แอสไพรินกินทุกวัน ลดอุดตันหลอดเลือดดำ (ตอนที่ 2)

เมื่อเกิดการอุดตันหลอดเลือด (Blood clot or Thrombus) ขึ้นครั้งแรก แพทย์มักจ่ายยาต้านการจับเป็นลิ่ม (Anticoagulant) อาทิ Warfarin (ซึ่งมีชื่อการค้าว่า Coumadin และ Jantoven) เป็นเวลาหลายเดือน และต้องมีการตรวจเลือดเพื่อทดสอบความผิดปรกติ แต่ถ้าผู้ป่วยยังคงกินยานี้ต่อไปอีก เพื่อป้องกันการอุดตันซ้ำ (Repeat) อาจเพิ่มความเสี่ยงของเลือดไหลไม่หยุด (Bleeding)

แต่ทีมนักวิจัยพบว่า ขั้นตอนต่อไปที่เหมาะสม หลังการรักษาในเบื้องต้นด้วยยาต้านการจับเป็นลิ่ม อาจเป็นการกินยาแอสไพรินทุกวัน เพื่อป้องกันหลอดเลือดอุดตันซ้ำ โดยที่ผู้ป่วยที่กินยาแอสไพริน จะมีความเสี่ยงลดลง 40% เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่กินยาหลอก (Placebo) แต่ทีมนักวิจัยก็เรียกร้องให้มีการศึกษาเพิ่มเติม ก่อนสรุปผลดังกล่าว

แอสไพริน (Aspirin) นิยมใช้เป็นยาบรรเทาปวด (Analgesic) ยาลดไข้ (Antipyretic) และ ลดการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ (Anti-inflammation) มีผลต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) แอสไพรินเป็นชื่อทางการค้า ซึ่งค้นพบโดย Felix Hoffmann นักเคมีชาวเยอรมันที่ทำงานอยู่กับบริษัทไบเออร์ (Bayer)

แอสไพริน เป็นสารเคมีที่สังเคราะห์ขึ้นโดยไม่เลียนแบบธรรมชาติเป็นตัวแรกของโลก และที่สำคัญสารเคมีตัวใหม่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าเดิมมาก Felix Hoffmann ได้ทดลองยาตัวนี้กับพ่อของเอง ซึ่งเป็นป่วยเป็นโรคข้ออักเสบ ปรากฏว่าได้ผลดี โดยไม่มีอาการข้างเคียงด้วย เขาจึงเสนอบริษัทไบเออร์ให้จดสิทธิบัตรและทำตลาดยาตัวนี้

แอสไพรินใช้ในการรักษาอาการต่างๆ อาทิ ไข้หวัด การเจ็บปวด (Pain) และโรคอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อนานาชนิด อาทิ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) และ โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) นอกจากนี้ยังในกรณีอื่นๆ เช่น ใช้ป้องกันภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attacks)

ปัจจุบัน แอสไพรินได้กลายเป็นหนึ่งในยาที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก ประมาณว่า ในแต่ละปีมีการบริโภคยาตัวนี้ประมาณ 40,000 ตัน การวิจัยพบว่า แอสไพรินมีผลยับยั้งการอุดตันจากเกล็ดเลือด (Platelet) ทำให้เกิดการยับยั้งการรวมกันของเกล็ดเลือด (Platelet aggregation) ซึ่งเป็นผลให้เลือดไม่แข็งตัว [เป็นลิ่ม]

การใช้ในปริมาณการต่ำๆ เป็นเวลายาวนาน สามารถป้องกันอาการหัวใจล้ม (Heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และหลอดเลือดอุดตัน ปริมาณการใช้แอสไพรินที่ให้ผลนี้คือขนาด 75 ถึง 81 มิลลกรัม ในรูปยาเม็ด แต่ในโรคหัวใจเฉียบพลัน (Acute) สามารถใช้แอสไพรินในปริมาณการสูงได้ด้วย

มีการวิจัยที่ค้นพบว่า การให้ผู้ป่วยกินยาแอสไพรินในขนาดที่ต่ำ ทันทีหลังหัวใจล้ม สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดซ้ำของหัวใจล้ม หรือการตายของเนื้อเยื่อหัวใจ (Cardiac tissue) ดังนั้น จึงมีผู้คนไม่น้อยที่กินยาแอสไพรินทุกวันเพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว หลักฐานใหม่จากการวิจัยพบว่า แอสไพรินอาจเป็นเครื่องมือทรงพลังในการป้องกันโรคมะเร็ง (Cancer) อีกด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. Aspirin May Reduce Risk of Repeat Blood Clots. http://www.webmd.com/news/20120523/aspirin-may-reduce-risk-of-repeat-blood-clots [2012, May 27].
  2. Aspirin. http://en.wikipedia.org/wiki/Aspirin [2012, May 27].