แอสไพริน อย่ากินพร่ำเพรื่อ (ตอนที่ 5 และตอนจบ)

แอสไพรินอย่ากินพร่ำเพรื่อ-5

      

      โดยวิธีกินยา ให้กลืนยาทั้งเม็ดพร้อมน้ำเต็มแก้ว ห้ามเคี้ยวยา และห้ามเอนตัวนอนหลังการกินยาแอสไพรินอย่างน้อย 10 นาที

      ก่อนใช้ยาตัวนี้ควรปรึกษาแพทย์หากมีอาการปวดศีรษะที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ การไอ หรือการก้มตัว หรือปวดศีรษะตลอด อาเจียน เป็นไข้ และคอแข็ง (Stiff neck)

      นอกจากนี้จะไม่มีการให้แอสไพรินระหว่างที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง เพราะไม่ใช่โรคหลอดเลือดสมองทุกอย่างจะมีเหตุมาจากลิ่มเลือดอย่างเดียว และบางกรณีการใช้แอสไพรินก็อาจทำให้โรคหลอดเลือดสมองแย่ลงได้

      ไม่แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้ในหญิงมีครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์หรือทำให้มีปัญหาในการคลอด นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ยานี้ระหว่างการให้นมลูกด้วย เพราะยาอาจผ่านไปสู่ทารกได้ทางนมแม่ หากต้องใช้อาจให้แอสไพรินในปริมาณที่น้อย และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

      พึงระลึกว่ายาแก้ปวดจะออกฤทธิ์ได้ผลดีที่สุดในช่วงแรกที่เริ่มมีอาการ หากมีการปล่อยให้ปวดมากแล้ว ยาอาจทำงานได้ไม่ดี

      สำหรับผู้ที่เตรียมตัวทำการผ่าตัดก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงการใช้ยาแอสไพรินเป็นประจำ และอาจต้องหยุดยาอย่างน้อย 7 วัน ก่อนการผาตัด

      และไม่ควรใช้ยานี้แก้ปวดนานเกิน 10 วัน หรือแก้ไข้นานเกิน 3 วัน และหากมีเสียงหวีดดังในหูหรือไม่ค่อยได้ยิน ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

      กรณีต้องใช้ยานี้เป็นประจำหรือเป็นปริมาณมาก ควรทำการตรวจตับ ไต เลือด ระดับ Salicylate เพื่อระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยา

      สำหรับการใช้แอสไพรินเพื่อป้องกันภาวะหัวใจวาย (Heart attack) นั้น เกิดจากหลักการที่แอสไพรินจะไปช่วยขัดขวางการจับตัวกันของลิ่มเลือดที่ไปขวางทางเดินของเลือดไปสู่หัวใจ อย่างไรก็ดี กรณีนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา ซึ่งแพทย์มักจะอนุญาตให้กินยาแอสไพรินได้ทุกวันในกรณีดังต่อไปนี้

  • เคยมีภาวะหัวใจวายหรือภาวะเส้นเลือดในสมองอุดตัน (Stroke)
  • ไม่เคยมีภาวะหัวใจวายแต่มีการทำบายพาสหรือมีอาการเจ็บหน้าอกเนื่องจากหัวใจขาดเลือด (Angina)
  • ไม่เคยมีภาวะหัวใจวายแต่มีความเสี่ยงสูงในการเป็น
  • เป็นโรคเบาหวานและมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 อย่าง เช่น สูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เป็นชายอายุมากกว่า 50 ปี หรือเป็นหญิงอายุมากกว่า 60 ปี ส่วนการใช้แอสไพรินเพื่อป้องกันภาวะหัวใจวายในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานแต่ไม่มีปัจจัยความเสี่ยงนั้น ยังคงเป็นกรณีที่โต้แย้งกันอยู่

      ทั้งนี้ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินเพื่อการป้องกันภาวะหัวใจวายในคนที่ไม่เคยมีภาวะหัวใจวาย เส้นเลือดในสมองอุดตัน หรือโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่นๆ มาก่อน เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะมีข้อดีมากกว่าข้อเสียหรือไม่ ดังนั้นทางที่ดึจึงควรปรึกษาแทพย์ก่อนการใช้ยา

      กรณีที่มีการกินยาแอสไพรินเป็นประจำทุกวัน การหยุดยาทันทีอาจมีผลสะท้อนกลับที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจวาย และเสียชีวิตได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการเปลี่ยนแปลงใดๆ

      

แหล่งข้อมูล:

  1. Uses, benefits, and risks of aspirin. https://www.medicalnewstoday.com/articles/161255.php [2018, October 29].
  2. Aspirin Tablet. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-1082-3/aspirin-oral/aspirin-oral/details [2018, October 29].
  3. Daily aspirin therapy: Understand the benefits and risks. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-disease/in-depth/daily-aspirin-therapy/art-20046797 [2018, October 29].