้ว(Bipolar) โรคซึมเศร้า เป็นต้น รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโบลแนนซีรินเป็นยารับประทาน ยานี้สามารถถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้ประมาณ 55% ตับจะใช้เอนไซม์ CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4,เอนไซม์ทำลายยา)เปลี่ยนแปลงโครงสร้างยาโบลแนนซีรินอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ยาโบลแนนซีรินจะออกฤทธิ์ในสมองตรงบริเวณตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อเรียกว่า Dopamine 2 receptor, Serotonin 2A receptor และ Dopamine 3 receptor ส่งผล ลดอาการทางจิตประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น สามารถควบคุมตนเอง สื่อสาร และมีพฤติกรรมเป็นที่ยอมรับของสังคมได้ใกล้เคียงกับปกติ เมื่อใช้ยานี้ต่อเนื่อง ประมาณ1 สัปดาห์ ก็จะพบว่าอาการของผู้ป่วยเริ่มดีขึ้น แต่ผู้ป่วยยังต้องใช้ยานี้ต่ออีก ประมาณ 16–20 สัปดาห์เพื่อทำให้ประสิทธิผลของการรักษามีระดับสูงที่สุด ระหว่างที่ผู้ป่วยได้รับยานี้ แพทย์อาจจะต้องตรวจสอบเป็นระยะๆในเรื่องของ ค่าดัชนีมวลกายซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์กับน้ำหนักตัวที่เปลี่ยนไป ระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และการทำงานของหัวใจ ด้วยยานี้อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะดังกล่าว แพทย์จะคอย ควบคุมสภาพการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายให้เป็นปกติควบคู่กันไป ทั้งนี้มีรายงานทางคลินิกพบว่า ยาโบลแนนซีรินสามารถกระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง, เกิดความเสี่ยงทำให้หลอดเลือดในสมองผิดปกติจนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตซึ่งมักจะพบในผู้สูงอายุ

โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาโบลแนนซีรินวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ทั้งนี้เพื่อให้ระดับยานี้ในร่างกายมีความเข้มข้นที่สม่ำเสมอ และทำให้ควบคุมอาการทางจิตได้ตลอดทั้งวัน การลืมรับประทานยาโบลแนนซีรินหรือตั้งใจหยุดการใช้ยานี้กะทันหันโดยมิได้ปรึกษาแพทย์ จะทำให้อาการต่างๆทางจิตเวชกลับมาเป็นซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามมิให้ผู้ป่วยใช้ยาอื่นใดรับประทานร่วมกับยาโบลแนนซีรินโดยมิได้ขอคำแนะนำจากแพทย์ ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวยาโบลแนนซีรินสามารถทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาอื่นๆหลายรายการ อาทิเช่นยา Carbamazepine, Ketoconazole, Nefazodone, Fluvoxamine, และLevodopa เป็นต้น

เราอาจพบเห็นการใช้ยาโบลแนนซีรินอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีเท่านั้นโดยจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Lonasen” การนำยานี้เข้ามาในประเทศไทยยังต้องอาศัยปัจจัยต่างๆมาประกอบกันไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ประสิทธิภาพของยา ผลข้างเคียง ราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึง ตลอดจนกฎหมายยาของไทยว่าสามารถตอบรับกับยาชนิดนี้ได้มากน้อยเพียงใด

โบลแนนซีรินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โบลแนนซีริน

ยาโบลแนนซีรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการ โรคจิตเภท โรคไบโพลาร์ อาการซึมเศร้า อาการคลุ้มคลั่ง ซึ่งต้องสอดคล้องกับขนาดรับประทานเป็นกรณีผู้ป่วยแต่ละรายตามคำสั่งแพทย์

โบลแนนซีรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาโบลแนนซีรินมีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยเข้าปิดกั้นตัวรับชนิดที่เรียกว่า Dopamine 2 receptors ทำให้ลดอาการทางจิต จนผู้ป่วยสามารถควบคุมสภาพจิตใจของตนเองได้ดีขึ้น และยาโบลแนนซีรินยังเข้าปิดกั้นตัวรับอีกหนึ่งชนิดคือ Serotonin 2A receptor ทำให้มีการกระตุ้นการหลั่งสารโดพามีน(Dopamine)ในสมองมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการปรับปรุงสภาพการเรียนรู้-ความเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น และยานี้ยังมีอิทธิพลกับตัวรับ Dopamine 3 receptors ซึ่งมีส่วนทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาโบลแนนซีรินเกิดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกด้วย

โบลแนนซีรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโบลแนนซีรินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Blonanserin 2 , 4 และ 8 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาผงชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยของ Blonanserin 20 มิลลิกรัม/หน่วยบรรจุ

โบลแนนซีรินมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโบลแนนซีรินมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 8–16 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งการรับประทานเป็น 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 24 มิลลิกรัม/วัน โดยควรรับประทานยานี้ก่อนอาหารประมาณอย่างน้อย 30 นาที
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยของยานี้ในเด็กที่ชัดเจน ทั้งนี้รวมถึงขนาดยาด้วย

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาที่แพทย์กำหนด
  • การหยุดใช้ยานี้ทันที จะทำให้อาการป่วยทางจิตกลับมาเป็นใหม่
  • แพทย์เท่านั้นที่สามารถปรับลดขนาดการใช้/หยุดใช้ยานี้ได้อย่างเหมาะสม และปลอดภัยที่สุด

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโบลแนนซีริน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาโบลแนนซีริน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาโบลแนนซีริน สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การใช้ยาโบลแนนซีรินกับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต อาจต้องอาศัยญาติเป็นผู้ดูแลการจ่ายยาโบลแนนซีรินให้ผู้ป่วยขณะอยู่ในที่พักอาศัย การหลงลืมรับประทาน-การหยุดใช้ยาโบลแนนซีรินทันที จะทำให้อาการทางจิตของผู้ป่วยกำเริบขึ้น

โบลแนนซีรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโบลแนนซีรินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีปัสสาวะขัด
  • ผลต่อหลอดเลือด: เช่น อาจทำให้หลอดเลือดในสมองทำงานผิดปกติซึ่งพบมากเมื่อใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มผู้สูงอายุ

มีข้อควรระวังการใช้โบลแนนซีรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโบลแนนซีริน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และให้ใช้ยาตามขนาดรับประทาน ที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือ สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • หากพบว่าใช้ยานี้ไปสักระยะตามแพทย์แนะนำ แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ประเมินปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโบลแนนซีรินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โบลแนนซีรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโบลแนนซีรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโบลแนนซีรินร่วมกับยา Carbamazepine จะทำให้ระดับยาโบลแนนซีรินในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลกระทบต่อประสิทธิผลการรักษา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาโบลแนนซีรินร่วมกับยา Ketoconazole, Nefazodone, Fluvoxamine, และ Fluoxetine ด้วยตัวยาเหล่านี้จะทำให้ระดับยาโบลแนนซีรินในเลือดสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงจากยาโบลแนนซีรินตามมาได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโบลแนนซีรินร่วมกับยา Levodopa หรือยา Dopamine ด้วยตัวยาเหล่านี้จะออกฤทธิ์ต่อต้านซึ่งกันและกันจนลดประสิทธิผลการรักษาของยาทุกตัวดังกล่าว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโบลแนนซีรินร่วมกับยาลดความดันโลหิตสูง ด้วยจะทำให้เกิดการเสริมฤทธิ์ของยาลดความดันโลหิตสูงจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากยาลดความดันโลหิตสูงต่อผู้ป่วยตามมา

ควรเก็บรักษาโบลแนนซีรินอย่างไร?

ควรเก็บยาโบลแนนซีรินตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

โบลแนนซีรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโบลแนนซีริน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Elicia 8 (อีลิเซีย 8)Cadila Healthcare Ltd.
Lonasen (โลนาเซน)Dainippon Sumitomo Pharma

บรรณานุกรม

  1. http://cdn.neiglobal.com/content/pg/live/blonanserin.pdf [2017,May27]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Blonanserin[2017,May27]
  3. https://www.drugbank.ca/drugs/DB09223[2017,May27]