โคเอนไซม์ คิวเทน (ตอนที่ 2 และตอนจบ)

ไวรัสซิกา

โคเอนไซม์ คิวเทน (Coenzyme Q10 / CoQ10) เป็นสารอาหารที่คล้ายวิตามิน สามารถพบได้ในทุกเซลล์ของร่างกาย โดยร่างกายจะสร้าง CoQ10 ขึ้น แล้วเซลล์ต่างๆ จะนำ CoQ10 ไปผลิตเป็นพลังงานที่ร่างกายต้องการเพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ

นอกจากนี้ CoQ10 ยังทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) เพื่อป้องกันร่างกายจากความเสื่อมที่เกิดจากโมเลกุลตัวร้าย และช่วยเอ็นไซม์ในการย่อยอาหาร ป้องกันหัวใจและกล้ามเนื้อโครงร่าง (Skeletal muscles)

ระดับ CoQ10 ในร่างกายจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น และอาจมีระดับต่ำในคนที่เป็นโรคมะเร็ง คนที่มีความปกติทางพันธุกรรม คนที่เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเอดส์ โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular dystrophies) โรคพาร์กินสัน (Parkinson's disease)

เราสามารถพบ CoQ10 จำนวนไม่มากจากอาหารต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเครื่องในสัตว์ เช่น หัวใจ ตับ ไต (เซียงจี้) เนื้อวัว น้ำมันถั่วเหลือง ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอรอล และถั่วลิสง

สำหรับอาหารเสริม CoQ10 จะละลายในไขมัน ดังนั้นจึงควรกินพร้อมกับอาหารที่มีไขมัน เพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ และการกิน CoQ10 ตอนกลางคืนอาจจะช่วยให้ร่างกายสามารถนำไปใช้งานได้

อย่างไรก็ดี ห้ามใช้อาหารเสริม CoQ10 ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนผู้ที่อายุ 19 ปี ขึ้นไป ปริมาณอาหารเสริม CoQ10 ที่แนะนำคือ 30 - 200 mg ต่อวัน

และเนื่องจากอาหารเสริม CoQ10 อาจมีผลข้างเคียง (Side effects) และอาจทำปฏิกริยา (Interactions) กับยาตัวอื่น ดังนั้นจึงควรใช้อาหารเสริม CoQ10 ภายใต้คำแนะนำของแพทย์

อาหารเสริม CoQ10 อาจมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disorders) โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ (Reproductive Disorders) โรคมะเร็ง และโรคอื่นๆ อย่างไรก็ดี ผลการศึกษายังมีอยู่จำกัดและยังไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนจริง จากผลงานวิจัยพบว่า

  • ยังไม่มีการรายงานผลข้างเคียงอันรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ CoQ10
  • ผลข้างเคียงที่เกิดส่วนใหญ่ ได้แก่ อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) เอ็นไซม์ตับสูงขึ้น (Increased liver enzymes) เป็นผื่นคัน (Rashes) คลื่นไส้ (Nausea) ปวดท้องช่วงบน (Upper abdominal pain) เวียนศีรษะ (Dizziness) ไวต่อแสง (Sensitivity to light) หงุดหงิดฉุนเฉียว (Irritability) ปวดศีรษะ (Headaches) กรดไหลย้อน (Heartburn) และอ่อนเพลีย (Fatigue)
  • ไม่ควรใช้อาหารเสริม CoQ10 กับหญิงมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตร
  • ยาลดไขมันในเลือด (Statins) อาจมีผลทำให้ระดับ CoQ10 ในเลือดต่ำลง
  • CoQ10 อาจลดการทำงานของยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin)

ข้อควรพิจารณา

  • อย่าใช้อาหารเสริม CoQ10 แทนการกินอาหารปกติที่มีประโยชน์
  • หากต้องการใช้อาหารเสริม CoQ10 ควรหาข้อมูลจากแพทย์หรือแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ก่อน เพราะ CoQ10 อาจทำปฏิกริยากับยาตัวอื่น

แหล่งข้อมูล

1. Coenzyme Q10 - Topic Overview. http://www.webmd.com/heart-disease/heart-failure/tc/coenzyme-q10-topic-overview[2015, January 30].

2. Coenzyme Q10. http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/coenzyme-q10/background/hrb-20059019[2015, January 30].

3. Coenzyme Q10https://umm.edu/health/medical/altmed/supplement/coenzyme-q10[2015, January 30].

4. Coenzyme Q10 (CoQ10): In Depth. https://nccih.nih.gov/health/supplements/coq10[2015, January 30].