โคลิฟอร์มตัวก่อเชื้อ (ตอนที่ 1)

โคลิฟอร์มตัวก่อเชื้อ

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยมีภูมิอาการที่ร้อน ทำให้ประชาชนนิยมดื่มเครื่องดื่มที่ใส่น้ำแข็ง หรือบริโภคน้ำแข็งรูปแบบต่างๆ เช่น น้ำแข็งไส น้ำปั่น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังนำมาใช้แช่อาหารสดเพื่อถนอมอาหาร ชะลอการเน่าเสีย บดผสมกับเนื้อทำลูกชิ้น

ซึ่งหากกระบวนการผลิต ขนส่ง จัดเก็บรักษา และจำหน่ายไม่เป็นไปตามหลักสุขาภิบาล อาจเกิดการปนเปื้อนและเป็นแหล่งแพร่กระจายของจุลินทรีย์ เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง จึงต้องมีการควบคุม ดูแล สถานประกอบการปฏิบัติตามหลักการสุขาภิบาล

นพ.พรเทพ กล่าวว่า จากการสุ่มสำรวจความปลอดภัยอาหารของสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 1 - 12 ในปี พ.ศ.2555 พบว่า น้ำแข็งเพื่อบริโภคที่จำหน่ายในร้านอาหารและแผงลอยจำนวน 142 ตัวอย่าง ตรวจพบเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียถึง 48 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 33.8

จะเห็นได้ว่าน้ำแข็งที่บริโภคยังมีการปนเปื้อนสูง ซึ่งแม้เชื้อดังกล่าวจะไม่ใช่เชื้อโรคที่อันตราย แต่บ่งบอกถึงความสกปรกได้ เพราะเชื้อนี้ส่วนใหญ่จะพบในอุจจาระของคนและสัตว์เลือดอุ่น

ดังนั้น ถ้าพบเชื้อนี้ก็หมายความว่า น้ำแข็งน่าจะมีการปนเปื้อนจากอุจจาระ ซึ่งอาจมีทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การปนเปื้อนในกระบวนการผลิต สถานที่ผลิตที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การขนส่ง ภาชนะอุปกรณ์ที่อาจจะไม่สะอาด หรือมีการนำกลับมาใช้ซ้ำ และที่สำคัญคือ การปนเปื้อนผ่านมือของผู้สัมผัสน้ำแข็งที่อาจจะเข้าส้วมแล้วล้างมือไม่สะอาด อุจจาระอาจติดมากับมือ ซอกนิ้วหรือเล็บ และเมื่อมาปฏิบัติงานก็ทำให้เกิดการปนเปื้อนได้

นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กรมอนามัยได้มีโครงการนำร่องพัฒนาสถานที่ผลิต สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่งน้ำแข็งต้นแบบในภาคอีสาน โดยมีการอบรมมาตรฐานและสุขลักษณะที่ดีที่ต้องปฏิบัติให้แก่โรงน้ำแข็งและร้านค้าส่ง ซึ่งจากนี้จะขยายผลไปยังภาคอื่น

ในส่วนร้านอาหารหรือแผงลอยต้องมีการจัดเก็บและจำหน่ายน้ำแข็งที่ถูกสุขลักษณะ คือ ไม่นำสิ่งของใดๆ มาแช่รวมในน้ำแข็งที่ใช้บริโภค เพื่อป้องกันการปนเปื้อน ต้องมีอุปกรณ์ที่ใช้ด้ามจับตักน้ำแข็ง และต้องเก็บน้ำแข็งในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด ไม่เป็นสนิม ตั้งสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร

สำหรับการเลือกซื้อน้ำแข็งเพื่อบริโภค ลักษณะน้ำแข็งต้องใสสะอาด บรรจุในซองพลาสติกหรือถุงพลาสติกที่ปิดผนึกเรียบร้อยมีเครื่องหมาย อย.รับรองอย่างถูกต้อง เพราะผลิตจากน้ำที่มีคุณภาพตามมาตรฐานน้ำบริโภคจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน

นพ.พรเทพ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ร่างคำแนะนำเรื่อง “การควบคุมการประกอบกิจการการผลิต สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่งน้ำแข็ง" ได้ผ่านมติคณะกรรมการสาธารณสุขแล้ว เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อยู่ระหว่างรอเสนอให้ประธานคณะกรรมการลงนาม โดยกรมอนามัยเตรียมสนับสนุนให้ราชการส่วนท้องถิ่นนำคำแนะนำดังกล่าวไปออกเป็นข้อ กำหนดท้องถิ่น เพื่อควบคุมสถานประกอบการผลิตน้ำแข็ง สถานที่สะสม แบ่งบรรจุ และค้าส่งน้ำแข็งต่อไป

แหล่งข้อมูล

  1. ไฟเขียวร่างคำแนะนำคุมโรงงานน้ำแข็ง http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000035169 [2015, May 9].