โครโมลินโซเดียม (Cromolyn sodium)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโครโมลินโซเดียม (Cromolyn sodium หรือ Cromolyn หรือ Cromoglicic acid หรือ Cromoglycate หรือ Cromoglicate) เป็นยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบ โดยออกฤทธิ์ยับยังมิให้ร่างกายหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ต่างๆออกมา รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดสูดพ่นเข้าทางจมูก/ยาพ่นจมูกเพื่อใช้ป้องกันอาการของโรคหืด รวมถึงยาประเภทรับประทานและยาหยอดตา

ยาโครโมลินโซเดียมสำหรับบำบัดอาการหอบหืดอาจต้องใช้ยา 2 - 3 สัปดาห์ติดต่อกันจึงจะเห็นผลของการรักษาอย่างชัดเจน ผู้ป่วยที่มีอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันไม่แนะนำให้ใช้ยาโครโมลินโซเดียมชนิดพ่นเพราะจะไม่ทำให้อาการดังกล่าวดีขึ้นในทันที

หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีความ ผิดปกติ โรคตับ โรคไต ควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาโครโมลินโซเดียมเสมอเพราะยานี้อาจทำให้อาการโรคดังกล่าวรุนแรงขึ้น

ขณะที่ใช้ยาโครโมลินโซเดียมอาจได้รับผลข้างเคียงบางประการที่สามารถเกิดขึ้นได้เช่น มีอาการง่วงนอน แพทย์จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือทำงานกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ตัวผู้ป่วยเองควรเรียนรู้วิธีการใช้ยาโครโมลินโซเดียมชนิดยาพ่นจมูกอย่างถูกต้องหลีกเลี่ยงการให้ยากระเด็นเข้าตา กรณีที่ยาเข้าตาต้องรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที

ยาโครโมลินโซเดียมไม่เหมาะที่จะใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปีลงมา หรือการจะใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะต้องมีความเห็นจากแพทย์เท่านั้น

ยาโครโมลินโซเดียมชนิดที่เป็นยารับประทานได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้รักษาอาการที่เรียกว่า Systemic mastocytosis (โรคพบยากที่เกิดจากมีเซลล์อักเสบที่เรียกว่า Mast cell สูงมากในร่างกาย ยังไม่ทราบสาเหตุเกิด พบได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ปวดท้อง ผื่นคัน อวัยวะหู-คอ-จมูกเกิดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ

การใช้ยาโครโมลินโซเดียมรักษาอาการโรคตามระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วอาการไม่ดีขึ้น ผู้ป่วยควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

ยาโครโมลินโซเดียมชนิดพ่นสามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นได้เช่นกันขณะที่ทำการพ่นยานี้ แพทย์จึงห้ามมิให้ใช้ยาชนิดอื่นผสมหรือพ่นตามในทันที ในผู้ป่วยบางรายที่มีการใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ในการรักษาอาการหอบหืดอยู่ก่อนแล้วก่อนการใช้ยาโครโมลินโซเดียมชนิดพ่น ไม่ควรหยุดการใช้ยาสเตียรอยด์ทันทีด้วยจะทำให้เกิดอาการถอนยา ต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับลดขนาดการใช้ยาสเตียรอยด์เสียก่อน

ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยและได้ประสิทธิผลในการรักษาผู้ป่วยควรใช้ยาโครโมลินโซเดียม ตามสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรลืมใช้ยานี้บ่อยครั้งจนเกินไปเพราะอาจจะส่งผลทำให้อาการป่วยแย่ลง

โครโมลินโซเดียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โครโมลินโซเดียม

ยาโครโมลินโซเดียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

ก. ยาชนิดยาพ่นจมูก: ใช้ป้องกันการเกิดอาการหอบหืดจากโรคหืด (Asthma-maintenance)

ข. ยาชนิดรับประทาน: ใช้เพื่อ

  • บำบัดรักษาอาการโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory bowel disease)
  • บำบัดอาการภาวะ/โรค Systemic mastocytosis

โครโมลินโซเดียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโครโมลินโซเดียมมีกลไกการออกฤทธิ์ โดยเป็นยาที่มีคุณสมบัติเป็น Mast cell stabilizer (ยาหยุดการอักเสบที่สาเหตุเกี่ยวข้องกับเซลล์อักเสบที่เรียกว่า Mast cell) ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารที่กระตุ้นอาการอักเสบต่างๆเช่น Histamine และ Leukotrienes จากกลไกนี้ส่งผลให้เกิดฤทธิ์เชิงป้องกันการอักเสบตามสรรพคุณ

โครโมลินโซเดียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโครโมลินโซเดียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาพ่นจมูกชนิดใช้เครื่องพ่นทั่วไป ขนาดความแรง 5.2 มิลลิกรัม/การพ่นยา 1 ครั้ง
  • ยาพ่นจมูกชนิดต้องใช้กับเครื่องพ่นยาจำเพาะ (Nebulizer) ขนาด 20 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
  • ยารับประทานขนาด 100 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร
  • ยาหยอดตาขนาดความเข้มข้น 4%

โครโมลินโซเดียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ขนาดการใช้ยาโครโมลินโซเดียมแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นกับอาการโรคและรูปแบบของยา ดังนั้นจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะในบางอาการโรคเช่น

ก. การบำบัดเชิงป้องกันอาการหอบหืดจากโรคหืด:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป: พ่นยาด้วยเครื่องพ่นยา (Nebulizer) ครั้งละ 20 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง หรือใช้ยานี้ชนิดพ่นจมูกตามคำสั่งแพทย์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ข. การบำบัดอาการโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และภาวะ Systemic Mastocytosis:

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี: รับประทานยาขนาด 200 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 - 3 สัปดาห์ให้เปลี่ยนขนาดรับประทานเป็น 400 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้ง
  • เด็กอายุ 2 - 12 ปี: รับประทานยาขนาด 100 มิลลิกรัมวันละ 4 ครั้งก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 - 3 สัปดาห์แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่มโดยคำนวณขนาดรับประทานไม่เกิน 40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ทางคลินิกยังไม่มีข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กกลุ่มนี้อย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กกลุ่มนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโครโมลินโซเดียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโครโมลินโซเดียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมพ่นยาหรือลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ลืมใช้ยาโครโมลินโซเดียมให้พ่นยาหรือรับประทานยาโครโมลินโซเดียมทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดการใช้ยาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิภาพของการรักษาควรพ่นยาหรือรับประทานยาโครโมลินโซเดียมให้ตรงเวลา

โครโมลินโซเดียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโครโมลินโซเดียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น รู้สึกระคายเคืองลำคอ มีอาการไอ เกิดภาวะหลอดลมหดเกร็ง ตัว/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง (Leukocytosis) และ เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil ในเลือดสูง (Eosinophilia)
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปวดแสบขณะถ่ายปัสสาวะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผิวหนังอักเสบหรือมีอาการของลมพิษ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจและชีพจรเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อและกล้ามเนื้ออ่อนแรง

มีข้อควรระวังการใช้โครโมลินโซเดียมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้โครโมลินโซเดียมเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด
  • หากมีอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆและ/หรือทำงานกับเครื่องจักร
  • เรียนรู้วิธีการใช้ยานี้อย่างถูกต้องโดยรับคำแนะนำจากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล
  • มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโครโมลินโซเดียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โครโมลินโซเดียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโครโมลินโซเดียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาโครโมลินโซเดียมร่วมกับยาอินซูลินชนิดสูดพ่น/ชนิดยาพ่นจมูก (Insulin inhalation, rapid acting) อาจส่งผลให้การดูดซึมยาอินซูลินลดน้อยลงและส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโครโมลินโซเดียมอย่างไร?

ควรเก็บยาโครโมลินโซเดียมทุกชนิดในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โครโมลินโซเดียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโครโมลินโซเดียมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Intal (อินทอล) Aventis Pharma
GASTROCROM (แก๊สโทรครอม) Jazz Pharmaceuticals

บรรณานุกรม

  1. http://www.everydayhealth.com/drugs/cromolyn [2016,Feb27]
  2. http://www.drugs.com/cdi/cromolyn-aerosol-solution.html [2016,Feb27]
  3. file:///C:/Users/apai/Downloads/20120926_8fe37a7a-edd6-4733-bb7e-e01c1906aeba.pdf [2016,Feb27]
  4. http://reference.medscape.com/drug/gastrocrom-cromolyn-sodium-343430#90 [2016,Feb27]
  5. http://www.drugs.com/pro/cromolyn-sodium-inhalation-solution.html [2016,Feb27]