โดพามีน แอนตาโกนิสต์ (Dopamine antagonists)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือ ยาอะไร?

ยาโดพามีน/โดปามีน แอนตาโกนิสต์ (Dopamine antagonists หรือ Antidopaminergic drug หรือ Dopamine receptor antagonist) เป็นกลุ่มยา/สารเคมีที่ออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของตัวรับ (Receptor) ที่มีชื่อว่า Dopamine receptors ทางคลินิกพบว่า Dopamine receptors มี 5 ประเภทคือ D1 D2 D3 D4 และ D5 ซึ่งมีอยู่ตามอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายเช่น สมอง ปลายประสาท เส้นเลือด/หลอดเลือด อวัยวะของระบบทางเดินอาหาร และไต ประโยชน์ทางการแพทย์ของสารเคมี/ยาในกลุ่มโดพามีน แอนตาโกนิสต์ได้ถูกนำมารักษาและบำบัดอาการโรค ต่างๆได้ดังนี้เช่น

  • กลุ่มที่ใช้บำบัดรักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียน: เช่น Droperidol, Metoclopramide และ Domperidone ยากลุ่มนี้มีอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่เด่นๆคือ กระสับกระส่าย กล้ามเนื้อเกร็งตัว และง่วงนอน
  • กลุ่มที่ใช้รักษาอาการทางจิตประสาทอย่างโรคจิตเภทไบโพล่าเช่น Risperidone, Clozapine, Olanzapine, Ziprasidone และ Quetiapine อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยจากกลุ่มยานี้เช่น มีการ ทรงตัวผิดปกติ มีภาวะทางหัวใจผิดปกติจนถึงขั้นเสียชีวิต (ตาย) มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เกิดภาวะเบาหวาน มีการจับตัวของเกล็ดเลือดมากขึ้น (เกิดลิ่มเลือดที่ส่งผลให้หลอดเลือดอุดตัน) รวมถึงเกิดภาวะ Neuroleptic malignant syndrome (กลุ่มอาการที่เกิดจากการแพ้ยากลุ่มยารักษาทางจิตเวชที่รุนแรง อาจทำให้เสียเสียชีวิตได้เช่น ไข้สูง กล้ามเนื้อกระตุกเกร็ง และมีความผิดปกติ ในการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ)
  • กลุ่มที่ใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า อาการโรคสมาธิสั้น เช่น Clomipramine และ Amoxapine อาการข้างเคียงของยาที่อาจพบได้เช่น ความจำเสื่อม โรควิตกกังวล ง่วงนอน สมรรถภาพทางเพศถดถอย หัวใจเต้นผิดจังหวะ

อนึ่ง ยังมีตัวอย่างของยากลุ่มโดพามีน แอนตาโกนิสต์อีกหลายรายการและถือเป็นกลุ่มยาที่มีจำนวนมากพอสมควรอาทิเช่น Acepromazine, Amisulpride, Azaperone, Benperidol, Bromo pride, Butaclamol, Chlorpromazine, Chlorprothixene, Clopenthixol, Eticlopride, Flupenthi xol, Fluphenazine, Fluspirilene, Haloperidol, Hydroxyzine, Iodobenzamide, Loxapine, Mesoridazine , Levomepromazine, Nafadotride, Nemonapride, Paliperidone, Penfluridol, Perazine, Perphenazine, Pimozide, Prochlorperazine, Promazine,, Raclopride, Remoxipride, Spiperone, Spiroxatrine, Stepholidine, Sulpiride, Sultopride, Tetrahydropalmatine, Thiethyl perazine, Thioridazine, Thiothixene, Tiapride, Trifluoperazine, Trifluperidol, Trifluproma zine

ทั้งนี้ยาหลายตัวดังข้างต้นไม่เพียงแต่จะออกฤทธิ์ที่ Dopamine receptor เท่านั้นแต่ยังอาจออกฤทธิ์กับตัวรับ (Receptor) อื่นๆของร่างกายได้ด้วยเช่น Alpha-receptor H1/Histamine1 receptor, Serotonin receptor, Muscarinic acetylchloline receptor จึงเป็นเหตุให้การใช้ยาต่างๆเหล่านี้มีอาการข้างเคียงต่างๆติดตามมาได้มาก

ทางคลินิกมีการทดลองใช้ยากลุ่มโดพามีน แอนตาโกนิสต์ในการรักษาอาการโรคอื่นเช่น นำ ไปรักษาไมเกรน เป็นต้น

ดังนั้นการเลือกใช้ยารายการใดเพื่อบำบัดอาการป่วยนั้นต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์เท่านั้น ด้วยจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพของการรักษาและเกิดความปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด

โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร ?

