โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Sodium channel blocker)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Sodium channel blocker) คือ กลุ่มยาที่นำมาใช้บำบัดรักษาโรคได้หลายโรค  เช่น ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ  ยากันชัก  ยาชาเฉพาะที่ โดยเป็นกลุ่มยา/สารที่คอยปิดกั้นการซึมผ่านของเกลือโซเดียมที่บริเวณผนังเซลล์ของเนื้อเยื่อตามร่างกาย,  กลไกการปิดกั้นเหล่านี้หากเกิดที่บริเวณอวัยวะใด ก็จะแสดงฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในอวัยวะ, ทั้งนี้รูปแบบยามีได้ทั้ง ยารับประทาน ยาฉีด และยาทาภายนอก

อาจแบ่งหมวดหมู่ หรือจำแนกประเภทยา/สารโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์โดยยึดจากโครงสร้างทางเคมี หรืออวัยวะในร่างกายที่ตัวยาออกฤทธิ์ เช่น   

ก. กลุ่มสารอัลคาลอยด์ (Alkaloids):  โดยสารนี้ออกฤทธิ์ปิดกั้นการส่งผ่านเกลือโซเดียมระหว่างเซลล์กับเซลล์ ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มสารอัลคาลอยด์ดังกล่าวได้ดังนี้ เช่น

  • Saxitoxin: จัดเป็นสารที่ออกฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อระบบประสาท หรือเป็นที่รู้จักกันดีว่า คือ พิษที่พบได้ในสัตว์น้ำที่มีเปลือกหุ้ม โดยการออกฤทธิ์จะทำให้ร่างกายของเหยื่อหรือผู้สัมผัสเกิดอัมพาต
  • Neosaxitoxin: เป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกับ Saxitoxin  พบได้ตามธรรมชาติในสัตว์ทะเลที่มีพิษ  การออกฤทธิ์จะทำให้เกิดอัมพาตคล้ายกับจาก Saxitoxin
  • Tetrodotoxin: จัดเป็นสารอัลคาลอยด์ที่ออกฤทธิ์เป็นพิษต่อระบบประสาทอีกชนิดหนึ่งที่พบได้ในสัตว์ทะเล หรือในแบคทีเรียประเภท Pseudoalteromonas tetraodonis ก็สามารถผลิตสารพิษแบบนี้ได้

ข. กลุ่มยาชาเฉพาะที่ (Local anesthetics):  เป็นกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการนำเกลือโซเดียมมิให้ผ่านเข้า-ออกในผนังเซลล์ประสาท,  ประโยชน์ทางการแพทย์ของยากลุ่มนี้มีอย่างมากมาย เช่น  

  • ช่วยระงับอาการปวดแบบเฉียบพลัน: เช่น จากบาดแผล  หรือจากภาวะอักเสบ รวมถึงอาการปวด/เจ็บจากการคลอดบุตร
  • ระงับอาการปวดแบบเรื้อรัง: ซึ่งแพทย์อาจนำมาใช้ร่วมกับยากลุ่ม Opioids, NSAIDs, และยาต้านชัก/ยากันชัก (Anticonvolsants), ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษา
  • ระงับอาการปวดระหว่างการผ่าตัดตามอวัยวะต่างๆ: เช่น ศัลยกรรม ตา หู คอ จมูก การผ่าตัดหัวใจ ปอด ช่องท้อง ระบบของอวัยวะสืบพันธุ์ กระดูก ข้อ ผิวหนัง หลอดเลือด  รวมถึงการใช้ในคลินิกทันตกรรม, ซึ่งการใช้ผิดขนาดและผิดวิธีสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อระบบประสาทส่วนกลาง และการทำงานของหัวใจ ซึ่งทั้งสองระบบนี้มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตอย่างยิ่ง  ตัวอย่างของยาในกลุ่มนี้มีมากมาย เช่น
    • ยาชากลุ่มเอสเทอร์/Ester group: เช่นยา Benzocaine,  Chloroprocaine,  Cocaine,   Cyclomethycaine,  Dimethocaine/Larocaine,  Piperocaine,  Propoxycaine,   Procaine/Novocaine,  Proparacaine,  Tetracaine/Amethocaine)
    • ยาชากลุ่มเอไมด์/Amide group: เช่น ยา Articaine,  Bupivacaine,   Cinchocaine/Dibucaine,  Etidocaine,  Levobupivacaine,  Lidocaine/Lignocaine,   Mepivacaine,  Prilocaine,  Ropivacaine,  Trimecaine
    • สารอนุพันธ์ทางธรรมชาติ: เช่น Menthol, Eugenol, Cocaine

