โบซีพรีเวียร์ (Boceprevir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโบซีพรีเวียร์ (Boceprevir) เป็นยาต้านไวรัสตับอักเสบ (Antihepaciviral) กลุ่มโปรติเอสอินฮิบิเตอร์ (Protease inhibitor, PI) มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง(Chronic hepatitis C)ในผู้ใหญ่ โดยการใช้ยาโบซีพรีเวียร์เพื่อรักษาไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง จำเป็นต้องบริหารยา/ใช้ยาโบซีพรีเวียร์ร่วมกับยาอีก 2 ชนิด คือ ยาเพ็กกิเลตอินเตอร์เฟอรอน (Pegylated Interferon (Peg-IFN)) และยาไรบาไวริน (Ribavirin) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้นในการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซีในระยะแรกซึ่งไม่เคยได้รับการรักษามาก่อน หรือผู้ที่เคยรักษาแต่การรักษาล้มเหลวในครั้งก่อน แล้วกลับมาเป็นซ้ำ

ข้อควรระวังในการใช้ยาโบซีพรีเวียร์ คือ ปฏิกิริยาระหว่างยา(Drug-drug interaction) ซึ่งจะมีผลต่อยาอื่นที่ใช้ร่วมกันที่จะส่งผลทำให้ระดับยาชนิดอื่นๆที่ใช้ร่วมนั้นลดลงหรือเพิ่มขึ้นก็ได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาโบซีพรีเวียร์อยู่ ควรต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ผู้ดูแลว่า กำลังได้รับยานี้อยู่ เพื่อให้ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ตระหนักในการตรวจสอบคู่ยาที่ผู้ป่วยกำลังได้รับร่วม เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ผู้ป่วยและเพิ่มความปลอดภัยสูงสุดจากการใช้ยาโบซีพรีเวียร์ และการใช้ยาต่างๆ

ยาโบซีพรีเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โบซีพรีเวียร์

ยาโบซีพรีเวียร์ มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง (Chronic hepatitis C)ในผู้ใหญ่ โดยการใช้ยาโบซีพรีเวียร์เพื่อรักษาไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง จำเป็นต้องบริหารยา/ใช้ยาโบซีพรีเวียร์ร่วมกับยาอีก 2 ชนิด คือ ยาเพ็กกิเลตอินเตอร์เฟอรอน Pegylated Interferon (Peg-IFN) และยาไรบาไวริน (Ribavirin)เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษา โดยยานี้สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบซี ที่เซลล์ตับยังสามารถทำงานชดเชยเซลล์ตับที่ติดเชื้อได้(Compensated liver disease) รวมถึงในผู้ป่วยโรคตับแข็ง (Liver cirrhosis) และยังใช้ยานี้ได้ในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับการรักษามาก่อนหรือเคยได้รับยาเพ็กกิเลตอินเตอร์เฟอรอน (Peg-IFN) และยาไรบาไวริน (Ribavirin)มาแล้วแต่เกิดการรักษาล้มเหลว หรือไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาทั้ง 2ชนิดนั้น ก็สามารถให้การรักษาเพิ่มเติมด้วยยาโบซีพรีเวียร์ได้

ยาโบซีพรีเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธ์ของยาโบซีพรีเวียร์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ชื่อโปรติเอส(Protease)ของเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โดยจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์โปรติเอส ณ ตำแหน่งสำคัญของไวรัสตับอักเสบซี จึงส่งผลยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสตับอักเสบซีในเซลล์เจ้าบ้าน(ผู้ป่วย)

ยาโบซีพรีเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ของยาโบซีพรีเวียร์ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย คือ เป็นยาแคปซูล(Capsules)รับประทาน ขนาด 200 มิลลิกรัมของตัวยาโบซีพรีเวียร์

ยาโบซีพรีเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาโบซีพรีเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยา เช่น

  • เด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี: ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการรักษาด้วยยาโบซิพรีเวียร์ในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว
  • เด็กอายุตั้งแต่18 ปีขึ้นไป – ผู้ใหญ่: รับประทานยาโบซีพรีเวียร์ขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง โดยรับประทานพร้อมมื้ออาหาร (มื้ออาหารหลักหรืออาหารว่างก็ได้) โดยบริหาร/ใช้ยาร่วมกับยาเพ็กกิเลตอินเตอร์ฟีรอน(Peg-IFN ) และยาไรบาไวริน (Ribavirin)

