โดลุทิกราเวียร์ (Dolutegravir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโดลุทิกราเวียร์ (Dolutegravir หรือ Dolutegravir sodium หรือ Dolutegravir Na ย่อว่า DTG) เป็นยาในกลุ่มอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ (Integrase inhibitor)ที่ใช้รักษาผู้ป่วยเอชไอวี ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.2013 (พ.ศ.2556) และองค์การอนามัยโลกยังออกมารับรองถึงประสิทธิผลในการใช้รักษาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) อีกด้วย

ยาโดลุทิกราเวียร์มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน ตัวยาจะมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 14 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ สำหรับกลไกการออกฤทธิ์ของยาโดลุทิกราเวียร์ จะแสดงการยับยั้งการจำลองหรือการสร้างเซลล์ไวรัสเอชไอวีตัวใหม่ ทำให้การแพร่กระจายของไวรัสเอชไอวีในร่างกายหยุดหรือช้าลง ส่งผลลดภาวะติดเชื้อต่างๆของผู้ป่วย และทำให้การดำรงชีวิตของผู้ป่วยยาวนานขึ้น

*สำหรับผลข้างเคียงสำคัญของยาโดลุทิกราเวียร์ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ เรื่องการทำงานของตับ ผู้ป่วยที่ได้รับยาโดลุทิกราเวียร์จำเป็นต้องได้รับการตรวจสภาพการทำงานของตับเป็นระยะๆ *กรณีที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบขึ้นมา สามารถสังเกตจากอาการ ตัวเหลืองตาเหลือง ปัสสาวะมีสีคล้ำ อุจจาระมีสีซีดจาง คลื่นไส้ เบื่ออาหารต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน มีอาการเจ็บ/ปวดบริเวณใต้ชายโครงขวา(ตำแหน่งที่อยู่ของตับ) หากพบเห็นเหตุการณ์เหล่านี้ ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

อีกประการ *กรณีที่แพ้ยาโดลุทิกราเวียร์ มักจะเกิดอาการ มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ เกิดแผลในช่องปาก ผิวหนังลอก ใบหน้า-ริมฝีปาก-ลิ้นมีอาการบวม ตาบวมและแดง ตลอดจนหายใจลำบาก ซึ่งหากพบผู้ป่วยที่ใช้ยานี้แล้วมีอาการดังกล่าว ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เช่นกัน

อาจสรุปข้อควรปฏิบัติ/ข้อควรระวังของผู้ป่วยก่อนได้รับยาโดลุทิกราเวียร์มีดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาโดลุทิกราเวียร์มาก่อน
  • เพิ่มความระมัดระวังอย่างมากเมื่อต้องใช้ยาโดลุทิกราเวียร์กับผู้ที่มีประวัติป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี หรือ ไวรัสตับตับอักเสบ ซี
  • หลีกเลี่ยง/ห้ามการใช้ยาโดลุทิกราเวียร์กับผู้ที่ใช้ยา Dofetilide, Nevirapine Oxcarbazepine, Phenobarbital, Phenytoin ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันผลข้างเคียงอย่างรุนแรงจากยาทุกตัวดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับ ยาลดกรด ด้วยจะทำให้การดูดซึมยาโดลุทิกราเวียร์จากระบบทางเดินอาหารลดต่ำลง กรณีจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ควรรับประทานยาโดลุทิกราเวียร์ก่อนยาลดกรดอย่างน้อย 2 ชั่วโมงขึ้นไป หรือรับประทานหลังยาลดกรด ประมาณ 6 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
  • ต้องมารับการตรวจเลือดที่โรงพยาบาล เพื่อดูการทำงานของตับตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ยาโดลุทิกราเวียร์ไม่ใช่ยาป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเอชไอวี จึงห้ามผู้ป่วยบริจาคโลหิตตลอดจนการมีเพศสัมพันธ์ยังต้องใช้ถุงยางอนามัยชายทุกครั้งเพื่อ ป้องกันการติดต่อของเอชไอวี
  • กรณีตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบทุกครั้งเมื่อเข้ารับการรักษา เพราะจากการศึกษาพบว่าโดลุทิกราเวียร์สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์มารดาได้
  • เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยต้องรับประทานยาโดลุทิกราเวียร์ ตรงขนาด ตรงเวลา ตามคำสั่งแพทย์ ข้อดีประการหนึ่งของยานี้คือสามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • กรณีมีความผิดปกติเกิดขึ้นหลังรับประทานยาโดลุทิกราเวียร์ เช่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ เกิดแผลในช่องปาก ระคายเคืองตา หายใจขัด/หายใจลำบาก ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
  • ยาโดลุทิกราเวียร์จะช่วยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อชนิดใดๆก็ตาม ควรต้องรีบพาผู้ป่วยเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที

