แอสไพริน อย่ากินพร่ำเพรื่อ (ตอนที่ 1)

แอสไพรินอย่ากินพร่ำเพรื่อ-1

      

      เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัย 3 ฉบับรายงานในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) เปิดเผยถึงผลการวิจัยเกี่ยวกับยาแอสไพรินที่ใช้เวลาศึกษานานถึง 7 ปี ซึ่งอาจนำไปสู่การทบทวนถึงแนวทางปฏิบัติต่อการใช้ยาแอสไพรินทั่วโลก

      เนื่องจากพบว่าการกินยาแอสไพรินทุกวันจะไม่ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือหัวใจวายในคนที่มีสุขภาพแข็งแรง แต่จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกเลือดภายใน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือผู้สูงอายุ

      จากการวิจัยประชากรจำนวน 19,114 คนในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียที่มีอายุมากกว่า 70 ปี โดยให้ผู้เข้าร่วมการวิจัยเหล่านี้มีการกินยา 2 แบบ คือ ยาหลอกและยาแอสไพรินในปริมาณน้อยทุกวันเป็นเวลาเกือบ 5 ปี

      Prof. John McNeil จาก Monash University กล่าวว่า ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การกินแอสไพรินในปริมาณต่ำหรือเพียง 100 มิลลิกรัมทุกวัน ไม่ช่วยยืดอายุ รวมทั้งไม่ป้องกันอัมพาตหรือภาวะไร้ความสามารถ แต่กลับเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออกในช่องท้องและสมอง

      แม้จะเชื่อกันว่ายาแอสไพรินช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงมีอายุยืน และเคยมีผลวิจัยเผยว่ายาดังกล่าวป้องกันโรคมะเร็งได้บางชนิด แต่ก็มีการวิจัยในภายหลังที่ชี้ให้เห็นถึงอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้นเล็กน้อยในผู้ที่ใช้ยาแอสไพรินซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรคมะเร็ง โดยเรื่องนี้ยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมกันอีก

      Prof. Peter Rothwell จาก Oxford University กล่าวว่า แม้ว่ายาแอสไพรินจะมีประโยชน์ต่อผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่ใช้เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ แต่กลับไม่พบประโยชน์ในผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีอายุมากกว่า 70 ปี

      นอกจากนี้ Prof. Rothwell ยังกล่าวว่า ผู้ที่เคยมีภาวะหัวใจวายหรือโรคหลอดเลือดสมองก็ควรกินยาตามที่แพทย์แนะนำ ส่วนคนที่เคยกินยาแอสไพรินในปริมาณที่ต่ำมาเป็นเวลานาน ก็ไม่ควรหยุดทันทีเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน

      แอสไพริน (Aspirin) เป็นชื่อทางการค้า แต่ชื่อสามัญทั่วไปคือ Acetylsalicylic acid (ASA) เป็นยาที่ใช้มานานมากกว่า 100 ปี และยังคงเป็นยาที่นิยมกันทั่วโลก โดยมีการประเมินว่า ทั่วโลกมีการใช้แอสไพรินประมาณ 35,000 เมตริกตันต่อปี โดยใช้เป็นยาแก้ปวดลดไข้ ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory drug) และเป็นยาเจือจางเลือด (Blood thinner)

      แอสไพรินประกอบด้วยซาลิซิเลต (Salicylate) ซึ่งเป็นสารสกัดจากเปลือกต้นวิลโลว์ (Willow) ที่คนสมัยโบราณใช้เคี้ยวเพื่อลดอาการอักเสบและเป็นไข้ เป็นยาเอ็นเสด (Non-steroidal anti-inflammatory drug = NSAID) ตัวแรก ที่ถูกค้นพบ ซึ่งยาเอ็นเสดจะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • บรรเทาปวด (Analgesic) โดยไม่ต้องวางยาสลบหรือทำให้หมดความรู้สึก
  • ลดไข้ (Antipyretic)
  • ต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory)

      

แหล่งข้อมูล:

  1. 'Aspirin-a-day risky in old age' - major study. https://www.bbc.com/news/health-45511362 [2018, October 25].
  2. Daily low-dose aspirin found to have no effect on healthy life span in older people. https://www.nih.gov/news-events/news-releases/daily-low-dose-aspirin-found-have-no-effect-healthy-life-span-older-people [2018, October 25].
  3. Uses, benefits, and risks of aspirin. https://www.medicalnewstoday.com/articles/161255.php [2018, October 25].