ทั้งนี้ วิธีการรับประทานยานี้ในเรื่องขนาดยาและระยะเวลาในการรับประทานยาอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามคำสั่งแพทย์ที่ทำการรักษา โดยแพทย์จะพิจารณาจากข้อบ่งใช้ของยานี้ต่อโรคหรือภาวะโรคที่ต้องการรักษา ปริมาณเชื้อไวรัสตับอักเสบซีที่ตรวจพบ และการตอบสนองของร่างกายต่อยานี้ ดังนั้นหากผู้ป่วยที่กำลังได้รับยานี้อยู่ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรอย่างเคร่งครัดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนระหว่างได้รับยานี้ และต้องคอยสังเกตอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่างๆ หากท่านมีอาการไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง)ที่รุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเกิดขึ้น ท่านควรจะรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนกำหนดนัด เพื่อรับการรักษาอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าว

  • ขนาดยานี้ในผู้ป่วยมีการทำงานของไตบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่การทำงานของไตบกพร่อง
  • ขนาดยานี้ในผู้ป่วยที่ตับทำงานบกพร่อง: ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่องที่มีระดับความรุนแรงน้อย ปานกลาง หรือมาก แต่ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับเพ็กอินเตอร์ฟีรอนและไรบาไวริน ในผู้ป่วยที่มีตับแข็งรุนแรงที่ค่าบอกระดับความรุนแรงของโรคตับแข็ง(ที่เรียกว่า Child-Pugh score)มากกว่า 6

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโบซีพรีเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • โรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคไวรัสตับอักเสบซีชนิดเรื้อรัง หรือโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคตับ โรคตับแข็ง ควรแจ้งแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ถึงประวัติการใช้ยาต่างๆในช่วงรอบเดือนที่ผ่านมา รวมถึงยาที่กำลังได้รับอยู่/ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพราะยาโบซีพรีเวียร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาโบซิพรีเวียร์กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรอยู่หรือไม่ เนื่องจากยาโบซีพรีเวียร์มีข้อมูลการศึกษาที่ไม่เพียงพอสำหรับความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

หากลืมรับประทานยาโบซีพรีเวียร์ควรทำอย่างไร?

สำหรับการรักษาการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังด้วยยาโบซีพรีเวียร์นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยานี้ให้ตรงเวลาทุกวันอย่างเคร่งครัด โดยรับประทานยาวันละ 3 ครั้ง แนะนำรับประทานยาพร้อมอาหาร โดยอาจเป็นมื้ออาหาร หรืออาหารรองท้องก็ได้ เนื่องจากอาหารจะช่วยเพิ่มให้ระบบทางเดินอาหารดูดซึมยาโบซีพรีเวียร์ได้มากขึ้นกว่า 60% และเพื่อให้ระดับยานี้ในร่างกายคงที่ ที่จะสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสตับอักเสบซีได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรรับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของทุกวัน และรับประทานพร้อมอาหารตามแนะนำข้างต้น

กรณีลืมรับประทานยาโบซีพรีเวียร์ ให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานยามื้อถัดไป(เกินกว่า 2 ชั่วโมงของเวลารับประทานยามื้อปกติ) ให้รอรับประทานยานี้มื้อถัดไปเลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยานี้เป็น 2 เท่า เช่น ปกติรับประทานยานี้เวลา 7.00 น., 13.00 น., และ 20.00 น. หากผู้ป่วยนึกขึ้นได้ว่าลืมรับประทานยามื้อ 7.00 น. ตอนเวลา 9.00 น. ก็ให้รับประทานยามื้อ 7.00 น. ทันที แต่หากนึกขึ้นได้ในช่วงที่ใกล้กับช่วงเวลาของยานี้มื้อถัดไป (หมายถึงเกินกว่า 2 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยานี้ปกติ) ให้รอรับประทานยานี้มื้อถัดไปในขนาดยาปกติ ช่วงเวลาเดิมได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยานี้เป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม การรับประทานยาโบซีพรีเวียร์ที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ระดับยานี้ในเลือดอยู่ในระดับสูงบ้างต่ำบ้าง ซึ่งช่วงที่ระดับยามีขนาดต่ำ เสมือนเป็นการกระตุ้นให้เชื้อไวรัสตับอักเสบซีเกิดการกลายพันธุ์เป็นสาเหตุของการดื้อยาในเวลาต่อมา

