โคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โคเอนไซม์ คิวเทน(Coenzyme Q10 หรือในชื่อภาษาอังกฤษอื่น เช่น Ubiquinone, Ubidecarenone , Coenzyme Q) หรือจะเรียกย่อๆว่า คิวเทน (Q10) เป็นสารเคมีที่ไม่ใช่โปรตีน มีสูตรโมเลกุล คือ C59H90O4 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าเซลล์ร่างกายมนุษย์มีสารคิวเทนอยู่ที่หน่วยย่อยภายในเซลล์ที่เรียกว่า ไมโทคอนเดรีย(Mitochondria)ซึ่งหน้าที่หลักของไมโทคอนเดรีย คือ ให้พลังงานในการดำรงชีวิตของเซลล์ สารคิวเทนในไมโทคอนเดรีย จะทำหน้าที่รับส่งอิเล็กตรอน(Electron,สารที่อยู่ในกระบวนการสร้าง/ใช้พลังงานของเซลล์ต่างๆในร่างกานย)ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในขั้นตอนการสร้างพลังงานของไมโทคอนเดรีย

อีกหน้าที่หนึ่งของสารคิวเทนซึ่งมีความสำคัญมากคือ เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidant) คิวเทนจึงช่วยชะลอความเสื่อมของโปรตีนรวมถึงเซลล์ไขมันและสารพันธุกรรมอย่างดีเอนเอ(DNA)

การขาดคิวเทนของร่างกาย จะนำมาด้วยโรคหลายชนิด เช่น โรคหัวใจ โรคประสาทเสื่อม เอชไอวี และมะเร็ง เป็นต้น ด้วยโรคที่กล่าวมามีความสัมพันธ์ต่อปริมาณคิวเทนต่ออนุมูลอิสระในร่างกายนั่นเอง

กรณีร่างกายไม่สามารถสร้างคิวเทนได้อย่างเพียงพอ ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ โดยเนื้อเยื่อเหล่านั้นจะเกิดสภาวะถดถอยได้รวดเร็วขึ้น การรับประทานคิวเทนเพิ่มร่วมกับกรดโฟลิก(Folic acid)และยากลุ่มวิตามิน บี มีรายงานว่าจะช่วยชะลอและบำบัดสภาวะถดถอยดังกล่าว

สำหรับสาเหตุสำคัญบางประการที่ทำให้ร่างกายขาดสารคิวเทนมีดังนี้

  • เกิดความผิดปกติหรือมีภาวะกลายพันธุ์ของไมโทคอนเดรีย(Mutations of mitochondria DNA) ทำให้กระบวนการสังเคราะห์คิวเทนน้อยลง
  • โรคมะเร็ง และ/หรือโรคหัวใจ เป็นอีกกลุ่มสาเหตุที่ทำให้ร่างกายต้องใช้คิวเทน เป็นปริมาณมากจึงทำให้การสังเคราะห์คิวเทนไม่ทันต่อความต้องการ ของร่างกาย
  • การใช้ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta blocker)บางตัว หรือยากลุ่มสแตติน(Statin) ก็สามารถส่งผลยับยั้งการสังเคราะห์คิวเทนในร่างกายได้เช่นกัน

จากสาเหตุการขาดคิวเทนดังกล่าว ทำให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนาคิวเทนในรูปแบบของยารักษาโรค และในรูปของอาหารเสริมต่างๆ โดยมีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป และมีใช้ตามสถานพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ

แหล่งอาหารที่มีโคเอนไซม์ คิวเทนเป็นองค์ประกอบมีอะไรบ้าง?

