โคเอนไซม์ (Coenzyme) โคแฟคเตอร์ (Cofactor)

บทความที่เกี่ยวข้อง
โคเอนไซม์

โคเอนไซม์(Coenzyme)เป็นสารประกอบอินทรีย์ที่ไม่ใช่สารโปรตีนที่ทำงานโดยการจับกับเอนไซม์(Enzyme)เพื่อช่วยให้เอนไซม์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ/เร่งหรือ กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ ทั้งนี้โคเอนไซม์ไม่สามารถทำงานโดยอิสสระ จะต้องทำงานร่วมกับเอนไซม์เท่านั้น และร่างกายสามารถนำโคเอนไซม์กลับมาใช้ใหม่ได้อีกหลายๆครั้งในการช่วยทำงานร่วมกับเอนไซม์นั้นๆ

ถ้าเอนไซม์อยู่โดดๆ โดยไม่มีการจับกับ โคเอนไซม์ จะเรียกว่า “อะโพเอนไซม์(Apoenzyme)” ซึ่งในขณะที่อยู่โดดๆไม่จับกับโคเอนไซม์ อะโพเอนไซม์จะทำงานไม่ได้หรือทำได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ ที่ส่งผลให้เกิดปัญหาในการทำงานของเซลล์ต่างๆ

แต่เมื่อโคเอนไซม์จับกับอะโพเอนไซม์แล้ว เอนไซม์จะอยู่ในสภาพทำงานได้ประสิทธิภาพ(Active enzyme) เรียกว่า “โฮโลเอนไซม์(Holoenzyme)”

ทั้งนี้อัตราการจับตัวรวมกันระหว่างโคเอ็นไซม์กับเอนไซม์จะเสียไปเมื่อเอนไซม์ถูกทำให้เสื่อมคุณสมบัติ(Denatured) เช่น อุณหภูมิร่างกายที่สูงผิดปกติ หรือการขาดสมดุลของภาวะกรด-ด่าง ของร่างกาย

ทั้งโคเอนไซม์และเอนไซม์ มีคุณสมบัติที่เหมือนกัน คือ ร่างกายสามารถนำกลับมาใช้ใหม่(Reused)ได้หลายครั้ง รวมทั้งนำกลับมาสร้างใหม่(Recycled)ได้โดยไม่เสียประสิทธิภาพในการทำงาน

ตัวอย่าง โคเอนไซม์ที่สำคัญของร่างกาย เช่น วิตามินต่างๆ(เช่น วิตามิน-บี วิตามิน-ซี), สารATP (Adenosine triphosphate)ที่มีส่วนสำคัญช่วยสร้างDNAและRNA, และที่เราคุ้นหู คือ โคเอนไซม์คิวเท็น(Coenzyme Q10 ย่อว่า CoQ10)ที่ช่วยการสร้างพลังงาน เป็นต้น

โคแฟคเตอร์(Cofactor)

โคเอนไซม์ เป็นสารประกอบกลุ่มย่อยของ “โคแฟคเตอร์(Cofactor)”ซึ่งก็คือ สารประกอบที่ไม่ใช่สารโปรตีน ที่ทำหน้าที่ช่วยการทำงานของเอนไซม์เช่นเดียวกันกับโคเอนไซม์ โดยอีกชื่อของโคแฟคเตอร์ คือ “เมทัลลิคไออน(Metallic ion, อะตอมโลหะที่อยู่ในภาวะไม่เป็นกลาง คือมีประจุไฟฟ้า) หรือ Helper molecule” ทั้งนี้โคแฟคเตอร์ แบ่งเป็น2กลุ่มย่อย คือ

  • กลุ่มสารประกอบอินทรีย์เชิงซ้อน ที่เรียกว่า “Complex organic compound” ซึ่งอีกชื่อคือ “โคเอนไซม์” นั้นเอง
  • กลุ่มสารประกอบ อนินทรีย์ที่เรียกว่า “Inorganic metallic ion” ตัวอย่างของ Inorganic metallic ion เช่น ธาตุเหล็ก ที่ช่วยการทำงานของเอนไซม์สร้างสารHeme, สังกะสี ช่วยการทำงานของเอนไซม์สร้างDNA , แมกนีเซียม ช่วยการทำงานของเอนไซม์สร้างDNA, เป็นต้น

บรรณานุกรม

  1. https://biologydictionary.net/coenzyme/ [2018,July21]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Cofactor_(biochemistry) [2018,July21]