โทรสเปียมคลอไรด์ (Trospium chloride)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โทรสเปียมคลอไรด์ (Trospium chloride หรือ โทรสเปียม/Trospium) คือ ยารักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะไวเกิน/กระเพาะปัสสาวะบีบตัวมากเกินไป, อาการ เช่น กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รวมถึง ภาวะปัสสาวะบ่อย, โดยเป็นยาในกลุ่ม Muscarinic antagonist,  รูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทานที่ต้องรับประทานในช่วงท้องว่างหรือรับประทานก่อนมื้ออาหารประมาณ 1 ชั่วโมง

หลังการดูดซึม ตัวยาโทรสเปียมคลอไรด์จากระบบทางเดินอาหารจะเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะมีการออกฤทธิ์กับบริเวณตัวรับ (Receptor) ประเภท ‘Muscarinic acetylcholine receptors’ ที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆซึ่งรวมกระเพาะปัสสาวะด้วย ส่งผลให้ผนังกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะลดการบีบตัวลงนั่นเอง, การใช้ยานี้กับผู้ป่วยสูงอายุและผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับลดขนาดยาให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นกรณีไป

ทั้งนี้ มีข้อจำกัดของผู้ป่วยบางประการที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยาโทรสเปียมคลอไรด์ได้ เช่น

  • มีภาวะปัสสาวะขัด, ปัสสาวะไม่ออก   
  • มีภาวะท้องอืด
  • มีประวัติแพ้ยานี้
  • ผู้ที่มีภาวะต้อหินที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้
  • กับสตรีตั้งครรภ์ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยในการใช้ยานี้และยังถือเป็นข้อห้ามในการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้, รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจากผลการทดสอบพบว่า ยาโทรสเปียมคลอไรด์สามารถขับออกมากับน้ำนมและผ่านเข้าถึงทารกที่ดื่มนมมารดาได้ แพทย์จึงมักหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)เป็นกลุ่มที่ยังมิได้มีการศึกษาทดลองใช้ยาทางคลินิก จึงถือเป็นข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้เช่นกัน
  • ผู้ที่ได้รับการสั่งจ่ายยาโทรสเปียมคลอไรด์ ต้องรับประทานยานี้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด, ไม่ปรับขนาดรับประทานโดยมิได้มีการปรึกษากับแพทย์ผู้รักษาก่อน

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบขณะที่มีการใช้ยาโทรสเปียมคลอไรด์  เช่น

  • ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ตาพร่า อาการเหล่านี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นหากผู้ป่วยรับประทานยานี้ร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, จึงถือเป็นข้อห้ามในการใช้ยานี้ร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ, แพทย์มักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและหลีกเลี่ยงการทำงานกับเครื่องจักรขณะที่ได้รับยาโทรสเปียมคลอไรด์ด้วยเช่นกันจากอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • หากเกิดอาการปากคอแห้งในขณะที่ใช้ยานี้ ผู้ป่วยสามารถจิบน้ำได้บ่อยๆ หรือใช้วิธีอมลูกกวาด หรือเคี้ยวหมากฝรั่ง เพื่อลดอาการดังกล่าวได้
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัด ด้วยผู้ที่ใช้ยาโทรสเปียมคลอไรด์อาจเกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคลมแดดได้ง่าย
  • *มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที หากพบอาการบวมตามใบหน้า หรือตามร่างกายหลังการใช้ยานี้
  • ผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ อาจเกิดอาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น เช่น มีอาการท้องผูก ไม่สบายในช่องท้อง ปัสสาวะขัด

อนึ่ง: ยาโทรสเปียมคลอไรด์ อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงได้มากกว่าที่กล่าวมา แต่ในผู้ป่วยบางรายหรือหลายรายอาจไม่ได้รับผลกระทบจากอาการข้างเคียงเลยก็เป็นได้

สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้จัดให้ยาโทรสเปียมคลอไรด์อยู่ในหมวดยาอันตราย  การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น  ห้ามมิให้ผู้บริโภคไปซื้อยามารับประทานเอง, และเราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลต่างๆและมีวางจำหน่ายตามร้านขายยาขนาดกลางขึ้นไป

โทรสเปียมคลอไรด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาโทรสเปียมคลอไรด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:  

  • รักษาอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • บำบัดอาการปัสสาวะบ่อย

โทรสเปียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโทรสเปียมคลอไรด์มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับที่เรียกว่า ‘Muscarinic acetylcholine receptors’ ในบริเวณกล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเรียบของกระเพาะปัสสาวะลดการหดตัว ส่งผลให้ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากปัสสาวะลดลง, จึงเป็นที่มาของสรรพคุณ

โทรสเปียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโทรสเปียมคลอไรด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: 

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 20 และ 30 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลแบบออกฤทธิ์นานชนิดรับประทาน ขนาด 60 มิลลิกรัม/แคปซูล

โทรสเปียมคลอไรด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโทรสเปียมคลอไรด์มีขนาดรับประทาน:  