โคเอนไซม์คิวเทน

คิวเทนสามารถพบได้ในอาหารที่มนุษย์รับประทาน เช่น

  • หัวใจ ตับ กล้ามเนื้อสัตว์จำพวก วัว สุกร
  • อก-ต้นขา-ปีกของไก่
  • เนื้อปลา เช่น ปลาซาร์ดีน ทูน่า แมกเคอเรล แซลมอน
  • อาหารประเภทน้ำมัน เช่น น้ำมันถั่ว น้ำมันมะกอก น้ำมันสกัดจากเมล็ดองุ่น น้ำมันดอกทานตะวัน
  • อาหารประเภทถั่วต่างๆ อัลมอนด์ งา
  • ผักต่างๆ เช่น กะหล่ำ ผักโขม กะหล่ำปลีจีน บรอกโคลี
  • ผลไม้ เช่น องุ่น อาโวคาโด ส้ม สตรอว์เบอร์รี แอปเปิ้ล กล้วย

อนึ่ง ในบรรดากลุ่มอาหารดังกล่าวข้างต้น อาหารจำพวกโปรตีนอย่างเนื้อสัตว์และปลาจะมีปริมาณคิวเทนมากที่สุด และในบทความนี้จะขอกล่าวถึงคิวเทนในด้านของยารักษาโรคเท่านั้น

โคเอนไซม์ คิวเทนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ยาโคเอนไซม์ คิวเทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
  • บำบัดอาการหัวใจล้มเหลว (Heart failure)

*หมายเหตุ การใช้คิวเทนในลักษณะของอาหารเสริมซึ่งมีการกล่าวถึงสรรพคุณต่างๆนั้น หลายสรรพคุณยังมิได้รับการยืนยันทางคลินิก เช่น กระตุ้นความแข็งแรงของตัวอสุจิ แก้อาการปวดศีรษะไมเกรน บำบัดอาการทางกล้ามเนื้อในผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากยากลุ่ม Statin บำบัดโรคมะเร็ง รักษาโรคปริทันต์/โรคเหงือกอักเสบรุนแรง ผู้บริโภคจึงควรใช้วิจารณญาณที่อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เป็นเกณฑ์ในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาและอาหารเสริมคิวเทน

โคเอนไซม์ คิวเทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

โคเอนไซม์ คิวเทนมีกลไกการออกฤธิ์โดย ตัวยาจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการขนส่งอิเล็กตรอนในหน่วยย่อยของเซลล์ที่เรียกว่าไมโทคอนเดรีย กระบวนการดังกล่าวทำให้ไมโทคอนเดรียสามารถผลิต ATP(Adenosisne triphosphate, เป็นสารสำคัญมากในกระบวนการสร้าง/ใช้พลังงานของร่างกาย) ซึ่งเป็นสารที่ให้พลังงานต่อเซลล์ในร่างกาย อวัยวะต่างๆของร่างกายจำเป็นต้องใช้ ATP ทั้งสิ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หัวใจ ไต ตับ และตับอ่อน ดังนั้นโคเอนไซม์ คิวเทนจึงมีความจำเป็นและมีความต้องการอย่างมากในอวัยวะดังกล่าว สภาพของโรคหัวใจล้มเหลวและหัวใจหัวใจขาดเลือดมีปัจจัยหนึ่งมาจากเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจขาดโคเอนไซม์ คิวเทน ดังนั้นการสนับสนุนโคเอนไซม์ คิวเทนให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงอาจช่วยบรรเทาอาการป่วยด้วยโรคหัวใจดังกล่าวและก่อให้เกิดที่มาของสรรพคุณ

โคเอนไซม์ คิวเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคเอนไซม์ คิวเทนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Coenzyme Q10, 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • อาหารเสริมที่บรรจุในแคปซูลร่วมกับสารประกอบต่างๆ เช่น Coenzyme Q10 + Linolenic + Evening primrose + Soy germ powder + Rice germ และอื่นๆ

โคเอนไซม์ คิวเทนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

โคเอนไซม์ คิวเทนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับอาการหัวใจขาดเลือด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 150–600 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานวันละ2-3ครั้ง

ข. สำหรับบำบัดอาการโรคหัวใจล้มเหลว:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50–150 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2–3 ครั้ง