ค. กลุ่มยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Class I antiarrhythmic agent): ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งและรบกวนการขนส่งเกลือโซเดียมในบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งมีทั้งออกฤทธิ์ได้เร็วและช้าโดยขึ้นกับชนิดของตัวยา,  สรรพคุณทางการแพทย์ มีทั้งนำมาใช้รักษาและใช้เป็นยาป้องกันการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ,  ซึ่งอาจแบ่งเป็นกลุ่มย่อยได้อีก เช่น

  • กลุ่มยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหมวด Ia (Class Ia antiarrhythmic agent): เช่น ยา Quinidine,  Ajmaline,  Procainamide,  Disopyramide, ยากลุ่มนี้ใช้รักษาภาวะหัวใจห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmias),  ป้องกันหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ (Paroxysmal recurrent atrial fibrillation),  บำบัดอาการ Wolff-parkinson-white syndrome(กลุ่มอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดหนึ่งที่เกิดแต่กำเนิด พบได้น้อยมาก)
  • กลุ่มรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหมวด Ib (Class Ib antiarrhythmic agent): เช่น ยา Lidocaine, Phenytoin,  Mexiletine,  Tocainide,  นำมาใช้บำบัดและป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction), และอาการหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ (Ventricular tachycardia)
  • กลุ่มรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะหมวด Ic (Class Ic antiarrhythmic agent): เช่น ยา Encainide,  Flecainide,  Propafenone,  Moricizine,  นำมาใช้ป้องกันภาวะหัวใจห้องบนเต้นผิดจังหวะ (Paroxysmal atrial fibrillation),  รักษาอาการหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ (Recurrent tachyarrhythmias), และมีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยกลุ่มกล้ามเนื้อหัวใจตายประเภท Immediately post-myocardial infarction

ง. กลุ่มยารักษาอาการโรคลมชัก /ยากันชัก:  จัดเป็นยาหมวดใหญ่และมีมากมายหลายรายการที่สามารถแสดงฤทธิ์ของโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง “ยากันชัก”

โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์

 

ยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น 

  • กลุ่มยาชาเฉพาะที่: จะถูกนำมาใช้บรรเทาอาการปวดทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง และใช้ในกระบวนการผ่าตัดและหัตถการของทันตกรรม
  • รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ใช้เป็นยากันชัก

โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ คือตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการส่งผ่านเกลือโซเดียมเข้า-ออกภายในเซลล์ของร่างกาย  ตัวยาแต่ละชนิดสามารถออกฤทธิ์      ทั้งด้านในหรือด้านนอกของผนังเซลล์  ทั้งนี้ขึ้นกับโครงสร้างทางเคมีที่แตกต่างกันออกไป,  นอกจากนี้ การออกฤทธิ์เกิดกับบริเวณเนื้อเยื่อของอวัยวะใด ก็จะก่อฤทธิ์ในการรักษาความผิดปกติในการทำงานของอวัยวะนั้นๆ, และทำให้มีการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในร่างกายใหม่, จึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยากลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายได้หลายรูปแบบขึ้นกับแต่ละชนิดของตัวยาที่จะแตกต่างกันในแต่ละตัวยา: เช่น

  • ยาฉีด
  • ยาชนิดรับประทาน
  • ยาทาภายนอก

โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ด้วยยาในกลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีหลากหลายรายการ  การใช้ยาแต่ละรายการจะขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำการรักษาโดยนำข้อมูล  ประวัติทางการแพทย์,  อาการ, อายุของผู้ป่วยมาประกอบกัน จึงขอไม่กล่าวในบทความนี้

