โซลิโดรนิก แอซิด (Zoledronic acid)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโซลิโดรนิก แอซิด (Zoledronic acid) เป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) ออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก (Osteoclastic bone resorpion) ยานี้มีจำหน่ายในประเทศ ไทยในรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (Injection for intravenous) ในระยะแรกได้รับการรับรองสำหรับการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอันเนื่องมาจากเซลล์มะเร็ง (Hypercalcemia of malig nancy) ใช้รักษามะเร็งระยะแพร่กระจายไปที่กระดูก (Bone metastasis) และก่อให้เกิดภาวะสลายตัวของกระดูกอันมีสาเหตุจากมะเร็ง (Osteolytic bone metastasis) อีกทั้งใช้ในการรักษามะเร็งไขกระดูกชนิดมัลติเพิลมัยอืโลมา (Multiple myeloma) และโรค Paget’s disease of bone ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวข้องกับการพรุนของกระดูกเชิงกราน สันหลัง กระดูกต้นขา และกะโหลกศีรษะ

ปัจจุบันได้รับการรับรองให้ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ในหญิงวัยหมดประจำเดือนและในผู้ชาย รวมทั้งใช้ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนจากยาสเตียรอยด์ (Steroid induced osteoporosis) ชนิดกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid) อีกด้วย

ยาโซลิโดรนิก แอซิดมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โซลิโดรนิก-แอซิด

ยาโซลิโดรนิก แอซิดมีข้อบ่งใช้/สรรพคุณสำหรับการรักษา

  • ภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอันเนื่องมาจากเซลล์มะเร็ง
  • มะเร็งระยะแพร่กระจายไปที่กระดูกที่ก่อให้เกิดภาวะสลายตัวของกระดูกอันมีสาเหตุจากมะเร็ง
  • มะเร็งไขกระดูกชนิดมัลติเพิลมัยอืโลมา (Multiple myeloma)
  • โรค Paget’s disease of bone ซึ่งเกี่ยวข้องกับการพรุนของกระดูกเชิงกราน สันหลัง กระดูก ต้นขา และกะโหลกศีรษะ
  • โรคกระดูกพรุนในหญิงวัยหมดประจำเดือนและในผู้ชาย
  • ป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนจากยาสเตรียรอยด์ชนิดกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)

ยาโซลิโดรนิก แอซิดมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโซลิโดรนิก แอซิดเป็นยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) และมีโครงสร้างคล้ายกับสารไพโรฟอสเฟต (pyrophosphate) ที่ได้จากธรรมชาติซึ่งมีหน้าที่ยับยั้งการสลายกระดูก โดยยาในกลุ่มบิสฟอสโฟเนตนี้จะเข้าจับกับเนื้อเยื่อกระดูกได้เป็นอย่างดีและจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสลายตัวของกระดูก (Osteoclastic bone resorpion) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของยา โดยเชื่อว่า ยาโซลิโดรนิก แอซิดจะกดการทำงานของออสติโอคลาส (Osteoclast: เซลล์ที่ทำหน้าที่ในการสลายกระดูก) ซึ่งมีผลดีต่อการรักษาโรคกระดูกพรุนทั้งในหญิงวัยหมดประจำเดือนและในผู้ชาย และป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนจากสเตียรอยด์กลุ่มกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoid)

นอกจากนี้ยังพบว่ายาโซลิโดรนิก แอซิดมีผลยับยั้งการปลดปล่อยแคลเซียมที่ถูกกระตุ้นได้จากเซลล์มะเร็ง จึงทำให้ระดับแคลเซียมและระดับฟอสฟอรัสในเลือดลดลง จึงมีผลในการรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอันเนื่องมาจากเซลล์มะเร็ง

ยาโซลิโดรนิก แอซิดมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

รูปแบบที่มีจำหน่ายของยาโซลิโดรนิก แอซิดในประเทศไทยมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์คือ รูปแบบสารละลายยาปราศจากเชื้อบรรจุในขวดพลาสติก/แก้ว (Vial) สำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำมีความแรงของยาโซลิโดรนิก แอซิด 4 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร และ 5 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร

วิธีการเตรียมยาโซลิโดรนิก แอซิดก่อนบริหารยา/ใช้ยากับผู้ป่วยคือ ให้เจือจางสารละลายยานี้ด้วยน้ำเกลือสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (0.9% Normal Saline Solution) หรือ D5W (5% Dextrose in water) ปริมาณ 100 มิลลิลิตร บริหารยาให้แก่ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลาในการให้ยานี้อย่างน้อย 15 นาทีเพื่อลดอาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) จากยานี้เช่น อาการคล้ายเป็นไข้ (Flu-like symptom), ปวดข้อ (Arthralgia), ปวดกล้ามเนื้อ (Myalgia) และเพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าวสามารถให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol: ยาลดไข้, ยาแก้ปวด) หรือ ให้สารน้ำ (Hydration) ก่อนบริหารยาโซลิดโรดนิก แอซิดได้

