โซเดียมไนโตรปรัสไซด์ Sodium nitroprusside

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์(Sodium nitroprusside ย่อว่า SNP)เป็นสารประกอบ อนินทรีย์ที่มีสูตรทางเคมี คือ Na2[Fe(CN)5NO)2H2O ลักษณะเป็นผงผลึกสีแดง ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคือ ช่วยให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลทำให้ความดันโลหิตลดลง ทางคลินิกได้นำยานี้มาบำบัดรักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ ด้วยใช้ระยะเวลาของการให้ยานี้เพียงไม่กี่นาทีก็สามารถทำให้ระดับความดันโลหิตสูงลดลงมาจนปกติ ยานี้ยังสามารถใช้บำบัดรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวได้อีกด้วย หรือบางกรณีทางคลินิกจะใช้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ลดความดันโลหิตของผู้ที่มีบาดแผลซึ่งมีเลือดออกมากเพื่อช่วยลดแรงดันเลือด จึงส่งผลให้เลือดไหลน้อยลงและหยุดไหลได้

ยังมีประโยชน์ทางคลินิกด้านอื่นอีกมากมายที่ได้รับจากยานี้ เช่น ใช้บำบัดรักษา โรคลิ้นหัวใจชนิด Aortic valve stenosis, โรคหลอดเลือดชนิดที่พบได้น้อยที่เรียกว่า โรค Erythromelalgia โรคหลอดเลือดดำขอดของหลอดอาหาร(Oesophageal Varices) อาการไข้สูงมาก ภาวะเลือดเป็นกรดชนิดLactic acidosis ภาวะความดันโลหิตในปอดสูง กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน(Acute respiratory distress syndrome) ภาวะช็อก หลอดเลือดในสมองหดเกร็ง/โรคหลอดเลือดสมอง หรือการได้รับพิษจากยากลุ่ม Ergot

รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ จะเป็นยาฉีด จึงทำให้ตัวยานี้สามารถแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด 100% เนื่องจากยานี้เป็นรูปแบบของสารประกอบประเภทเกลือโซเดียม จึงทำให้ร่างกายใช้เวลาน้อยกว่า 2 นาที ก็สามารถกำจัดตัวยานี้ออกจากร่างกาย โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ

ข้อจำกัดบางประการของการใช้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับภาวะความดันโลหิตสูงประเภท Compensatory hypertension
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีการไหลเวียนของของเหลว/เลือดภายในสมองได้ไม่ดีพอ เช่น ผู้ที่ใกล้จะเสียชีวิต
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินบี12 ผู้ที่มีภาวะโลหิตจาง ผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ ที่มีรายงานบ่อย เช่น หัวใจเต้นช้า ความดันโลหิตต่ำ ชีพจร และหัวใจเต้นผิดจังหวะ กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน ปวดศีรษะ

อนึ่ง การได้รับยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์เกินขนาด อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอันตรายจากส่วนประกอบของยานี้ที่เป็นเกลือไซยาไนด์(Cyanide salt) เช่นเกิด ภาวะเลือดเป็นกรด หายใจลำบากจนถึงขั้นหยุดหายใจ และโคม่า ซึ่งทางการแพทย์จะแก้ไขโดยให้ยา Sodium nitrite และยา Sodium thiosulfate แก่ผู้ป่วยเพื่อกำจัดพิษไซยาไนด์ดังกล่าว

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีไว้เพื่อให้บริการกับผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้กำหนดให้ยานี้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และเราจะพบเห็นการใช้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น โดยการใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

โซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โซเดียมไนโตรปรัสไซด์

ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ
  • กระตุ้นให้ความดันโลหิตลดลง ขณะที่ผู้ป่วยอยู่ในระหว่างวางยาสลบ
  • บำบัดภาวะหัวใจล้มเหลว

โซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีกลไกการออกฤทธิ์เพียงระยะเวลาสั้นๆ โดยตัวยาจะส่งผลต่อกล้ามเนื้อเรียบในผนังหลอดเลือดดำและหลอดเลือดแดง ทำให้หลอดเลือดเกิดการคลายตัวจนทำให้ความดันโลหิตลดลง และก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีดขนาด 50 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร (50,000 ไมโครกรัม/2 มิลลิลิตร และ 50,000,000 นาโนกรัม/2 มิลลิลิตร)

โซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก.สำหรับบำบัดรักษาภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติ:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นให้ยาทางหลอดเลือดดำขนาด 0.3-1.5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที แพทย์อาจปรับขนาดการใช้ยาเพิ่มขึ้นเป็น 0.5–6 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ขนาดการใช้ยาสูงสุดอยู่ที่ 8 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
  • เด็ก: เริ่มต้นให้ยาทางหลอดเลือดดำขนาด 250 – 500 นาโนกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที แพทย์อาจต้องให้ยาซ้ำภายใน 15 – 20 นาที อีก 1 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย ขนาดการให้ยาสูงสุดอยู่ที่ 6 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
  • ผู้สูงอายุ: ขนาดยาเป็นตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

ข.สำหรับกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตต่ำ:

  • ผู้ใหญ่: หยดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1.5 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
  • เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*อนึ่ง การเตรียมยานี้ก่อนฉีด ให้เจือจางยาด้วยสารละลายDextrose 5% ด้วยปริมาณตามระบุในเอกสารกำกับยา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆอย่าง โรคตับ โรคไต โรคต่อมไทรอยด์ โรคโลหิตจางรวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมฉีดยาควรทำอย่างไร?

การใช้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ จะกระทำแต่ในสถานพยาบาลโดยใช้กับผู้ป่วยในภาวะวิกฤติ การลืมฉีดยาให้ผู้ป่วยจึงเกิดขึ้นได้ยากมากๆ หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยว่าตนเอง ได้รับยานี้หรือยัง สามารถสอบถามกับบุคคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการได้ตลอดเวลา

โซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย วิงเวียน
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่นเกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • อื่นๆ: เช่น เกิดภาวะ Cyanosis

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมไนโตรปรัสไซด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ระยะที่เรียกว่า Compensatory hypertension
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ระวังเกิดความเสียหาย/ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้ต่อ ตับ-ไต
  • ระวังภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดขณะใช้ยานี้
  • ระหว่างการใช้ยานี้ต้องควบคุมระดับสาร Thiocyanate(เกลือไซยาไนด์ที่เป็นส่วนประกอบของยานี้) ในกระแสเลือดให้อยู่ในระดับปกติอยู่เสมอ รวมถึงคอยควบคุมสัญญาณชีพ (อย่างเช่น ความดันโลหิต) และระดับออกซิเจนในเลือดให้เป็นปกติตลอดเวลา
  • หลีกเลี่ยงการหยุดใช้ยานี้โดยทันที
  • กรณีให้ยานี้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงขั้นวิกฤติแล้วประมาณ 10 นาที อาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจหยุดการใช้ยานี้ แล้วเปลี่ยนเป็นยาชนิดอื่นแทน
  • ปฏิบัติตามคำสั่งของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้อง ปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาไนโตรปรัสไซด์ร่วมกับยา Tadalafil ด้วยจะทำให้ความดันโลหิตต่ำขั้นรุนแรงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ร่วมกับยา Prilocaine ด้วยจะทำให้เกิด ภาวะ Methemoglobinemia(ภาวะผิดปกติของเม็ดเลือดแดงที่ไม่สามารถจับ ออกซิเจนได้) ติดตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ร่วมกับยา Digoxin ด้วยอาจทำให้ระดับยา Digoxin ในกระแสเลือดลดลงจนขาดประสิทธิภาพในการรักษา
  • การใช้ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ร่วมกับยากลุ่ม Phosphodiesterase inhibitor อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำขั้นรุนแรง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์อย่างไร?

ควรเก็บยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ ภายใต้อุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โซเดียมไนโตรปรัสไซด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซเดียมไนโตรปรัสไซด์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Nipride (ไนไพรด์) Roche Laboratories
Nitropress (ไนโตรเพรส) Hospira, Inc

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Niside, Nipress, Nitroplus, Pruside, Sonide

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_nitroprusside [2016,Oct15]
  2. http://reference.medscape.com/drug/nipride-nitropress-nitroprusside-sodium-342312 [2016,Oct15]
  3. http://www.rxlist.com/nitropress-drug/indications-dosage.html [2016,Oct15]
  4. https://www.drugs.com/mtm/nitroprusside.html [2016,Oct15]
  5. https://online.epocrates.com/u/1061595/Nitropress/Pricing+Manufacturer [2016,Oct15]
  6. https://online.epocrates.com/u/1061631/Nipride/Pricing+Manufacturer [2016,Oct15]