ยาโดลุทิกราเวียร์ เป็นยารักษาเอชไอวีที่ได้รับการยอมรับจากประเทศแถบโลกตะวันตก สหภาพยุโรป และมีจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งมีทั้งสูตรตำรับยาเดี่ยวและสูตรตำรับแบบยาผสม โดยคณะกรรมการอาหารและยาของบ้านเรากำหนดได้กำหนด ให้ยาโดลุทิกราเวียร์เป็นประเภทยาควบคุมพิเศษ ก่อนที่ผู้ป่วยเอชไอวีจะได้รับยาชนิดนี้ต้องผ่านการตรวจคัดกรองร่างกายจากแพทย์ทุกครั้ง และต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์แต่ผู้เดียว

โดลุทิกราเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โดลุทิกราเวียร์

ยาโดลุทิกราเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาโรคเอชไอวี(HIV)

โดลุทิกราเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

โดยทั่วไป ไวรัสเอชไอวี จะเข้ารวมตัวกับกลุ่มเซลล์เม็ดเลือดขาว อย่างเช่นชนิด T-Cell โดยผ่านเข้าทางสาร Glycoproteins ที่อยู่บริเวณผิวของ T-Cell ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า CD4+ (Cluster of differentiation 4) หลังจากนั้นจะมีกระบวนการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัสชนิด RNA ไปเป็น DNA ซึ่ง DNA นี้จะเข้ารวมตัวกับ DNA ของเม็ดเลือดขาวผู้ป่วย ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์และหมดสภาพของเม็ดเลือดขาวในการเป็นภูมิคุ้มกัน/ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ซึ่งกระบวนการดังกล่าว ไวรัสเอชไอวีจะอาศัยเอนไซม์ที่มีชื่อว่า อินทีเกรซ (Integrase) ทั้งนี้ ยาโดลุทิกราเวียร์ที่เป็นยาอินทีเกรซ อินฮิบิเตอร์ จะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์อินทีเกรซ ทำให้กระบวนการจำลองไวรัสเอชไอวีสิ้นสุด และไม่สามารถสร้างไวรัสฯรุ่นใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ได้รับยาโดลุทิกราเวียร์ จะยังคงมีเชื้อเอชไอวีหลงเหลืออยู่ในร่างกายเสมอ แต่ในปริมาณเชื้อที่ลดลง จนลดอาการโรคหรือไม่ก่ออาการโรค ดังนั้น เมื่อประมวลผลสรุปในภาพรวม ตัวยาโดลุทิกราเวียร์จึงทำให้ยืดอายุของผู้ป่วยเอชไอวีได้ยาวนานขึ้น

โดลุทิกราเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโดลุทิกราเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายในสูตรตำรับทั้งที่เป็นยาเดี่ยว และสูตรผสมร่วมกับยาต้านเอชไอวีตัวอื่น เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Dolutegravir ขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Dolutegravir 50 มิลลิกรัม+ Abacavir 600 มิลลิกรัม+ Lamivudine 300 มิลลิกรัม /เม็ด

โดลุทิกราเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโดลุทิกราเวียร์มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป หรือเด็กที่มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานยาขนาด 50 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 40 กิโลกรัม หรือเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา

อนึ่ง:

  • ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้ตรงตามขนาด และตรงเวลา ตามคำสั่งแพทย์
  • แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดยาต้านไวรัสเอชไอวีตัวอื่นให้ผู้ป่วย โดยดูตาม ความเหมาะสมเป็นกรณีผู้ป่วยแต่ละราย ยาต้านไวรัสเอชไอวี ดังกล่าว ได้แก่ยา Efavirenz, Fosamprenavir, Ritonavir, และ/หรือ Tipranavir
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะโรคตับระดับรุนแรง ห้ามใช้ยาชนิดนี้
  • ผู้ที่ได้รับยานี้ ต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจสภาพตับ ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโดลุทิกราเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต วัณโรค โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดลุทิกราเวียร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโดลุทิกราเวียร์ สามารถรับประทานยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

*แต่อย่างไรก็ตาม การหยุดรับประทานยาโดลุทิกราเวียร์เอง จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาเอชไอวีต่ำลง และกรณีหยุดรับประทานยาโดลุทิกราเวียร์เป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน หรือหยุดยานี้บ่อยๆ ให้ผู้ป่วยรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการตรวจร่างกายยืนยันอาการโรค และเพื่อแพทย์ปรับแนวทางการใช้ยานี้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วย

โดลุทิกราเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโดลุทิกราเวียร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา( ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือด เช่น ชนิด LDL สูง มีภาวะหน้าอก/เต้านมโต
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค เช่น ภูมิคุ้มกันฯทำงานผิดปกติ เกิดโรคคอพอกแบบมีอาการตาโปน
  • ผลต่อระบบประสาท เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้
  • ผลต่อสภาพจิตใจ เช่น นอนไม่หลับ ฝันร้าย
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบ
  • ผลต่อไต เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น ไตทำงานผิดปกติ/ไตอักเสบ
  • ผลต่อระบบเลือด เช่น อาจทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(Neutrophil)ต่ำ
  • ผลต่อตับ เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มสูงขึ้น ตับอักเสบ ค่าบิลิรูบินในเลือดสูง

มีข้อควรระวังการใช้โดลุทิกราเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดลุทิกราเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดใช้ยานี้ ด้วยตนเอง
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากยานี้ที่รุนแรง
  • การจะใช้ยาชนิดอื่นๆร่วมกับยาโดลุทิกราเวียร์จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโดลุทิกราเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด)รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โดลุทิกราเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดลุทิกราเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาโดลุทิกราเวียร์ร่วมกับ วิตามินรวม ด้วยกลุ่มวิตามินรวมมักจะมีส่วนประกอบของ แคลเซียม ธาตุเหล็ก และแมกนีเซียม การรับประทานยาร่วมกัน จะทำให้การดูดซึมของยาโดลุทิกราเวียร์จากระบบทางเดินอาหารต่ำลง
  • การใช้ยาโดลุทิกราเวียร์ร่วมกับยา Atazanavir แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสม ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดลุทิกราเวียร์ร่วมกับยา Varenicline เพราะยาโดลุทิกราเวียร์สามารถทำให้ร่างกายได้รับอาการข้างเคียงจากยา Varenicline เพิ่มมากขึ้น
  • การใช้ยาโดลุทิกราเวียร์ร่วมกับ ยาMetformin จะทำให้ระดับยาMetformin ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาMetforminสูงขึ้นตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโดลุทิกราเวียร์อย่างไร?

ควรเก็บยาโดลุทิกราเวียร์ภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โดลุทิกราเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโดลุทิกราเวียร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Tivicay (ไทวิเค)GlaxoSmithKline
Triumeq (ไทรอำเม็ก)GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dolutegravir [2017,Oct28]
  2. https://aidsinfo.nih.gov/drugs/509/dolutegravir/0/patient [2017,Oct28]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tivicay/?type=brief [2017,Oct28]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/triumeq/?type=brief [2017,Oct28]
  5. https://www.drugs.com/cdi/dolutegravir.html [2017,Oct28]
  6. https://www.drugs.com/sfx/dolutegravir-side-effects.html [2017,Oct28]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/dolutegravir-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Oct28]