ยาโซลิโดรนิก แอซิดมีขนาดหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ขนาดยาและการปรับขนาดยาโซลิโดรนิก แอซิดเพื่อรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูงอันเนื่องมาจากเนื้องอก/มะเร็ง, เพื่อรักษามะเร็งระยะแพร่กระจายไปที่กระดูกและก่อให้เกิดภาวะสลายตัวของกระดูกอันมีสาเหตุจากมะเร็ง, การรักษามะเร็งไขกระดูกชนิดมัลติเพิลมัยอืโลมา (multiple myeloma ), ควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นผู้ประเมินและสั่งใช้ยานี้เท่านั้น โดยแพทย์จะปรับขนาดยานี้ตามค่าการทำงานของไต

การบริหารยานี้โดยฉีดยานี้เข้าหลอดเลือดดำช้าๆอย่างน้อย 15 นาที โดยควรเจือจางยาโซลิโดรนิก แอซิดด้วยน้ำเกลือสำหรับฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (0.9% Normal Saline Solution) หรือ D5W (5% Dextrose in water) ปริมาณ 100 มิลลิลิตรก่อนบริหารยาให้แก่ผู้ป่วย ห้ามผสมยาในสารละลายที่มีส่วนประกอบของแคลเซียมหรือสารละลาย Lactate Ringer และควรบริหารยาผ่านสายหยดยาเข้าหลอดเลือดดำที่แยกกับยาชนิดอื่นๆเพื่อป้องกันการเกิดความไม่เข้ากันของยา/การตกตะกอน

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโซลิโดรนิก แอซิด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สารเคมีทุกชนิด
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโซลิโดรนิก แอซิดอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อนแล้ว
  • สุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาโซลิโดรนิก แอซิด เป็นยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ที่อาจส่งผลให้เกิดการกร่อนของกระดูก (Bone resorption) และมีผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ อีกทั้งหากอยู่ในช่วงให้นมบุตรเพราะยังไม่ทราบข้อมูลการขับออกทางน้ำนมของยานี้ที่แน่ชัด ยานี้จึงอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงแก่ทารกได้จึงควรหลีกเลี่ยงการให้นมบุตรในช่วงการใช้ยานี้

หากลืมบริหารยาให้แก่ผู้ป่วยควรทำอย่างไร?

ความถี่ในการบริหารยาโซลิโดรนิก แอซิดแก่ผู้ป่วยแตกต่างกันตามข้อบ่งใช้เช่น การบริหารยา 1 ครั้งต่อสัปดาห์, ทุก 3 - 4 สัปดาห์, 1 ครั้งต่อปี และ 1 ครั้งต่อ 2 ปี กรณีพยาบาลลืมบริหารยาให้แก่ผู้ป่วยตามคำสั่งของแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทันทีที่นึกได้

ยาโซลิโดรนิก แอซิดมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ผล/อาการไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง) ของยาโซลิโดรนิก แอซิดที่พบได้บ่อยไม่รุนแรงและเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวคือ อาการคล้ายมีไข้ หนาวสั่น หน้าแดง ปวดกระดูกและ/หรือปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงการให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำและอาการอาจคงอยู่ไปได้อีก 3 - 14 วันหลังได้รับยานี้

สามารถป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวได้โดยการเจือจางยานี้ด้วยสารละลายที่แนะนำในหัวข้อ ‘รูปแบบการจัดจำหน่าย และหัวข้อ การใช้ยา/การบริหารยา’ และระยะเวลาในการบริหารยาควรใช้เวลาอย่างน้อย 15 นาที และ/หรือให้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol: ยาแก้ปวด ยาลดไข้) ก่อนการบริหารยาโซลิโดรนิก แอซิด และสามารถให้ยาพาราเซตามอลต่อไปได้อีก 72 ชั่วโมงหลังผู้ป่วยได้รับยานี้

อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆเช่น อาการของระบบทางเดินอาหารเช่น อาการท้องเดิน/ท้องเสีย รวมถึงอาการคลื่นไส้ เบื่ออาหาร ซึ่งมักมีอาการไม่รุนแรง

ทั้งนี้ปฏิกิริยาเฉพาะที่ที่ผิวหนังบริเวณที่ให้ยาเช่น อาการแดงหรือบวม ซึ่งจะหายไปได้เองในเวลาประมาณ 24 - 48 ชั่วโมง

อาการไม่พึงประสงค์อื่นๆเช่น ผื่น คัน เจ็บหน้าอกหลังได้รับยานี้ การเกิดเยื่อตาอักเสบ (Conjunctivitis) ภาวะแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia) และระดับแคลเซียมในเลือดต่ำโดยไม่มีอาการแสดง ตรวจพบจากการตรวจเลือด, ระดับฮอร์โมนจากต่อมพาราธัยรอยด์ในเลือดสูง ขึ้นร่วมกับระดับแคลเซียมในเลือดลดลง, ระดับเอนไซม์ทรานอะมิเนส (Transaminase, เอนไซม์การทำงานของตับตรวจพบจากการตรวจเลือด) สูงขึ้นเกินกว่าสองเท่าของปกติโดยไม่มีความผิดปกติของตับร่วมด้วย