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์   ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร  เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียมแชนแนล บล็อกเกอร์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด  ไม่ควรลืมรับประทานบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้ผลการรักษาด้อยประสิทธิภาพลง

โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจกล่าวในภาพรวมถึงผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ที่สามารถเกิดจากกลุ่มยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์:  เช่น

ก. กลุ่มยาชาเฉพาะที่:   อาจเกิดภาวะต่างๆ เช่น  ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน   ความรู้สึกเหมือนผิวหนังมีเข็มทิ่มแทง  อาจมีการทำลายการทำงานของเส้นประสาท  ระบบการทำงานของหัวใจ/ภาวะหัวใจล้มเหลว  ลมชัก    โคม่า  หยุดหายใจจนอาจถึงขั้นตายในที่สุด

ข. กลุ่มยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ: เช่น  อาจเกิด ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตับอักเสบ เม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง (Agranulocytosis)  ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า มีไข้ ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน หนังตากระตุก เห็นภาพซ้อน  ง่วงนอน  มีอาการตัวสั่น  คลื่นไส้  ปวดท้อง เบื่ออาหาร  การทรงตัวผิดปกติ กดไขกระดูก เกิดภาวะคล้ายโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี หลอดลมเกิดหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก การรับรสชาติเปลี่ยนไป รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร

ค.  กลุ่มยากันชัก: อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ยากันชัก

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์: เช่น             

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีอาการแพ้ยากลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์
  • ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร  เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์       
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง                                              
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • *หากมีอาการแพ้ยานี้ ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที และรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

*นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามใช้และข้อควรระวังอีกมากมายที่ไม่สามารถนำมาระบุรายละเอียดได้ทั้งหมด   ด้วยยาในกลุ่มนี้มีหลากหลายรายการ และมีข้อควรระวังที่แตกต่างกันออกไป 

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ด้วย) ยาแผนโบราณ

ทุกชนิด  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • การใช้ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะกลุ่มโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์ ร่วมกับยาลดความดัน, ยากลุ่มแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinic),  สามารถเสริมหรือเพิ่มฤทธิ์ของยากลุ่มดังกล่าว เพื่อความเหมาะสม และเป็นการหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้ แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์อย่างไร?

ควรเก็บยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์: เช่น

  • เก็บยาตามคำแนะนำหรือเงื่อนไขตามที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์   
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซเดียมแชนแนลบล็อกเกอร์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Apo-Quinidine (เอโพ-ควินิดีน) Apotex
Procan (โปรแคน) Parke-Davis
Procapan (โปรคาแพน) Panray Pharmaceutical
Procanbid (โปรแคนบิด) Monarch
Pronestyl (โปรเนสติล) E. R. Squibb & Sons Limited
Norpace (นอร์เพส) Searle
Regubeat (เรกูบีท) Glaxo SmithKline
Xylocaine Topical viscous (ไซโลเคน ท็อปปิคัล วิสคัส) AstraZeneca
Dermacaine (เดอร์มาเคน) SR Pharma
EMLA (เอมลา) AstraZeneca
Liprikaine (ลิพริเคน) T. Man Pharma
Citanest Forte Dental (ซิทาเนส ฟอร์ท เดนทัล) AstraZeneca LP
COCAINE HYDROCHLORIDE Topical Solution (4%) (โคเคน ไฮโดรคลอไรด์ ทอปิคอล โซลูชั่น) Cody Laboratories Inc.

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_channel_blocker   [2022,Dec10]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Saxitoxin  [2022,Dec10]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Neosaxitoxin  [2022,Dec10]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Tetrodotoxin  [2022,Dec10]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Antiarrhythmic_agent#Class_I_agents  [2022,Dec10]
  6. http://howmed.net/pharmacology/sodium-channel-blockers/  [2022,Dec10]