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้งเช้า – เย็น ก่อนอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง, หรือหลังอาหารไปแล้วประมาณ 2 ชั่วโมง
    • กรณีเป็นยาแคปซูลแบบออกฤทธิ์นาน (Extended-release capsule) ให้รับประทาน 60 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง ตอนเช้า
  • ผู้สูงอายุ (75 ปีขึ้นไป): รับประทานยาครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ1ครั้ง
  • เด็ก: ยังไม่มีการจัดทำขนาดการใช้ยาของเด็ก ด้วยข้อมูลทางคลินิกที่จะมาสนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่เพียงพอ

*อนึ่ง: ระยะเวลาของการรับประทานยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโทรสเปียมคลอไรด์ด้วย ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาลและ เภสัชกร เช่น  

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้แล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโทรสเปียมคลอไรด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโทรสเปียมคลอไรด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาโทรสเปียมคลอไรด์ตรงเวลา

โทรสเปียมคลอไรด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโทรสเปียมคลอไรด์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น

  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น อาจมีอาการหัวใจเต้นเร็ว เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องผูก ปวดท้อง ปากคอแห้ง อาหารไม่ย่อย อาเจียน ท้องอืด  กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการ ปวดหัว วิงเวียน รู้สึกสับสน ง่วงนอน อาจพบอาการประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น เกิดอาการปัสสาวะขัด /ปัสสาวะไม่ออก
  • ผลต่อตา: เช่น ทำให้มีอาการ ตาแห้ง ตาพร่า
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดภาวะผิวแห้งและผื่นคัน รวมถึงภาวะ Stevens-Johnson syndrome
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย

มีข้อควรระวังการใช้โทรสเปียมคลอไรด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โทรสเปียมคลอไรด์: เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามไปซื้อยานี้มารับประทานเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคต้อหิน, ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด, ผู้ที่มีภาวะกระเพาะอาหาร/ลำไส้อุดตัน
  • แพทย์อาจปรับลดขนาดการใช้ยานี้กับผู้ป่วยสูงอายุตั้งแต่อายุ 75 ปีขึ้นไป
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ โรคไต
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันทีถ้าพบอาการแพ้ยาหลังการรับประทาน *แล้วรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • *กรณีรับประทานยานี้เกินขนาด ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลให้แพทย์เป็นผู้ดูแลทันที/ ฉุกเฉิน
  • *กรณีที่เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง หรือรบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอจนถึงวันนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโทรสเปียมคลอไรด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอเช่นกัน

โทรสเปียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโทรสเปียมคลอไรด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโทรสเปียม ร่วมกับยา Potassium chloride ชนิดรับประทานด้วยจะ ก่อให้เสี่ยงกับการเกิดแผลในกระเพาะอาหารรวมถึงมีอาการเลือดออกตามมา (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ com บทความเรื่อง เลือดออกในทางเดินอาหาร)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโทรสเปียม ร่วมกับยา Topiramate, Zonisamide, เพราะจะทำให้ร่างกายลดการหลั่งเหงื่อ อุณหภูมิร่างกายจึงอาจเพิ่มสูงขึ้นจนผู้ป่วยสามารถเกิดอาการ โรคลมแดดได้ง่ายมากกว่าปกติ
  • ห้ามรับประทานยาโทรสเปียม ร่วมกับอาหารด้วยจะทำให้การดูดซึมของยานี้เข้าสู่ร่างกายลดน้อยลง จนส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา
  • ห้ามรับประทานยาโทรสเปียม ร่วมกับการดื่มสุรา/เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน รุนแรงมากยิ่งขึ้น

การใช้ยาโทรสเปียม ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงของยาทั้ง 2 ตัวเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีอาการวิงเวียน ง่วงนอน การครองสติทำได้แย่ลงปากคอแห้ง เป็นตะคริวที่ท้อง รวมถึงเกิดอาการท้องผูกติดตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโทรสเปียมคลอไรด์อย่างไร?

ควรเก็บยาโทรสเปียมคลอไรด์: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โทรสเปียมคลอไรด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโทรสเปียมคลอไรด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Spasium (สปาเซียม) Bangkok Lab & Cosmetic
Spasmex 30 (สแปสเมกซ์ 30) Dr R Pfleger Chemische
Spasmo-Lyt 20 mg (สแปสโม-ไลท์ 20 มิลลิกรัม) Madaus
Urivesc (ยูริเวส) Madaus

 

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยาโทรสเปียมคลอไรด์ ที่จำหน่ายในต่างประเทศ เช่น Sanctura, Tropez OD, Trosec, Regurin, Flotros

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Trospium_chloride   [2022,Dec24]
  2. https://www.drugs.com/mtm/trospium.html  [2022,Dec24]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Spasium/?type=brief   [2022,Dec24]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=Trospium%20chloride  [2022,Dec24]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/info/trospium%20chloride?mtype=generic  [2022,Dec24]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/trospium-index.html?filter=3&generic_only=  [2022,Dec24]