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซลิโดรนิก แอซิดอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซลิโดรนิก แอซิดเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้้
  • ไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของยานี้ในผู้ป่วยเด็กและผู้ป่วยเด็กที่มีการทำงานของไตบกพร่อง
  • ระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตวาย และแพทย์จะปรับขนาดยาในผู้ป่วยที่มีการทำงาน ของไตบกพร่อง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำ ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ก่อนเริ่มให้ยา โดยพิจารณาให้สารน้ำอย่างเพียงพอแก่ผู้ป่วยและระมัดระวังการให้สารน้ำมากเกิน ไปในผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว
  • ห้ามใช้ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) ชนิดอื่นๆร่วมในระหว่างที่ผู้ป่วยกำลังได้รับการรักษาด้วยยาโซลิโดรนิก แอซิดอยู่
  • มีรายงานพบการตายของกระดูกขากรรไกร (Osteonecrosis of the jaw) ได้ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดจากการถอนฟันและ/หรือจากการติดเชื้อเฉพาะที่ที่เหงือก รวมถึงภาวะการอักเสบของกระดูก (Osteomyelitis) ในผู้ป่วยกลุ่มนี้หลายรายที่ได้รับยาเคมีบำบัดและมีการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ร่วมด้วย ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงเช่น โรคมะเร็ง ผู้ป่วยได้รับยาเคมีบำบัด รังสีรักษา รับยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ มีปัญหาสุขอนามัยในช่องปาก ควรพิจารณาทำทันตกรรมเพื่อป้องกัน (Preventive dentistry) ก่อนให้การรักษาด้วยยากลุ่มบิสฟอสฟาเนต และควรหลีกเลี่ยงวิธีการทางทันตกรรมที่รุนแรง (Invasive procedure) เช่น ถอนฟันขณะได้รับยา กลุ่มบิสฟอสโฟเนต ดังนั้นจึงควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนการใช้ยานี้เพื่อประเมินทางทันตกรรมก่อนเริ่มใช้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซลิโดรนิก แอซิดด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาโซลิโดรนิก แอซิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซลิโดรนิก แอซิดมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยาโซลิโดรนิก แอซิดร่วมกับยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonate) อื่นๆเช่น อะเลนโดนเนต (Alendronate), ริสซิโดรเนต (Risedronate), ปาล์มมิโดรเนต (Pamidronate), เนื่องจากจะเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์จากยาในกลุ่มเดียวกันได้
  • มีรายงานว่าอาจเกิดการทำงานของไตผิดปกติได้กรณีการใช้ยาโซลิโดรนิก แอซิดร่วมกับยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากยาทั้งสองชนิดถูกขจัดออกจากร่างกายทางไตและมีผลพิษต่อไต
  • ระมัดระวังการใช้ยาโซลิโดรนิก แอซิดร่วมกับการใช้ยาปฏิชีวนะกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycosides) เช่น เจนต้ามัยซิน (Gentamicin), อะมิไกซิน (Amikacin), สเต็ปโตมัยซิน(Streptomycin) เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำและมีผลพิษต่อไต หรือยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆที่ถูกกำจัดออกทางไตเช่น แวนโคไมซิน (Vancomycin), โคลิสติน (Colistin) เนื่องจากการใช้ยาร่วมกันจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลพิษต่อไต

ควรเก็บรักษายาโซลิโดรนิก แอซิดอย่างไร?

แนะนำเก็บยาโซลิโดรนิก แอซิดในรูปแบบสารละลายปราศจากเชื้อ ณ อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นจากแสงแดดและแสงสว่างที่กระทบยาได้โดยตรง หลีกเลี่ยงนำยาสัมผัสกับความร้อนที่มาก หรือเก็บยาในห้องที่มีอุณหภูมิสูง และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง อนึ่งสารละลายยาโซลิโดรนิก แอซิดหลังเจือจางด้วยสารละลายแล้วจะมีความคงตัวนาน 24 ชั่วโมงในตู้เย็น (อุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส/Celsius) ดังนั้นเมื่อเกิน 24 ชั่วโมงแล้วให้ทิ้งยาที่ถูกเจือจางแล้วไปเพื่อรักษาสภาวะปราศจากเชื้อ (Sterility) ของยาฉีดโซลิโดรนิก แอซิด

ยาโซลิโดรนิก แอซิดมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซลิโดรนิก แอซิดที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aclasta (Zoledronic acid 5 mg/mL vial) Novartis
Zometa (Zoledronic acid 4 mg/5 mL vial) Novartis
Leuzotev (Zoledronic acid 4 mg/5 mL vial) Lemery/Teva

บรรณานุกรม

  1. Lacy CF. Amstrong LL, Goldman MP, Lance LL. Drug Information handbook. 20th ed. Ohio: Lexi-Comp,Inc.; 2011-12.
  2. Product Information: , Zoledronic acid, Leuzotev: Lemery/Teva, Thailand.
  3. TIMS (Thailand). MIMS. 130th ed. Bangkok: UBM Medica ;2013
  4. ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล. Bisphosphonatesใน: ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล., บรรณาธิการ. ตำราโรคกระดูกพรุน 2. กรุงเทพมหานคร: บริษัทโฮลิสติก พับลิชชิ่ง. 2552