โดพามีน-แอนตาโกนิสต์

ยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาอาการทางจิตเภทไบโพล่า/อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) อาการซึมเศร้า โรคสมาธิสั้น กลุ่มอาการ Tourett’s syndrome บำบัดอาการของผู้ติดยาเสพติด สารเสพติด หรือติดสุรา รวมถึงอาการปวดเรื้อรังจากโรคต่างๆเช่น โรคมะเร็ง
  • รักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียน อาการกรดไหลย้อน ใช้เป็นยาเตรียมเพื่อทำหัตถการส่องกล้องตรวจอวัยวะภายใน (Endoscopy) และช่วยบำบัดอาการสะอึก
  • รักษาอาการแพ้ เช่น ผื่นคันตามผิวหนัง
  • ใช้ต้านพิษยาเสพติดประเภท Codeine, Amphetamines

โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) ที่เรียกว่า Dopamine receptor ก่อให้เกิดการยับยั้งและปิดกั้นการทำงานและการตอบสนองของตัว รับดังกล่าว จากนั้นจะเกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในร่างกายใหม่และส่งผลต่ออาการป่วย โดยทำให้อาการทุเลาเบาบางลง

โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ด้วยเป็นกลุ่มยาที่มียาหลากหลายรายการทำให้รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายของยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์มีทั้ง

  • ยาเม็ด
  • ยาแคปซูล
  • ยาน้ำชนิดรับประทาน และ
  • ยาฉีด

โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ขนาดรับประทานของยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์จะขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ โดยต้องอาศัยข้อมูลทางการแพทย์ของตัวผู้ป่วย รวมกับเลือกใช้ยาให้ตรงตามอาการและมีความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นการรับประทานยากลุ่มนี้จึงต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ ให้ตรงเวลา

โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ อาจก่อให้เกิดผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) โดยสัมพันธ์กับระยะเวลาของการใช้ยาเป็นเวลานานรวมถึงขนาดยาที่รับประทาน ยิ่งขนาดยาสูง โอกาสเกิดผลข้างเคียงก็จะสูงขึ้น ซึ่งยาในกลุ่มนี้อาจส่งผลให้มีผลข้างเคียง เช่น

  • วิตกกังวล
  • มีภาวะซึมเศร้า
  • เกิดความผิดปกติในการเคลื่อนไหวร่างกาย (Extrapyramidal symtoms)
  • มีอาการน้ำนมไหล
  • หิวอาหารบ่อย
  • รู้สึกก้าวร้าว
  • ความต้องการทางเพศลดน้อยลง
  • ประจำเดือนมาผิดปกติ
  • การเผาผลาญอาหารในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปจนอาจเสี่ยงกับการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2
  • เกิดอาการคล้ายสมาธิสั้น
  • อาจมีอาการคล้ายเป็นโรคลมหลับ

*ทั้งนี้ กรณีที่มีอาการข้างเคียงที่รบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับขนาดการใช้ยาหรือปรับแนวทางการรักษา

มีข้อควรระวังการใช้โดพามีน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โดพามีน แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มโดพามีน แอนตาโกนิสต์
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้หลังการรับประทานเช่น ตัวบวม, มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว, อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ,และควรต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง ควรรับประทานยานี้ตรงตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยมิได้ปรึกษาแพทย์ด้วยอาจเกิดอาการถอนยาหรือทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น
  • หากใช้ยานี้ไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมเช่น ประมาณ 1 สัปดาห์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควร พาผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาใหม่ระวังการใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยบางกลุ่มเช่น ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่มีภาวะโล หิตจาง ผู้ที่ไขกระดูกทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ติดสุรา ผู้ป่วยโรคต้อหิน
  • ระหว่างการใช้ยานี้หากมีอาการวิงเวียนควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • มาพบแพทย์/โรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัว เช่น

