แอสเบสทอส แร่ใยหินอันตราย (ตอนที่ 4 และตอนจบ)

แอสเบสทอส แร่ใยหินอันตราย

อย่างไรก็ดี อาการดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่ามีสาเหตุมาจากแร่ใยหินเท่านั้น ดังนั้นแพทย์จึงต้องทำการวินิจฉัยโรคซึ่งอาจใช้เวลาพอสมควร โดยขั้นตอนการวินิจฉัยอาจเริ่มด้วยการตรวจประวัติสุขภาพ ว่าเคยมีประวัติการสัมผัสกับแอสเบสทอสมาก่อนหรือไม่ หลังจากนั้นอาจต้องตรวจด้วยวิธี

  • เอ็กซเรย์หน้าอกและช่องท้อง
  • ทดสอบการทำงานของปอด
  • ซีทีสแกน
  • เอ็มอาร์ไอ

หากแพทย์สงสัยว่าจะมีปัญหามะเร็ง อาจทำการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ (Biopsy) ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น

  • Thoracocentesis – เป็นการเจาะสารน้ำในช่องปอด แพทย์จะใช้เข็มยาวทิ่มเข้าไปเพื่อนำสารเหลวในหน้าอกออกมาทดสอบ
  • Bronchoscopy - แพทย์จะส่องกล้องโดยสอดท่อเล็กเบาผ่านทางจมูกหรือปากไปยังปอด เพื่อตรวจดูปอดและทางเดินหายใจ
  • Fine-needle aspiration (FNA) – เป็นการเจาะดูดเซลล์ แพทย์จะใช้เข็มบางเพื่อดูดเซลล์หรือสารเหลวจากปอดหรือต่อมน้ำเหลือง ทั้งนี้แพทย์อาจใช้ซีทีสแกนหรือวิธีอื่นในการนำทางเข็มไปยังก้อนเนื้อที่ปอดหรือต่อมน้ำเหลือง
  • Thoracoscopy - แพทย์อาจเจาะรูเล็กๆ ที่หน้าอกและหลังระหว่างซี่โครง 2 ซี่ แล้วส่องกล้องลงไปเพื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ
  • Peritoneoscopy – เป็นการส่องกล้องตรวจภายในช่องท้อง แพทย์จะเจาะรูเล็กๆ บริเวณช่องท้องแล้วส่องกล้องลงไปเพื่อตัดชิ้นเนื้อออกมาตรวจ

และเนื่องจากแอสเบสทอสก่อให้เกิดอันตรายเมื่ออยู่ในสภาพที่ผิดปกติ ดังนั้นจึงมีคำแนะนำเกี่ยวกับแอสเบสทอสสำหรับเจ้าของบ้านดังนั้

  • ควรดูข้างฉลากว่าวัสดุดังกล่าวมีส่วนประกอบของแอสเบสทอสหรือไม่
  • ปฏิบัติตามคำเตือนในการใช้งานและพยายามหลีกเลี่ยงการทำวัสดุที่มีแอสเบสทอสเสียหาย
  • ควรอยู่ให้ห่างจากบริเวณที่สงสัยว่าวัสดุที่เสียหายนั้นมีส่วนประกอบของแอสเบสทอส
  • ห้ามปัด กวาด หรือดูดฝุ่นซากปรักหักพังที่อาจมีวัสดุแอสเบสทอส
  • ควรซ่อมหรือรื้อถอนวัสดุแอสเบสทอสโดยช่างผู้ชำนาญ
  • ห้ามเลื่อย ขัด ขูด หรือเจาะรูในวัสดุที่มีแอสเบสทอส
  • ควรทำความสะอาดโดยใช้ผ้าเปียกเพื่อไม่ให้ฝุ่นคลุ้ง

แหล่งข้อมูล

  1. Asbestos Exposure. http://www.webmd.com/lung/asbestos-exposure [2014, December 28].
  2. Asbestos In The Home. http://www.cpsc.gov/en/Safety-Education/Safety-Guides/Home/Asbestos-In-The-Home/ [2014, December 28].