ทั้งนี้การใช้ยาโบซีพรีเวียร์ จำเป็นต้องรับประทานยานี้ควบคู่กับการได้รับยาเพ็กอินเตอร์ฟีรอน และยาไรบาไวรินร่วมกัน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษามากที่สุด

ยาโบซีพรีเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์ของยาโบซิพรีเวียร์ที่พบได้บ่อย เช่น ศีรษะล้าน, ผิวแห้ง, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, อาเจียน, ท้องเสีย, ปวดท้อง, เบื่ออาหาร, อ่อนเพลีย, อ่อนล้า, หนาวสั่น, นอนไม่หลับ, ปวดเมื้อยตามตัว

อาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นที่ถือเป็นอาการรุนแรงของยาโบซีพรีเวียร์ เช่น มีผื่นคันตามร่างกาย มีภาวะตับอักเสบ และมีระดับเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลสูงกว่าปกติ (Eosinophila)ที่มีชื่อเรียกว่า เดรสซินโดรม (DRESS: Drug Reaction with eosinophilia and systemic symptoms, อาการเช่น มีไข้สูง มีต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว มีเกล็ดเลือดต่ำ) ภาวะโลหิตจาง, ภาวะเม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำกว่าปกติ (Neutropenia) ซึ่งหากเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงดังกล่าวแล้ว ควรหยุดการใช้ยานี้ แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้ยาโบซีพรีเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโบซีพรีเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับแข็งที่มีการทำงานของตับรุนแรง (Child-Pugh score มากกว่า 6)
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยานี้ในกลุ่มวัยนี้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาโบซีพรีเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์ พิจารณาใช้ได้กรณีที่มีประโยชน์เหนือความเสี่ยงเท่านั้น เนื่องจากในการรักษาด้วยยาโบซีพรีเวียร์ อาจจำเป็นต้องได้รับยาไรบาไวรินด้วย ซึ่งยาไรบาไวรินอาจมีผลให้ทารกในครรภ์เกิดความพิการได้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยาโบซีพรีเวียร์ในหญิงให้นมบุตร เนื่องจาก ยาโบซีพรีเวียร์สามารถถูกขับออกทางน้ำนมได้ ดังนั้นควรหยุดเลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมตนเอง หากมารดาจำเป็นต้องได้รับยาโบซีพรีเวียร์ช่วงกำลังให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงหรือพิจารณาไม่ใช้ยาโบซิพรีเวียร์คู่กับยาอื่นๆดังที่กล่าวในหัวข้อ” ยาโบซีพรีเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?” เนื่องจากอาจเกิดอันตรกิริยา/ ปฏิกิริยาระหว่างยาที่รุนแรงได้เมื่อใช้ยาดังกล่าวร่วมกับยาโบซิพรีเวียร์
  • ทุกครั้งที่มีการใช้ยาโบซิพรีเวียร์คู่กับยาชนิดอื่นๆ ควรตรวจสอบอันตรกิริยาระหว่างยาโบซิพรีเวียร์กับยาอื่นๆเสมอ เพี่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาที่มีอันตรกิริยา แพทย์จะพิจารณายาทางเลือกอื่นที่มีโอกาสในการเกิดอันตรกิริยาน้อยที่สุด
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยา โบซีพรีเวียร์) ยาแผนโบราญทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโบซีพรีเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ข้อควรระวังในการใช้ยาโบซีพรีเวียร์ ซึ่งเป็นยากลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitors,PIs) คือ ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ (Drug-drug interaction) เช่น

1. เมื่อใช้ยาโบซีพรีเวียร์คู่กับยาดังต่อไปนี้ ซึ่งคาดว่าสามารถเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ CYP3A4(Cytochrome P450 3A4,เอนไซม์ทำลายยาโบซีพรีเวียร์) เช่นยา ฟีโนบาร์บีทาล (Phenobarbital: ยากันชัก), คาร์บามาซีปิน(Carbamazepine: ยากันชัก), ฟีนีทอย (Phenytoin:ยากันชัก), ไรแฟมปิซิน (Rifampicin: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค), ไรฟาบูติน (Rifambutin:ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย, ยาต้านวัณโรค) ดังนั้น หากใช้ยาเหล่านี้ที่กล่าวมาคู่กับยาโบซีพรีเวียร์ อาจทำให้ระดับยาโบซีพรีเวียร์ในเลือดลดลง