  • ห้ามใช้ยา Clozapine ร่วมกับยาต้านไวรัส Zidovudine ด้วย Clozapine สามารถทำให้เม็ด เลือดขาวลดน้อยลงโดยมีการกดการทำงานของไขกระดูก ทำให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคลดน้อยลงและเสี่ยงกับการติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
  • การใช้ยา Domperidone ร่วมกับยาต้านเชื้อราบางตัวสามารถทำให้ระดับยา Domperidone ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยามากยิ่งขึ้น ยาต้านเชื้อราดังกล่าว เช่นยา Itraconazole และ Ketoconazole
  • การใช้ยา Pimozide ร่วมกับยากลุ่ม SSRIs อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติในการเคลื่อนไหว ซึ่งมีสาเหตุจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมองหรือที่เรียกว่า Extrapyramidal side effects หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยา Risperidone ร่วมกับยากลุ่ม Dopamine และ Levodopa ด้วยมีฤทธิ์ต่อต้านซึ่งกันและกัน

ควรเก็บรักษาโดพามีน แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์:

  • เก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา /ฉลากยา
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โดพามีน แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโดพามีน แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Ama (เอมา) Atlantic Lab
Ammipam (แอมมิแพม) MacroPhar
Chlopazine (คลอปาซีน) Condrugs
Chlorpromazine GPO (คลอโพรมาซีน จีพีโอ) GPO
Chlorpromed (คลอโพรเมด) Medifive
Matcine (แมทซีน) Atlantic Lab
Plegomazine (พลีโกมาซีน) Chew Brothers
Pogetol (โพจีทอล) Cental Poly Trading
Prozine (โพรซีน) Utopian
Clopaze (โคลแพซ) Pharminar
Cloril (โคลริล) Atlantic Lab
Clozamed (โคลซาเมด) Medifive
Clozaril (โคลซาริล) Novartis
Clozapin (โคลซาปิน) Central Poly Trading
Auto (ออโต้) Patar Lab
Avomit-M (เอโวมิท-เอ็ม) V S Pharma
Dany (แดนี) The Forty-Two
Dolium (โดเลี่ยม) Utopian
Domerdon (โดเมอร์ดอน) Asian Pharm
Dominox (โดมิน็อก) T. Man Pharma
Domp (ดอมพ์) Community Pharm PCL
Domperdone (ดอมเพอร์โดน) Polipharm
Domper-M (ดอมเพอร์-เอ็ม) Bangkok Lab & Cosmetic
Domp-M (ดอมพ์-เอ็ม) Community Pharm PCL
Emex (อีเม็ก) Thai Nakorn Patana
Meridone (เมอริโดน) GPO
Mirax-M (ไมแร็ก-เอ็ม) Berlin Pharm
Mocydone M (โมไซโดน เอ็ม) Pharmasant Lab
Modomed (โมโดเมด) Medifive
Molax (โมแล็ก) Siam Bheasach
Molax-M (โมแล็ก-เอ็ม) Siam Bheasach
Moticon (โมทิคอน) Condrugs
Motidom (โมทิดอม) T.O. Chemicals
Motidom-M (โมทิดอม-เอ็ม) T.O. Chemicals
Motilar (โมทิลาร์) Inpac Pharma
Motilin (โมทิลิน) Inpac Pharma
Motilium/Motilium-M (โมทิเลี่ยม/โมทิเลี่ยม เอ็ม) Janssen-Cilag
Zyprexa (ไซเพรคซา) Eli Lilly
Olapin-10 (โอราปิน) Unison
LARAP (ลาแรพ) La Pharma
MOZEP (โมเซพ) Intas
NEURAP (นูแรพ) Torrent
NOTIC (โนติค) Sunrise
ORAP (โอแรพ) J & J (Ethnor)
PIMOZ (พิมอซ) Swiss Biotech
R-ZEP (อาร์-เซพ) Reliance

บรรณานุกรม

  1. http://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_antagonist [2021,Jan23]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine_antagonist [2021,Jan23]
  3. http://alcoholrehab.com/drug-addiction/dopamine-antagonists/ [2021,Jan23]
  4. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/22012659/ [2021,Jan23]
  5. https://healthfully.com/what-is-a-dopamine-antagonist-5734909.html [2021,Jan23]
  6. http://emedicine.medscape.com/article/1151826-overview [2021,Jan23]