โคลนิดีน (Clonidine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคลนิดีน (Clonidine) เป็นยากลุ่ม Sympathomimetic ถูกนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล ไมเกรน บรรเทาอาการร้อนวูบวาบหลังหมดประจำเดือน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วัยหมดประจำเดือน) โรคท้องเสียรุนแรง รวมถึงอาการปวดที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทอีกด้วย

จากการศึกษาด้านการกระจายตัวของโคลนิดีนพบว่า ยาสามารถถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารประมาณ 75 - 95% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 20 - 40% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของปริมาณยาที่ได้รับ และร่างกายต้องใช้เวลา 6 - 24 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประ สงค์ให้เป็นยาบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และจัดยานี้อยู่ในหมวดยาอันตราย แพทย์เท่านั้นที่สามารถสั่งจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

ยาโคลนิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โคลนิดีน

ยาโคลนิดีนมีสรรพคุณดังนี้

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • ป้องกันการเกิดไมเกรน
  • บำบัดอาการวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน

ยาโคลนิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลนิดีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ก้านสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดส่วนปลายตามอวัยวะต่างๆเกิดการขยายตัว และทำให้ความดันโลหิตกับอัตราการเต้นของหัวใจลดลง จึงส่งผลให้ยามีสรรพคุณดังกล่าว

ยาโคลนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้

  • ยาเม็ด ขนาด 0.075 และ 0.15 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ด ขนาด 0.1, 0.2 และ 0.3 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ขนาด 100 และ 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
  • พลาสเตอร์ปิดผิวหนังขนาดบรรจุยา 0.1, 0.2 และ 0.3 มิลลิกรัม/แผ่น

ยาโคลนิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโคลนิดีนมีขนาดรับประทานดังนี้

ก.สำหรับความดันโลหิตสูง:

  • ผู้ใหญ่: ขนาดเริ่มต้นรับประทาน 50 - 100 ไมโครกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2,400 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 2 - 18 ปี: ขนาดเริ่มต้นรับประทาน 0.5 - 1 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยแบ่งรับประทานหรือไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัม/วัน
  • ด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ไม่มีข้อมูลทางการศึกษาถึงขนาดยาที่ใช้ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

ข.สำหรับป้องกันไมเกรน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 75 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น
  • เด็ก: ไม่มีข้อมูลทางการศึกษาถึงขนาดยาที่ใช้ชัดเจนในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุล พินิจของแพทย์

ค.สำหรับบรรเทาอาการวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน:

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 75 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น

*****หมายเหตุ:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโคลนิดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลนิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโคลนิดีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาโคลนิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคลนิดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ปากแห้ง ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ ท้องผูก ปัสสาวะขัด ผื่นคัน มีความรู้สึกร้อนวูบในลูกตา รู้ สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร ความดันโลหิตต่ำ ลำไส้เล็กเคลื่อนตัวน้อยลง ลมพิษ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดจังหวะ

อนึ่ง การรับประทานยาโคลนิดีนเกินขนาด อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงและติดตามมาด้วยความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง อ่อนเพลีย กดประสาทส่วนกลาง (ซึ่งมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่เช่น ง่วงซึม) มีอาการโคม่า และเกิดการชักในที่สุด อาการที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะแสดงออกมาในช่วง 30 นาที - 2 ชั่วโมง หลังจากได้รับยาโคลนิดีน หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาทันที

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลนิดีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลนิดีนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การหยุดยานี้เองโดยทันทีอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา
  • ระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และผู้ที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลนิดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาฟีนิลเอฟรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลนิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น

  • การใช้ยาโคลนิดีนร่วมกับยาขับปัสสาวะหรือยาขยายหลอดเลือด (เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงกลุ่ม Beta blocker) อาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมากจนเกิดอันตราย ซึ่งหากต้อง ใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
  • การใช้ยาโคลนิดีนร่วมกับยารักษาโรคหัวใจเช่น Digitalis หรือยารักษาอาการทางจิตประสาท เช่น Lithium อาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้เพิ่มมากขึ้นจากยาโรคหัวใจและยาจิตประสาท หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
  • การใช้ยาโคลนิดีนร่วมกับยาต้านการซึมเศร้าเช่น Nortriptyline อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก หน้าแดง วิงเวียน ปวดศีรษะ หรือมีอาการชีพจรเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาโคลนิดีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน เป็นลม อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ ถือเป็นข้อห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด

ควรเก็บรักษายาโคลนิดีนอย่างไร?

ควรเก็บยาโคลนิดีนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาโคลนิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลนิดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Hypodine (ไฮโปดีน) Central Poly Trading
Clonidine Hydrochloride Injection (โคลนิดีน ไฮโดรคลอไรด์ อินเจ็กชั่น) APP Pharmaceuticals, LLC
Clonidine Hydrochloride Tablet (โคลนิดีน ไฮโดรคลอไรด์ แท็บเล็ท) Qualitest Pharmaceuticals
Catapres (คาทาเพรส)Boehringer Ingelheim Pharmaceutical Inc
Duraclon (ดูราคลอน) Xanodyne
Clonidine Patch (โคลนิดีน แพทช์) Mylan Pharmaceuticals Inc

บรรณานุกรม

1 http://en.wikipedia.org/wiki/Clonidine [2014,Nov29]
2 http://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-adrenergic_agonist [2014,Nov29]
3 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/658#item-8572 [2014,Nov29]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Hypodine/?type=brief [2014,Nov29]
5 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=clonidine[2014,Nov29]
6 http://www.mims.com/USA/drug/info/clonidine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2014,Nov29]
7 http://www.drugs.com/drug-interactions/clonidine.html[2014,Nov29]
8 http://www.mims.com/USA/drug/info/Clonidine%20Hydrochloride/Clonidine%20Hydrochloride%20Tablet?type=full [2014,Nov29]