2. หลีกเลี่ยงหรือพิจารณาไม่ใช้ยาโบซิพรีเวียร์คู่กับยาดังต่อไปนี้ เนื่องจากอาจเกิดอันตรกิริยารุนแรงได้เมื่อใช้คู่ยาทั้งสองร่วมกัน ยาดังกล่าว เช่น อาฟูโซซิน (Alfuzosin: ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต), อะมิโอดาโลน (Amiodarone: ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ), ควินิดีน(Quinidine:ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ), ฟูซิดิกเอซิด (Fusidic acid: ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย), โวลิโคนาโซล (Voriconazole: ยาต้านเชื้อรา), แอสทิมีโซล (Astemizole: ยาแก้แพ้), เทอร์ฟีนีดีน(Terfenadine: ยาแก้แพ้), โบรนาซีลีน (Blonaserin: ยารักษาทางจิตเวช ), Ergot derivetives (ยาที่มีส่วนผสมของ Ergot ประกอบด้วยยา Erogatamine/เออโกตามีน/ ยารักษาไมเกรน , Ergonovine/เออร์โกโนวีน/ยาบีบมดลูก, Methylergonovine/เมททิวเออร์โกโนวีน/ ยาบีบมดลูก), ซิสซาพาย(Cisapide: ยากระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหารและลำไส้), สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ธ (St. John's wort: สมุนไพรคลายเครียด), โลวาสสะตาติน(Lovastatin: ยาลดไขมัน), ซิมวาสสะตาติน (Simvastatin: ยาลดไขมัน), เซาเมทารอล (Salmeterol: ยาขยายหลอดลม), พิโมซายด์ (Pimozide: ยาต้านโรคจิต ), ซิเดนาฟิว (Sidenafil: ยารักษาภาวะความดันปอดสูง/Pulmonary Hypertension), ไมด้าโซแลม (Midazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยานอนหลับ), ไตรอะโซแลม (Triazolam: ยาสงบระงับประสาท/ยานอนหลับ)

3 . นอกจากนี้ ยังมียาอื่นๆอีกหลายชนิดที่อาจจะทำให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาได้เมื่อใช้คู่กับยาโบซีพรีเวียร์ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ และเภสัชกร ถึงการใช้ยาอื่นๆ เพื่อแพทย์และเภสัชกรตรวจเช็คคู่ยาที่ได้รับร่วมหากกำลังใช้ยาโบซีพรีเวียร์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยสูงสุดจากการใช้ยาโบซีพรีเวียร์และยาอื่นๆ

ควรเก็บรักษายาโบซีพรีเวียร์อย่างไร?

โดยทั่วไปแล้วยาโบซีพรีเวียร์จากบริษัทผู้ผลิตที่ส่งให้แก่โรงพยาบาลเพื่อเตรียมไว้เพื่อจ่ายให้แก่ผู้ป่วยในโรงพยาบาล จะถูกเก็บรักษาในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและเก็บรักษาในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius)

สำหรับยาโบซีพรีเวียร์ที่ถูกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ป่วยสามารถเก็บรักษายานี้ที่อุณหภูมิห้อง โดยอุณหภูมิห้องต้องไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส เมื่อเก็บยานี้ ณ สภาวะดังกล่าว จะมีความคงตัวหลังเก็บยาที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลา 3 เดือน นับจากวันแรกที่นำยาโบซีพรีเวียร์เก็บนอกตู้เย็น

ยาโบซีพรีเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโบซีพรีเวียร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Victrelis (Boceprevir 200 mg) capsuleMSD

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 24th ed. Ohio: Lexi-Comp; 2015-16.
  2. Micromedex Healthcare Series, Thomson Micromedex, Greenwood Village, Colorado.
  3. Product Information: Victrelis, MSD, Thailand. TIMS (Thailand). MIMS. 140th ed. Bangkok: UBM Medica ;2015.