อนึ่ง:

  • คิวเทนเป็นสารประกอบที่มีโครงสร้างคล้ายวิตามิน และละลายได้ดีในไขมัน
  • การรับประทานที่จะช่วยการดูดซึมยานี้จากระบบทางเดินอาหาร จึงต้องรับประทาน คิวเทน พร้อมอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักขณะที่ใช้ยาคิวเทน
  • ระยะเวลาการใช้ยานี้ให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยและขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโคเอนไซม์คิวเทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยา โคเอนไซม์ คิวเทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาโคเอนไซม์คิมเทน สามารถรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องรับประทานยาเพิ่มเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

โคเอนไซม์ คิวเทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาคิวเทนเป็นสารเคมีที่มีอยู่ในร่างกาย แต่การรับประทานเป็นอาหารเสริม อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้องหลังการรับประทาน อาจมีอาการ เบื่ออาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ แสบร้อนกลางอก อาจพบอาการผื่นคันทางผิวหนัง หรือมีอาการความดันโลหิตต่ำ

มีข้อควรระวังการใช้โคเอนไซม์ คิวเทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โคเอนไซม์ คิวเทน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามหยุดการใช้ยานี้โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน หรืออ่อนเพลียมาก กรณีนี้ควรรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณษปรับแนวทางการรักษา
  • ด้วยยังไม่มีการศึกษาการใช้คิวเทนกับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร การใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมาย เพื่อรับการตรวจสภาพร่างกายจากแพทย์รวมถึงการประเมินความก้าวหน้าของการรักษา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโคเอนไซม์ คิวเทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โคเอนไซม์ คิวเทนมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

โคเอนไซม์ คิวเทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานโคเอนไซม์ คิวเทน ร่วมกับยากลุ่มStatin ด้วยจะทำให้ระดับของ โคเอนไซม์ คิวเทนในกระแสเลือดลดลงจนส่งผลให้ด้อยประสิทธิภาพการรักษา
  • ห้ามรับประทานโคเอนไซม์ คิวเทน ร่วมกับยาAnisindione ด้วยทำให้ประสิทธิภาพของยาAnisindione ลดลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้โคเอนไซม์ คิวเทน ร่วมกับยาWarfarin ด้วยจะทำให้ฤทธิ์ในการยับยั้งการก่อตัวของลิ่มเลือดในหลอดเลือดของยาWarfarin ด้อยลง

ควรเก็บรักษาโคเอนไซม์ คิวเทนอย่างไร?

ควรเก็บยาโคเอนไซม์คิวเทนภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ ไม่เก็บยาที่หมดอายุ

โคเอนไซม์ คิวเทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

โคเอนไซม์ คิวเทน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Alerten 50 Emulcap (อเลอเทน 50 อีมัลแคป)Mega Lifesciences
Bio Q10 VQ50 (ไบโอ คิวเทน วีคิว50)Daewoong Pharma
Bio-Quinone Q10 (ไบโอ-ควิโนน คิวเทน)Pharma Nord SEA
Blackmores CoQ10 (แบลคมอร์ส โคคิวเทน) Blackmores
Decaquinon (เดแคควินอน) Eisai
Vistra Coenzyme Q10 (วิสตร้า โคเอนไซม์ คิวเทน) Pronova Laboratories

บรรณานุกรม

  1. https://www.researchgate.net/publication/7812722_Coenzyme_Q10_Its_biosynthesis_and_biological_significance_in_animal_organisms_and_in_humans [2018,June16]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Coenzyme_Q10#Chemical_properties [2018,June16]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/ubidecarenone/?type=brief&mtype=generic [2018,June16]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/search?q=coenzyme%20q10 [2018,June16]
  5. https://www.youtube.com/watch?v=XAxZ4rucqjk [2018,June16]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/ubiquinone.html [2018,June16]