อะไรกัน ! โดนน้ำหนีบ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

โดนน้ำหนีบ-3

การวิเคราะห์โรคดูได้จากประวัติการดำน้ำและอาการที่เกิดขึ้น ส่วนการตรวจเลือดและเอ็กซเรย์มักจะไม่แสดงให้เห็นว่ามีปัญหา

สำหรับการป้องกันที่ทำได้ก็คือ การลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคน้ำหนีบ ซึ่งได้แก่

  • การปฏิบัติตามกฎของการดำน้ำอย่างเคร่งครัด
  • ดำน้ำและทะยานขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างช้าๆ อย่าอยู่ในที่ระดับน้ำลึกเกินเวลาที่แนะนำในแต่ละระดับ
  • หลีกเลี่ยงการดำน้ำในน้ำที่เย็น
  • อย่าการออกกำลังมากเกินความจำเป็นระหว่างการดำน้ำ
  • อย่าขึ้นเครื่องบินภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากดำน้ำ
  • อย่าดื่มแอลกอฮอล์ก่อนดำน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนหรือเข้าห้องอบเซาน่าหลังการดำน้ำ
  • ก่อนลงดำน้ำให้แน่ใจว่าร่างกายได้รับน้ำ (Well hydrated) ได้รับการพักผ่อน และมีการเตรียมตัวที่เพียงพอ หากเพิ่งหายป่วย หรือได้รับบาดเจ็บ หรือผ่าตัด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนลงดำน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำและว่ายกลับลงมาใหม่หลายๆ ครั้ง

และเพื่อความปลอดภัยหากมีปัญหาเรื่องหัวใจ ไม่ควรดำน้ำ หรือหากเป็นโรคหอบหืดหรือมีประวัติเรื่องปอดฉีกหรือเป็นโรคเกี่ยวกับปอด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนดำน้ำ ส่วนผู้ที่รักษาโรคเบาหวานด้วยอินซูลินอาจมีการเหวี่ยงของระดับกลูโกสในเลือดระหว่างการดำน้ำ และควรหลีกเลี่ยงการดำน้ำถ้ายังไม่ได้ทำการรักษาโรคไส้เลื่อนขาหนีบ (Groin hernia) ทั้งนี้เพราะการขยายตัวของก๊าซในลำไส้อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการได้

การรักษาโรคน้ำหนีบเป็นเรื่องของการรักษาระดับความดันโลหิตและการจัดการกับออกซิเจน ซึ่งอาจมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือด (IV Fluids)

โดยการรักษาหลักคือ การใช้ออกซิเจนบำบัด (Hyperbaric Oxygen Therapy หรือ HBOT) หรือการให้ผู้ป่วยหายใจรับเอาออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% เข้าไปในร่างกาย ภายในห้องที่มีลักษณะคล้ายแคปซูลที่ปรับความดันบรรยากาศสูง หรือที่เรียกว่า อุโมงค์ออกซิเจน (Hyperbaric oxygen Chamber) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับออกซิเจนอย่างเต็มที่ ก็จะทำให้ระบบการทำงานส่วนต่างๆ ของร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

นอกจากนี้อาจมีการให้ยาแก้ปวด ยาหดหลอดเลือด (Decongestant) ใช้เพื่อลดอาการคัดจมูก ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

แหล่งข้อมูล:

  1. The Bends (Decompression Syndromes). https://www.emedicinehealth.com/decompression_syndromes_the_bends/article_em.htm [2018, January 17].
  2. Decompression Sickness. https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/decompression-sickness [2018, January 17].